เงินที่ส่งไปให้คนในต่างประเทศจากออสเตรเลียลดฮวบหลังเกิดโควิด

MONEY

Source: AAP

จำนวนเงินที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียส่งไปช่วยเหลือครอบครัวและญาติพี่น้องในประเทศอื่นๆ นั้นได้ลดฮวบลงเกือบครึ่ง นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มขึ้น


จำนวนเงินที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียส่งไปช่วยเหลือครอบครัวและญาติพี่น้องในประเทศอื่นๆ นั้นได้ลดฮวบลงเกือบครึ่ง นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มขึ้น

เงินที่ส่งไปให้จากออสเตรเลียเปรียบเหมือนเชือกช่วยชีวิตสำหรับผู้คนที่กำลังประสบความยากลำบากทางการเงินในต่างประเทศ

กองทุนสตรีชาวเลบานีสแห่งออสเตรเลีย ได้จัดกิจกรรมงานเลี้ยงดื่มน้ำชาขึ้น เพื่อเรี่ยไรเงินส่งไปให้แก่ครอบครัวและญาติมิตรของพวกเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศเลบานอน

คุณริมา บาเลช ประธานกลุ่ม กล่าวว่า ผู้คนในเลบานอนกำลังประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

"เราพยายามช่วยพวกเขาจากที่นี่ เราพยายามช่วยเรื่องอาหาร ยา ค่าเช่าที่พัก พวกเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก พวกเขาเป็นคนของฉัน และนั่นก็เป็นประเทศของฉัน ดังนั้นฉันจะไม่มีวันทอดทิ้งพวกเขา" คุณบาเลช กล่าว
พวกเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก ฉันจะไม่มีวันทอดทิ้งพวกเขา
ริมา บาเลช
การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศเลบานอน ซึ่งรุนแรงยิ่งขึ้นจากความวุ่นวายทางการเมือง เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เลวร้ายที่สุดในโลก

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ขณะนี้ ร้อยละ 80 ของคนผู้คนที่นั่นอยู่ในภาวะยากจน

ด้วยเหตุนี้ เงินที่ถูกส่งกลับไป โดยเป็นเงินที่คนในต่างประเทศส่งกลับไปให้คนทางบ้านเพื่อช่วยเหลือ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเลบานอน

ในบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เลบานอนเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินจากต่างประเทศที่ถูกส่งกลับไปให้คนทางบ้าน (remittance) มากเป็นอันดับสอง

ร้อยละ 38 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มาจากเงินที่ถูกส่งไปให้จากต่างประเทศเหล่านั้น โดยเป็นรองก็แต่ประเทศตองกาเท่านั้น ซึ่งเงินเหล่านั้นคิดเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพี

ตามมาด้วย ซามัว (ร้อยละ 34) ทาจิกิสถาน (ร้อยละ 32) และคีร์กีซสถาน (ร้อยละ 32) ซึ่งประเทศเหล่านี้จัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก

คุณ ดิลิป ราทา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก อธิบายเรื่องนี้ว่า

"เราสังเกตเห็นปรากฏการณ์นี้ในประเทศยากจน ประเทศที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก พวกเขาเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งเงินจากต่างประเทศกลับไปให้คนทางบ้านเป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดแล้วนี่แสดงให้เห็นว่าการส่งเงินกลับไปให้จากต่างประเทศเป็นเหมือนเชือกช่วยชีวิตสำหรับพวกเขา" คุณราทา กล่าว
จริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์หลักของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานคือการส่งเงินกลับบ้าน
เอิร์ล เมลิโว ผู้บริหารของ WorldRemit
คุณ เอิร์ล เมลิโว เป็นกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ WorldRemit ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการโอนเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งเงินจากต่างประเทศไปให้ญาติพี่น้อง มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการย้ายถิ่นฐาน

"จริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์หลักของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานคือการส่งเงินกลับบ้าน นั่นเป็นเหตุผลหลักเลยว่าทำไมพวกเขาส่วนใหญ่จึงไปทำงานในต่างประเทศ ก็เพื่อจุนเจือครอบครัว" คุณเมลิโว กล่าว

ธนาคารโลกพบว่ามีการส่งเงินระหว่างประเทศไปให้ญาติพี่น้อง รวมเกือบ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลกในปีนี้

โดยเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่ (932,000 ล้าน) ถูกส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง แต่ไม่รวมจีน ซึ่งสำหรับประเทศเหล่านั้นนี่เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญจากภายนอกประเทศของพวกเขา โดยมากกว่าการลงทุนหรือมากกว่าความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

อินเดียติดอันดับ 1 ในปีนี้ โดยได้รับเงินที่โอนไปให้จากผู้คนในต่างประเทศ 150,000 ล้านดอลลาร์ นำหน้าเม็กซิโก (89,000 ล้านดอลลาร์) จีน (76,000 ล้านดอลลาร์) ฟิลิปปินส์ (57,000 ล้านดอลลาร์) และอียิปต์ (48,000 ล้านดอลลาร์)

โดยเงินเหล่านั้นถูกส่งไปให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งต่างๆ เช่น ค่ายา ค่าเช่าที่พัก ค่าเล่าเรียน ค่าน้ำค่าไฟ และอาหาร
ปี 2022 เป็นปีที่สภาวะทางการเงินทั่วโลกไร้เสถียรภาพ

แต่ คุณ ดิลิป ราทา กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและวิกฤตค่าครองชีพในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดขวางให้ผู้คนในต่างประเทศส่งเงินไปให้ครอบครัวของพวกเขาในประเทศบ้านเกิด

"แม้ผู้ย้ายถิ่นฐานจะกำลังเผชิญกับความยากลำบาก พวกเขามักจะส่งเงินกลับบ้าน หากจำเป็น ก็จะเสียสละโดยกินน้อยลง กินมื้อเว้นมื้อ แชร์ที่พักกับคนอื่น และแม้แต่ทำงานมากกว่าปกติ" คุณราทา กล่าว
พวกเขามักจะส่งเงินกลับบ้าน หากจำเป็น ก็จะเสียสละโดยกินน้อยลง กินมื้อเว้นมื้อ แม้แต่ทำงานมากกว่าปกติ
ดิลิป ราทา
คุณ จาเนกา กรอสส์ คุณแม่ลูกสองจากเมลเบิร์น ส่งเงินเดือนส่วนหนึ่งกลับไปให้ครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ แม้ว่าเธอเองจะต้องเผชิญกับความกดดันทางการเงินก็ตาม

"เราเฝ้าดูอัตราดอกเบี้ยที่มีแต่ขึ้นกับขึ้น เราต้องจับตาดูค่าใช้จ่ายรายวันของเราและรายจ่ายประจำที่เราต้องจ่าย มันไม่ง่ายเลย แต่การส่งเงินกลับไปให้คนทางบ้านเป็นเหมือนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เป็นสิ่งที่พวกเราโตมากับมัน ฉันส่งเป็นเงินกลับไปให้มากกว่าปกติตามจำนวนที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ เช่น ฉันช่วยค่าเล่าเรียนของน้องสาวและน้องชาย มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะส่งเงินไปให้จำนวนเท่าไร แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆ พอที่จะส่งไปมากเท่าไรมากกว่า" คุณกรอสส์ กล่าว
Janeca Gross sends part of her salary back to family in the Philippines (SBS) 2.jpg
คุณ จาเนกา กรอสส์ จากเมลเบิร์น ส่งเงินเดือนส่วนหนึ่งกลับไปให้ครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ Source: SBS / SBS
การส่งเงินกลับไปให้คนทางบ้านเป็นเหมือนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่พวกเราโตมากับมัน
จาเนกา กรอสส์
นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การส่งเงินไปให้คนทางบ้านจากต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15

แต่ในออสเตรเลียนั้น จากข้อมูลของ WorldRemit พบว่า มีส่งเงินกลับไปให้คนในต่างประเทศลดลง

ในปี 2019 มีการส่งเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์ไปให้คนในต่างประเทศ

แต่ปีที่แล้ว (2021) มีเพียง 6,000 ล้านดอลลาร์

ในจำนวนนั้นเกือบครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยัง 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม อังกฤษ และฟิลิปปินส์

คุณ เอิร์ล เมลิโว เป็นกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ WorldRemit กล่าวว่า สถานการณ์ในออสเตรเลียนั้นแตกต่างออกไปจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในแง่ของการส่งเงินไปให้คนในต่างประเทศที่ลดลง

"เราต้องพิจารณาถึงสถานการณ์การย้ายถิ่นฐานว่าเป็นอย่างไรสำหรับออสเตรเลียในช่วง 2.5 ปี หรือ 3 ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียเคยรับผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่หายไปในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด ดังนั้นเราจึงเห็นการส่งเงินไปให้คนในต่างประเทศลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่เราก็กำลังเห็นการส่งเงินไปให้ผู้คนในต่างประเทศดีดตัวกลับมาดีขึ้นเมื่อเรามีผู้ย้ายถิ่นฐานมากขึ้นไหลบ่าเข้ามาอีกครั้ง" คุณเมลิโว กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share