ผู้ย้ายถิ่นทุกวันนี้ได้ค่าจ้างน้อยกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน รายงานล่าสุดพบ

รายงานล่าสุดฉบับหนึ่งระบุว่า มีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของผู้ย้ายถิ่นฐานในตลาดงานของออสเตรเลีย

คุณเบอนัวต์ เลบลอนด์ ขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หลังสงสัยว่า ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างที่เขาได้รับนั้นไม่เหมาะสมตามกฎหมายและเงื่อนไขในวีซ่า

คุณเบอนัวต์ เลบลอนด์ ขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หลังสงสัยว่า ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างที่เขาได้รับนั้นไม่เหมาะสมตามกฎหมายและเงื่อนไขในวีซ่า Source: SBS News

แม้จะมีระดับการศึกษาและประสบการณ์ที่มากขึ้น แต่ผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งย้ายมายังออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ มีรายได้น้อยกว่าผู้ย้ายถิ่นฐานเมื่อ 10 ปีก่อน ระบุ

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า แม้วิกฤตโควิด-19 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย แต่มีความเข้าใจที่น้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในตลาดงาน

คุณเบอนัวต์ เลบลอนด์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของเขา และเขาได้มายังออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในปี 2014 ด้วยวีซ่าระยะสั้นสำหรับผู้มีสปอนเซอร์

จากนั้นเขาก็เปลี่ยนไปถือวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ ก่อนจะได้รับการเสนอวีซ่าแบบมีสปอนเซอร์ให้ทำงานในภาคธุรกิจการบริการ (hospitality) ในซิดนีย์

ขณะทำงานภาคธุรกิจการบริการ เขาเริ่มสงสัยว่าชั่วโมงทำงานที่เขาได้รับมอบหมายนั้น ตามกฎหมายแล้วไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขในวีซ่าและค่าแรงขั้นต่ำที่เขาควรได้รับ

“ผมติดอยู่กับงานนี้ ไปไหนไม่ได้ เพราะสถานการณ์ด้านวีซ่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงาน เราไม่ได้รับอนุญาตให้หางานที่มีเงินเดือนสูงกว่าหรือมีสภาพการทำงานที่ดีกว่า เพราะเงื่อนไขของวีซ่า ... มันกลายเป็นสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่นมาก" คุณเลบลอนด์ กล่าว

“ขณะถือวีซ่า เรามักต้องแบกภาระนั้นไว้บนบ่า ซึ่งเราไม่สามารถทำอะไรได้ในเรื่องนี้ เพราะถ้าหากทำไป เราก็อาจถูกส่งกลับบ้าน”

"มันอยู่ในหัวของเราทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์วีซ่าแบบนั้น"

ตอนนี้คุณเลบลอนด์ไม่ได้ทำงานให้กับบริษัทนั้นแล้ว และในที่สุดเขาก็ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสภาพการทำงานของเขา
เขากล่าวว่าประสบการณ์ที่เขาพบเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในหมู่ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน

“มันเกิดขึ้นกับทุกคนที่อยู่ที่นี่ด้วยวีซ่าระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ หรือวีซ่าทำงาน เมื่อกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองขอให้ลูกจ้างต้องไปทำงานในส่วนภูมิภาคเพื่อขยายระยะเวลาอยู่ต่อสำหรับวีซ่า เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย” คุณเลบลอนด์ กล่าว

“ผู้คนถูกเอารัดเอาเปรียบในฟาร์มหรือในธุรกิจการให้บริการต้อนรับ และนั่นเป็นการทุ่มตลาดทางสังคม (social dumping การขายสินค้าและบริการในราคาถูกเนื่องจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม) ตอนนั้นผมได้รับค่าจ้าง 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ในรัฐควีนส์แลนด์สำหรับการทำงาน 40 ชั่วโมง”

รายงาน 'ผู้ย้ายถิ่นฐานในตลาดแรงงานของออสเตรเลีย: คู่มือสำหรับผู้กำหนดนโยบาย' (Migrants in the Australian workforce: A guidebook for policy makers) ถูกเผยแพร่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว รายงานนี้ให้ข้อมูลแผนผังเกี่ยวกับ ประเภทวีซ่าต่างๆ ที่ผู้ย้ายถิ่นฐานถือ ทักษะการทำงานที่พวกเขามี สถานที่ที่พวกเขาทำงาน และรายได้ที่พวกเขาได้รับ

กลุ่มผู้เขียนรายงานกล่าวว่า คู่มือนี้พยายามที่จะเติมเต็ม 'ช่องว่างความรู้' เกี่ยวกับบทบาทของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานในตลาดงานของออสเตรเลีย "เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถปฏิรูประบบเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการย้ายถิ่นฐานไปสู่ชาวออสเตรเลีย"
1 ใน 3 ของลูกจ้างในออสเตรเลียเกิดในต่างประเทศ และ 1 ใน 5 ถือวีซ่าชั่วคราวหรือถาวร รายงานฉบับนี้ระบุ

รายงานกล่าวว่า โครงการย้ายถิ่นถาวรของออสเตรเลียได้เปลี่ยนไปเป็นโครงการที่มุ่งเน้นด้านทักษะอาชีพในระดับสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้รับวีซ่าถาวรหลังปี 2000 มีสัดส่วนร้อยละ 12 ของจำนวนแรงงานในออสเตรเลีย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะอาชีพ (Skilled migrants) นั้น มีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยกว่า มีทักษะสูงกว่า และมีรายได้สูงกว่าชาวออสเตรเลียทั่วไป” รายงานระบุ

"ผู้ย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีการศึกษาสูง ราวครึ่งหนึ่งของผู้ย้ายถิ่นฐานมีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าปริญญาตรีเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง และอีกมากได้รับวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในช่วงที่พวกเขาอยู่ในออสเตรเลีย"

อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าผู้ย้ายถิ่นฐานที่มาถึงออสเตรเลียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะมีชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงและมีรายได้น้อยกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่มาถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นเดินทางมายังออสเตรเลียเพื่อศึกษาต่อเป็นจำนวนมากกว่าเดิม

บริการที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพและบริการด้านสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่จ้างงานผู้ถือวีซ่าถาวรเป็นจำนวนมาก ทั้งวีซ่าถาวรสำหรับแรงงานทักษะและวีซ่าครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนกลุ่มนี้ได้รับค่าจ้างที่สูงในตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะอาชีพที่สูงกว่า

ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคส่วนการบริการ (hospitality) พึ่งพาผู้ย้ายถิ่นฐานที่ถือวีซ่าชั่วคราวมากกว่า โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติ เพื่อเติมเต็มตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะวิชาชีพต่ำกว่ามาก ด้วยค่าแรงที่ต่ำ รายงานดังกล่าว ระบุ
"การวิจัยที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานนี้มักกล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานมีผลกระทบเล็กน้อยต่อค่าจ้างของลูกจ้างชาวออสเตรเลียที่ทำงานในตำแหน่งงานเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามการไหลบ่าเข้ามาของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างเข้มข้นในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ก็สามารถกดดันค่าจ้างของลูกจ้างชาวออสเตรเลียที่มีทักษะคล้ายคลึงกัน ให้ได้รับค่าจ้างน้อยลงได้"

รายงานพบว่าผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่เริ่มต้นการทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลีย – ซึ่งมักทำไปเพราะเงื่อนไขของวีซ่านั้น – ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นนานนัก

“กว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เดินทางมาถึงออสเตรเลียไม่นานนี้ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกลในปี 2011 ได้ย้ายไปยังเมืองใหญ่ ๆ ภายในปี 2016 เมื่อเทียบกับราวร้อยละ 10 ของผู้ที่เกิดในออสเตรเลีย”

ผู้ย้ายถิ่นฐานที่ถือวีซ่าชั่วคราวคิดเป็นร้อยละ 7 ของลูกจ้างในตลาดแรงงานออสเตรเลีย

ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวบางคน รวมถึงผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ และนักเรียนต่างชาติจำนวนมาก มักทำงานในอาชีพที่ใช้ทักษะอาชีพต่ำกว่ามาก และได้ค่าจ้างต่ำ รายงานระบุ
“ผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะอาชีพ (Skilled migrants) นั้น มีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยกว่า มีทักษะสูงกว่า และมีรายได้สูงกว่าชาวออสเตรเลียทั่วไป ผู้ถือวีซ่าครอบครัวทำงานในอัตราที่ใกล้เคียงกับผู้ที่เกิดในออสเตรเลีย ในขณะที่ผู้ถือวีซ่าด้านมนุษยธรรมมีแนวโน้มอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่า”

คุณวิลล์ แม็กคีย์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันแกรตแทน กล่าวว่า รายได้ที่ลดลงสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เพิ่งเดินทางมาถึงไม่นานนี้ ส่วนหนึ่งอาจสามารถอธิบายได้ว่า มาจากนักเรียนต่างชาติจำนวนมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มากมายที่ไม่ได้ทำงานหรือทำงานพาร์ทไทม์เท่านั้น

“สำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่ถือวีซ่าแรงงานทักษะชั่วคราวนั้น คนกลุ่มนี้ไม่เห็นการเติบโตของค่าจ้างของพวกเขาในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา”

“นั่นเป็นปัญหาอย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้เห็นค่าจ้างเฉลี่ยของพวกเขาคงที่อย่างสิ้นเชิงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ประชากรออสเตรเลียที่เหลือเห็นค่าแรงของพวกเขาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 20 เปอร์เซ็นต์”

"รายละเอียดเหล่านี้มีความสำคัญต่อแนวทางที่เราดำเนินโครงการรับผู้ย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลีย"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 9 May 2022 12:13pm
Updated 9 May 2022 12:18pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends