ชเวตาสมัครขอพีอาร์มา 12 ปีแล้ว เธอรู้สึกหมดหวังมากขึ้นทุกที

ผลการสำรวจพบว่า ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนการปูทางให้ผู้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ที่นี่มาเกือบ 10 ปีได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย และบางคนอยู่ที่นี่มานานกว่านั้นโดยถือวีซ่าชั่วคราว

Shweta Bhandari and her husband, Sushant.

Shweta Bhandari and her husband, Sushant. Source: Shweta Bhandari/Supplied

มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานและคดเคี้ยวสำหรับคุณชเวตา บันดารี เพื่อให้ได้อยู่อาศัยถาวร (permanent residency หรือพีอาร์) ในออสเตรเลีย

หลังจากเดินทางมาถึงด้วยวีซ่านักเรียนจากอินเดียในปี 2009 ท้ายที่สุดเธอก็ได้สร้างชีวิตนี่ที่ในออสเตรเลียกับคู่รักของเธอ และพวกเขาก็มีลูกคนแรกในปี 2012

แต่ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาของการยื่นขอวีซ่าชั่วคราวโดยมีเป้าหมายเพื่อจะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อจิตใจของพวกเขา

“มีผลกระทบรุนแรงมาก อย่างแรกเลย มันทำให้ฉันหดหู่และเครียดมาก นับวันเรายิ่งรู้สึกหมดหวัง” คุณชเวตา วัย 44 ปี บอกกับเอสบีเอส นิวส์
มันทำให้ฉันหดหู่และเครียดมาก นับวันเรายิ่งรู้สึกหมดหวัง
ใบสมัครขอวีซ่าที่คั่งค้างในระบบทำให้เธอต้องรอ 8 เดือน กว่าจะได้รับการพิจารณาวีซ่าแรงงานทักษะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ซับคลาส 887 ซึ่งจะปูทางให้เธอสามารถเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

เรื่องนี้ส่งผลให้เธอต้องย้ายไปอาศัยและทำงานในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วออสเตรเลียในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งที่โฮบาร์ต และต่อมาก็คือจีลอง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของวีซ่า

“เราใช้เงินไปเยอะมาก เราอยู่ที่นี่มาหลายปีแล้ว และเราก็ได้ทำในส่วนที่จำเป็นต้องทำ ทั้งทำงานประเภทต่างๆ ที่หาได้ ทั้งเรียนและใช้ชีวิตในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งลำบากมาก เราปฏิบัติตามเกณฑ์ทั้งหมดของวีซ่า เราทำทุกอย่าง แต่ถึงกระนั้น เราก็ตกอยู่ในภาวะที่ต้องทนทุกข์”

คุณชเวตาจบการศึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และการบริหารธุรกิจ แต่เธอไม่สามารถหางานทำในสาขาเหล่านั้นได้เนื่องจากข้อกำหนดของวีซ่าชั่วคราวและการที่นายจ้างในสาขาเหล่านั้นมักอยากจ้างผู้ที่เป็นพลเมืองหรือผู้อยู่อาศัยถาวรมากกว่า

สามีของเธอก็ประสบกับสถานการณ์เดียวกัน แม้ว่าเขาจะจบปริญญาโทจากเมลเบิร์นในสาขาบัญชีและบริหารธุรกิจ

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเงินของพวกเขาเลวร้ายขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินสวัสดิการจากเซนเตอร์ลิงก์ (Centrelink) เพราะพวกเขาถือวีซ่าชั่วคราว และพวกเขายังไม่สามารถจะซื้อบ้านได้อีกด้วย
คุณ ชเวตา ทำงานในสถานดูแลเด็กเล็กและสามีของเธอทำงานสองงาน - กลางวันเป็นพ่อครัวในสถานดูแลผู้สูงอายุและเป็นคนขับรถส่งอาหาร UberEats ในตอนกลางคืน

เธอหวังว่านี่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการสมัครขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

“เราหวังจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ ฉันต้องการใช้ทักษะทางวิชาชีพทั้งหมดของฉัน และหากเราได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร ฉัก็จะสามารถได้งานที่ดีกว่านี้ในสาขาต่างๆ ที่ฉันมีคุณวุฒิทางวิชาชีพ สามีของฉันและฉันสามารถได้งานที่ดีกว่านี้ได้ และเราจะสามารถช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานในออสเตรเลียได้"

แม้จะประสบความยากลำบากเหล่านี้ แต่คุณชเวตากล่าวว่า ครอบครัวนี้ยังคงต้องการเติมเต็มความฝันที่จะอาศัยอยู่ในออสเตรเลียต่อไป

แต่เมื่อใคร่ครวญถึงเวลา 12 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เธอก็ไม่แน่ใจว่าเธอจะตัดสินใจเดินทางมาออสเตรเลียเหมือนที่เธอได้ทำ

“แต่เราไม่ต้องการจากไปในตอนนี้ เพราะเราได้ดิ้นรนกันมาในช่วง 10-12 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราตั้งใจที่จะกลับประเทศตั้งแต่แรก เราก็คงอยู่ในออสเตรเลียเพียงปีเดียวเท่านั้น”

“ฉันไม่เคยคิดเลยว่าโครงการวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรจะยากขนาดนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีการศึกษาและมีคุณวุฒิ พวกเขากำลังดิ้นรนอย่างหนักเพราะนโยบายด้านการย้ายถิ่นที่แย่ รัฐบาลกำลังทำให้มันยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน”
ฉันไม่เคยคิดเลยว่าโครงการวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรจะยากขนาดนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีการศึกษาและมีคุณวุฒิ
การสำรวจล่าสุดที่สำรวจชาวออสเตรเลีย 1,095 คนพบว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่อาศัยอยู่และทำงานในออสเตรเลียมานานหลายปี ได้เป็นผู้อยู่อาศัยถากรที่นี่

การสำรวจดังกล่าวที่ดำเนินการโดยศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนยังพบว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลีย ที่ได้อาศัยและทำงานที่นี่มานานหลายปี ควรได้รับความแน่นอน เพื่อให้พวกเขาจะสามารถวางแผนชีวิตอย่างที่พวกเขาต้องการได้

คุณเดวิด เบิร์ก ผู้อำนวยการด้านกฎหมายของศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียอย่างเร่งด่วน

“ในฐานะประเทศ เราหลงทางอย่างสิ้นเชิงเมื่อพูดถึงเรื่องการย้ายถิ่นฐาน เราได้เห็นวาทกรรมทางการเมืองที่เป็นพิษ ซึ่งถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย แต่ผมไม่คิดว่าสาธารณชนมีความเข้าใจในระดับเดียวกันว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายการย้ายถิ่นฐานของเราโดยรวม” คุณเดวิด เบิร์ก กล่าว

“เราต้องการระบบตรวจคนเข้าเมืองที่ปฏิบัติต่อผู้คนเสมือนเป็นคน และไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งแรงงานระยะสั้น และผมคิดว่าผลสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชุมชนออสเตรเลียเห็นด้วยกับเรื่องนี้”
มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราว 1.7 ล้านคนในออสเตรเลีย ตามข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย (Department of Home Affairs) ของออสเตรเลีย

งานวิจัยโครงการหนึ่งที่เผยแพร่โดยศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Centre) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนต้องรออย่างน้อย 5 ปีจึงจะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร ในขณะที่สำหรับบางคนต้องใช้เวลานานถึง 13 ปี

จากการร้องขอข้อมูลตามเสรีภาพด้านข้อมูล กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า กระทรวงได้อนุมัติใบสมัครวีซ่า 887 ไม่มากนักในระยะเวลา 5 เดือนจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 เมื่อเทียบกับช่วงปีการเงินสองปีที่ผ่านมา

มีการอนุมัติใบสมัครให้ผู้สมัคร 1,048 คนในช่วงห้าเดือนจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 เทียบกับ 6,721 คนในปี 2020-2021 และ 6,076 คนในปี 2019-2020

กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่าระยะเวลาดำเนินการสำหรับการยื่นขอวีซ่า 887 นั้นสั้นลงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ซึ่งในขณะนั้นเวลานานถึง 26 เดือน

ในคำแถลงถึงเอสบีเอส นิวส์ กระทรวงระบุว่า ระยะเวลารอคอยอย่างนานที่สุดลดลงเหลือ 22 เดือน

“กระทรวงฯ ได้พยายามดำเนินการพิจารณาใบสมัครขอวีซ่าซับคลาส 887 ให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงคำสั่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้มีทักษะ” กระทรวงระบุในคำแถลง


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 7 February 2022 11:57am
Updated 12 August 2022 2:54pm
By Biwa Kwan, Claire Slattery
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends