รายงานฉบับใหม่โดยศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Centre) เผยว่าผู้ถือวีซ่าชั่วคราวร้อยละ 65 มีเคยถูกนายจ้างขโมยค่าจ้าง (wage theft) และ 1 ใน 4 ต้องเผชิญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานในรูปแบบอื่นๆ
เผยให้เห็นความเชื่อมโยงที่แน่นแฟ้นระหว่างการถูกเอารัดเอาเปรียบที่ทำงานและสถานะวีซ่าชั่วคราว
รายงานดังกล่าวพบว่า ลูกจ้างที่เข้าร่วมการสำรวจ มีร้อยละ 91 ที่เคยถูกนายจ้างขโมยค่าจ้าง (wage theft) เดินทางเข้ามายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าที่ไม่มีหนทางสู่การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร
รายงานฉบับนี้พบว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 5 ปีกว่าจะได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวร โดยใช้เวลารอนานที่สุด 13 ปี
ระยะเวลารอคอยกว่าจะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรและช่องโหว่ในโครงการวีซ่า เช่น วีซ่าที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์ ส่งผลให้ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้านายและเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงเรื่องวีซ่า จากการค้นพบของรายงานฉบับนี้
ฮวน* ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน 700 คนที่ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์เพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบหนทางสู่การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร
เมื่อฮวนและภรรยาของเขาเดินทางมายังออสเตรเลียในปี 2008 ครอบครัวของเขาที่ประเทศบ้านเกิดได้กู้เงินเพื่อช่วยให้เขาและภรรยาการเดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลีย
เขาใช้วิธียืดเวลาการอาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยการต่อวีซ่านักเรียนหลายต่อหลายครั้ง และได้งานทำหลังเรียนจบได้ประกาศนียบัตร 2 ใบ ประกาศนียบัตรระดับอนุปริญญา 2 ใบ และประกาศนียบัตรขั้นสูง 2 ใบในด้านการทำอาหารและการบริหารธุรกิจ
ฮวนจ่ายเงินให้กับตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าหลายพันดอลลาร์เพื่อให้สมัครงานให้ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการยื่นขอวีซ่า
ระหว่างที่ฮวนกำลังรอการอนุมัติวีซ่า นายจ้างขอให้เขาจ่ายเงินให้ 35,000 ดอลลาร์เพื่อแลกกับการเป็นสปอนเซอร์วีซ่า
ฮวนไม่รับข้อเสนอดังกล่าว และในขณะที่เขาถือบริดจิงวีซ่าอยู่ เขาก็พบนายจ้างอีกคนหนึ่งที่เสนอจะสปอนเซอร์วีซ่าให้เขาไปทำงานเป็นเชฟที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
แต่นายจ้างคนใหม่ไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ฮวน และบอกให้เขารอจนกว่าเขาจะได้รับอนุมัติวีซ่าก่อน แต่เมื่อได้รับวีซ่า เจ้านายของฮวนกลับไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ได้สัญญาไว้และเลิกจ้างฮวน ส่งผลให้วีซ่าของเขาถูกยกเลิก
ฮวนได้รับความช่วยเหลือจากทนายความมืออาชีพที่ให้บริการฟรีผ่านศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Centre) และในที่สุดศาลก็มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระทั้งหมดให้ฮวน
แต่หนึ่งปีผ่านไปฮวนยังคงรอให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งศาล
รายงานฉบับนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของโทนี* ช่างเชื่อมที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการสปอนเซอร์วีซ่าชั่วคราวสำหรับแรงงานทักษะในสาขาที่ขาดแคลน
แม้ว่าเขาจะทำงานหนัก แต่ดูเหมือนว่านายจ้างของเขาไม่เคยพอใจ และมอบหมายงานให้เขามากขึ้น ทำให้เขามีเวลาน้อยมากในการรับประทานอาหารกลางวันหรือแม้แต่พักห้องน้ำ รายงานดังกล่าวระบุ
โทนีมักรู้สึกว่าเขาคนเดียวทำงานเหมือนลูกจ้างสองคน และแทบไม่มีเวลาดูแลลูกทารกแรกเกิดของเขาเลย เพราะโดยเฉลี่ยเขาทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงกะช่วงสุดสัปดาห์ด้วย
อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ยินเพื่อนร่วมงานชาวออสเตรเลียพูดถึงอัตราค่าล่วงเวลา (overtime) และค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับการทำงานนอกเวลาปกติ (penalty rates) และพากันสงสัยว่านายจ้างมีเงินจ่ายสำหรับการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์และการทำงานล่วงเวลาให้แก่โทนีและคนงานคนอื่นๆ ที่ถือวีซ่าชั่วคราวได้อย่างไร
ตอนนั้นเองที่โทนีตระหนักว่านายจ้างได้จ่ายเงินให้เขาและเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานต่ำกว่าที่พวกเขาพึงได้รับ
คุณแมตต์ คันเคิล ผู้บริหารของศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Centre) กล่าวว่าโครงการย้ายถิ่นฐานของออสเตรเลียได้ "ก่อให้เกิดประชากรซึ่งเป็นลูกจ้างที่ตกอยู่ในความหมิ่นเหม่" โดยปัญหาจากระดับโครงสร้างของโครงการ
“การเสริมสร้างทางเส้นทางสู่การเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรจะเป็นประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจแก่คนงานทุกคนในออสเตรเลีย” คุณคันเคิล กล่าว
เขาระบุอีกว่า ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวมักอาศัยอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลาหลายปีหรือบางครั้งก็เป็นเวลาหลายสิบปี โดยหวังว่าจะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียในอนาคต
“คนงานที่ถือวีซ่าชั่วคราวประสบกับการถูกเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน เพราะระบบได้สร้างอุปสรรคในการรายงานการกระทำผิดในอุตสาหกรรม” คุณคันเคิล กล่าว
“วีซ่าหมดอายุก่อนที่กระบวนการศาลที่ยืดเยื้อจะเสร็จสิ้น หรือไม่ก็การตกงานส่งผลกระทบต่อแผนการตั้งถิ่นฐานที่กินเวลามาหลายปีแล้ว”
“เราจำเป็นต้องมีการยกเครื่องใหม่สำหรับระบบวีซ่า เพื่อให้ชีวิตของคนงานไม่ต้องอยู่ในกำมือของนายจ้างเพียงคนเดียว และลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นในระยะยาวทุกคนมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวร”
*ได้มีการเปลี่ยนชื่อเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
การสำรวจชี้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวมักถูกเอาเปรียบ