แบงก์ชาติออสฯ ขึ้นดอกเบี้ยรอบ 8 ธนาคารใหญ่ปรับเรตกระทบคนกู้บ้าน

ธนาคารใหญ่ในออสฯ 4 แห่ง ประกาศส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานใหม่จากแบงก์ชาติอย่างเต็มที่ก่อนคริสต์มาสปีนี้

People walking past a Westpac sign

Westpac is among the big banks that have announced the will pass on the latest rate rise in full. Source: AAP / Kelly Barnes

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นครั้งที่ 8 อีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานปัจจุบันอยู่ที่ 3.1%
  • การปรับขึ้นในครั้งนี้นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2012 ที่ผ่านมา ด้านนักเศรษฐศาสตร์คาดอาจปรับขึ้นอีกรอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2023
  • รัฐมนตรีคลังชี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติหลายครั้ง “กำลังทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างรุนแรงและหนักหน่วง” ต่อครัวเรือนในออสเตรเลีย
ผู้กู้เงินซื้อบ้านกำลังจะต้องพบกับภาระในการจ่ายค่างวด หลังธนาคารใหญ่ของออสเตรเลีย 4 แห่งประกาศว่า จะส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ของธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) อย่างเต็มที่

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีกร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 3.1 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ในรอบหลายเดือน ซึ่งเริ่มต้น ในความพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นของธนาคารสำรอง ฯ

ธนาคารคอมมอนเวลธ์ (CBA) ธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงค์ (NAB) และธนาคารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ANZ) ประกาศเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.) ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้ ขณะที่ธนาคารเวสท์แพคระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางธนาคารจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.นี้

แต่ในขณะที่ธนาคารเวสแพค และธนาคารคอมมอนเวลธ์ กล่าวว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับบัญชีเงินฝาก แต่ธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงค์ (NAB) และธนาคารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (ANZ) ยังไม่มีการประกาศการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้

การชำระค่างวดของผู้ถือสินเชื่อบ้านจะเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่

อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไม่เคยเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 3 นับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2013 หรือเกินกว่าร้อยละ 3.1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในเวลานั้นอยู่ที่ร้อยละ 3.25

การตัดสินใจของธนาคารสำรอง ฯ และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ตามมานั้น จะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ถือสินเชื่อบ้านเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะถึงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แรงกดดันค่าครองชีพกำลังบีบคั้นกับเงินในกระเป๋าอยู่แล้ว

ข้อมูลจากเว็บไซต์เปรียบเทียบทางการเงินแคนสตาร์ (Canstar) ระบุว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานร้อยละ 0.25 จะทำให้ผู้ถือสินเชื่อบ้านต้องจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้น
  • 79 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับวงเงินกู้ 500,000 ดอลลาร์ ระยะเวลา 30 ปี
  • 160 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับวงเงินกู้ 1 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 30 ปี
ส่วนการคำนวณจากเว็บไซต์เรทซิตี้ (RateCity) แสดงให้เห็นว่า จำนวนค่างวดที่ต้องชำระสำหรับวงเงินกู้เฉลี่ย 750,000 ดอลลาร์ที่เหลือระยะเวลาสินเชื่อ 25 ปี เพิ่มขึ้น 1,251 ดอลลาร์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
A man wearing a suit and tie who is speaking.
ฟิลลิป โลว์ ผู้ว่าแบงก์ชาติออสฯ ชี้ "ปัจจัยในระดับโลก" อยู่เบื้องหลังอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งออสเตรเลียกำลังเผชิญ Source: AAP / Diego Fedele
“อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียนั้นสูงเกินไปที่ 6.9% ในรอบปีนี้จนถึงเดือนตุลาคม” ฟิลลิป โลว์ (Philip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียกล่าว

“ปัจจัยในระดับโลกอธิบายถึงอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงนี้ได้มาก แต่อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแรง ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถในการตอบสนองอุปสงค์เหล่านั้นก็มีบทบาทเช่นกัน การทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องมีสมดุลที่ยั่งยืนมากขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทาน”

2 ใน 4 ธนาคารรายใหญ่ในออสเตรเลีย ได้แก่ ธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZ) และธนาคารเวสท์แพค (Westpac) ได้คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอาจเพิ่มสูงถึงร้อยละ 3.85 ภายในเดือนพฤษภาคมปี 2023

การวิเคราะห์ของเว็บไซต์แคนสตาร์ได้ชี้อีกว่า การเพิ่มขึ้นโดยรวมของค่างวดสินเชื่อบ้านจากเดือนพฤษภาคมปีนี้ จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2023 สำหรับวงเงินกู้ 500,000 ดอลลาร์ ระยะเวลา 30 ปี อาจเพิ่มขึ้นถึง 1,133 ดอลลาร์ต่อเดือน

ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ รับรู้ว่านโยบายทางการเงินนั้นดำเนินไปด้วยความหน่วง และผลกระทบจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างเต็มที่ยังคงรู้สึกไม่ได้ในการชำระค่างวดสินเชื่อบ้าน

การวิเคราะห์ของแคนสตาร์ในส่วนของข้อมูลเงินออมในครัวเรือนจากหน่วยงานกำกับดูแลความมั่นคงออสเตรเลีย (Australian Prudential Regulation Authority's household savings data) และสถิติบัตรเครดิตจากธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA credit card statistics) แสดงให้เห็นว่า
  • อัตราการออมในครัวเรือน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ในรอบปีนี้
  • และดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ก่อให้เกิดหนี้สิน ลดลงไปเกือบร้อยละ 5 ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
“ชาวออสเตรเลียไม่ได้เตรียมรับมือวิกฤตมากนัก เนื่องจากการใช้จ่ายภาคค้าปลีกยังไม่มีการชะลอตัวครั้งใหญ่ แต่แน่นอนว่าพวกเขามองว่าจะออมเงินไว้เป็นกันชน” สตีฟ มิคเคนเบ็คเกอร์ (Steve Mickenbecker) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากแคนสตาร์กล่าว

RBA คาดอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นไปอีก

คุณโลว์ ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในอนาคตจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ก็ได้กล่าวเสริมว่า บอร์ดธนาคารสำรอง ฯ “ไม่ได้อยู่ในทิศทางที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า”

คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของธนาคารสำรอง ฯ ระบุว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ประมาณร้อยละ 8 ในรอบปีนี้จนถึงไตรมาสเดือนธันวาคม ก่อนที่จะเริ่มลดลงในปีหน้า คาดการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า ธนาคารสำรอง ฯ ต้องการให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาที่เป้าหมายในระยะร้อยละ 2-3 เมื่อเวลาผ่านไป
นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า แม้จะไม่มีการประชุมบอร์ดธนาคารสำรอง ฯ ในเดือนมกราคม แต่ก็คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์

คุณโลว์เสริมว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียนั้น “ยังคงเติบโตอย่างแข็งแรงต่อเนื่อง แต่การเติบโตในลักษณะนั้นคาดว่าจะชะลอตัวในช่วงปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว”

‘ผลที่ตามมาอย่างรุนแรงและหนักหน่วง’ ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

จิม ชาลเมอส์ รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายครั้ง “ทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างรุนแรงและหนักหน่วงต่องบประมาณในครัวเรือนและผู้ถือสินเชื่อบ้านเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว” และได้เสริมว่า ผลกระทบอย่างเต็มที่จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายครั้งก็ยังคงกำลังจะรู้สึกได้

“แถลงการณ์ของธนาคารสำรอง ฯ ในวันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขายังได้คาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะชะลอตัวลงในระยะเวลาข้างหน้า แต่ระยะเวลาและขอบเขตของการชะลอตัวนี้ยังไม่มีความแน่นอน” รัฐมนตรีชาลเมอส์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในนครซิดนีย์

แต่ในแง่บวกนั้น รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียได้เน้นย้ำถึงอัตราการว่างงานในระดับต่ำ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับสูงในออสเตรเลีย แต่ก็ได้กล่าวว่า สงครามในยูเครนยังคงส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของออสเตรเลียลดลงไปเหลือร้อยละ 3.4 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1974 ขณะที่ตัวเลขต่าง ๆ ในด้านการเติบโตของประเทศนั้น จะมีการเผยแพร่ออกมาในวันที่ 7 ธ.ค.นี้

แองกัส เทเลอร์ (Angus Tayloy) โฆษกด้านการคลังจากฝ่ายค้าน กล่าวบุว่ารัฐบาลกำลังผิดพลาดในการต่อสู้กับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ต้นตอ

“ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของพวกเขาในการแก้ปัญหาแรงกดดันด้านราคาพลังงาน หรือความล้มเหลวในการควบคุมภาคการใช้จ่าย การเพิกเฉยของรัฐบาลชุดนี้กำลังเพิ่มแรงกดดันให้กับเงินในกระเป๋าของหลายครอบครัวในออสเตรเลียที่ทำงานอย่างหนัก” คุณเทเลอร์ โฆษกด้านการคลังจากฝ่ายค้านกล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมจาก AAP

Share
Published 7 December 2022 2:47pm
Updated 7 December 2022 4:32pm
By Caroline Riches
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends