ประเด็นสำคัญ
- ผู้มีภูมิหลังหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาประสบปัญหาในการหางานทำในออสเตรเลีย
- กำแพงภาษา ขาดประสบการณ์ทำงานในออสเตรเลีย ปัญหาและคุณวุฒิไม่ได้รับการยอมรับในออสเตรเลีย คืออุปสรรคสำคัญในการหางานของผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย
- กำลังมีการทบทวนการทำงานของบริการจัดหางานที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ขณะที่ผู้ให้บริการหางานมองว่าควรปรับปรุงการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
เมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขคนว่างงานในออสเตรเลียได้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่ว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนภาพของภาวะว่างงานในทุกกลุ่มประชากร
จากข้อมูลของ ร้อยละ 23.5 ของประชากรว่างงานในออสเตรเลียนั้นมาจากพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
กำแพงด้านภาษา การขาดประสบการณ์ทำงานในออสเตรเลีย เครือข่ายสังคมที่จำกัด และปัญหาทักษะและคุณวุฒิไม่ได้รับการยอมรับในออสเตรเลีย ยังคงเป็นความท้าทายในการหางานสำหรับผู้มองหางานเหล่านี้
แม้ภาวะเงินเฟ้อในออสเตรเลียจะยังเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราคนว่างงานกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติ ฯ ในวันนี้ (18 ส.ค.) แสดงให้เห็นอัตราคนว่างงานปัจจุบันซึ่งระหว่างร้อยละ 3-4 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974
ทาเนีย อับดุล มูติ (Tania Abdul Muti) และครอบครัวของเธอ คือหนึ่งในผู้ที่กำลังดิ้นรนอยู่ในตลาดงาน ทั้งหมดเดินทางมาถึงออสเตรเลียในปี 2016 เพื่อหาความปลอดภัยและความมั่นคง
ทาเนีย ชาวปาเลสไตน์ เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยในเลบานอน ต่อมาได้ใช้เวลาอยู่ในอินโดนีเซีย 3 ปีในฐานะผู้ขอลี้ภัย ก่อนที่จะเดินทางมาถึงออสเตรเลียด้วยวีซ่าด้านมนุษยธรรม
แต่เมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลียแล้ว เธอต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการหางาน
“ฉันมีลูก 2 คนตอนมาถึงออสเตรเลีย และมันไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราอยู่ที่อินโดนีเซีย เราไม่ได้ทำงาน มันเหมือนกับว่าชีวิตเราหยุดกับที่ไป 3 ปี” เธอกล่าว
“มันไม่ง่าย คุณต้องมีข้อมูลมาหนุนในเรซูเม่ ไปลงเรียนคอร์สต่าง ๆ ต้องมีประสบการณ์ในท้องถิ่น เพื่อที่นายจ้างจะวางใจว่าคุณเหมาะสม มันค่อนข้างยากในตอนแรกเพื่อที่จะได้รับโอกาส”
ทาเนียไม่ใช่คนเดียวที่ต้องพบกับความยากลำบากในลักษณะนี้
รายงานเกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถิ่นในกำลังคนทำงานของออสเตรเลีย () ซึ่งจัดทำโดยสถาบันแกรทแทน (The Grattan Institute) ได้วิเคราะห์บทบาทของผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีต่อตลาดแรงงานของออสเตรเลีย พบว่าคนทำงานในออสเตรเลียประมาณ 1 ใน 3 เกิดในต่างประเทศ ขณะที่ผู้อพยพที่เพิ่งเดินทางมาถึงใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่เดินทางมาถึงภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของแรงงานในออสเตรเลีย
รายงานดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้ถือวีซ่าครอบครัวทำงานในอัตราเดียวกับคนทำงานที่เกิดในออสเตรเลีย ขณะที่ผู้ถือวีซ่ามนุษยธรรมนั้นมีแนวโน้มที่แย่ลง
แม้การมีลูกหลังเดินทางมาถึงออสเตรเลียจะเป็นสิ่งที่ทาเนียบอกว่าทำให้การหางานของเธอช้าลง แต่ปัจจัยสำคัญก็คือกำแพงเรื่องภาษา และการพยายามหาประสบการณ์ทำงานในท้องถิ่น
ทาเนีย อับดุล มูติ มาออสเตรเลียพร้อมกลับครอบครัวในปี 2021 ด้วยวีซ่ามนุษยธรรม หลังใช้เวลาขอลี้ภัยอยู่ในอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 ปี Source: Supplied / Tania Abdul Muti
“ฉันกำลังเรียนคอร์สต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อม ฉันลงเรียนหลายคอร์สมาก และไปรับการฝึกอบรมคุณวุฒิหลายที่เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงาน” เธอกล่าว
“มันยากมากที่จะได้รับการยอมรับจากนายจ้าง มันไม่ง่ายเลย ... ไม่มีใครอยากเสี่ยงรับคนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม หรือมีวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้าทำงาน มันไม่ง่ายที่พวกเขาที่จะเชื่อใจ”
“ฉันได้ไปที่บริการจัดหางาน และฉันก็บอกว่าฉันมีประสบการณ์ ฉันรู้วิธีการทำงาน ขอเพียงให้โอกาสฉันได้เข้าใจประเทศนี้ มันเครียดมากสำหรับฉัน”
มีการสนับสนุนอะไรให้ผู้มาถึงออสเตรเลียใหม่บ้าง
เวิร์คฟอร์ซ ออสเตรเลีย (Workforce Australia) บริการด้านการจ้างงานซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชุดก่อน ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้คนในการก้าวเข้ามา หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่การจ้างงานที่มั่นคง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีความต้องการ
ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้ให้บริการจะมอบบริการต่าง ๆ ที่ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงล่ามแปลภาษา โครงการเรียนภาษาอังกฤษ การเชื่อมต่อไปยังที่ปรึกษาและบริการด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการสนับสนุน และการฝึกอบรมก่อนเข้ารับการจ้างงาน (pre-employment training)
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โทนี เบิร์ก (Tony Burke) รัฐมนตรีด้านการจ้างงานและสถานประกอบการสัมพันธ์ ได้ประกาศทบทวน การดำเนินงานของบริการดังกล่าว หลังได้รับข้อร้องเรียนในเรื่องการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ปัญหาในการเข้าถึงบริการทางออนไลน์ และปัญหาการมองข้ามผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
ด้านโฆษกหน่วยงานการจ้างงานและสถานประกอบการสัมพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการประเมินว่ามีผู้ที่ได้รับการจ้างงานผ่านบริการของ Workforce Australia เป็นจำนวนเท่าใด
“คณะกรรมาธิการที่ได้รับการคัดเลือกในกรณีของ เวิร์คฟอร์ซ ออสเตรเลีย จะสอบสวนและรายงานในเรื่องต่าง ๆ เช่น ขอบเขตการให้บริการในลักษณะที่เคารพต่อความต้องการที่หลากหลายของแต่ละบุคคล รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และให้คำแนะนำ สำหรับการปฏิรูปในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อปรับปรุงบริการด้านการจ้างงาน” โฆษกหน่วยงานการจ้างงานและสถานประกอบการสัมพันธ์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
โครงการดังกล่าวยังรวมถึงระบบใบอนุญาตด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา (CALD) และผู้ขอลี้ภัยสำหรับผู้ให้บริการด้านการจัดหางานเฉพาะทาง ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ไขความท้าทายและอุปสรรคที่ผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ขอลี้ภัยต้องเผชิญในการหางาน
ผู้หางานจากหลากวัฒนธรรมและภาษา ‘กำลังพลาดโอกาส’
Settlement Services International (SSI) Australia องค์กรชุมชนที่ให้การสนับสนุนผู้เดินทางมาถึงออสเตรเลียใหม่ ระบุว่า เวิร์คฟอร์ซ ออสเตรเลีย ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ผู้ให้บริการในพื้นที่ซึ่งลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการหางานมีภูมิหลังหลากวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงเป็นผู้ขอลี้ภัย
สตีฟ โอนีล (Steve O’Neil) ผู้จัดการทั่วไปด้านการให้บริการของ SSI Australia กล่าวว่า พื้นที่ซึ่งมีความต้องการมากที่สุดนั้นกำลังพลาดโอกาสจากนโยบายในปัจจุบัน
“พื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์ ซึ่งมีผู้คนจากหลากวัฒนธรรมและภาษา และมีจำนวนประชากรผู้ลี้ภัยมากที่สุดจุดหนึ่ง คือศูนย์กลางของการตั้งรกรากด้านมนุษยธรรมในออสเตรเลีย ไม่ได้รับทั้งใบอนุญาตสำหรับการบริการหลากวัฒนธรรมและภาษา หรือบริการสำหรับผู้ลี้ภัย ในขณะที่พื้นที่อื่นทั่วออสเตรเลียที่มีจำนวนเคสของผู้คนเหล่านี้ลดลงไปมากกลับได้รับใบอนุญาต” คุณโอนีลกล่าว
“ส่วนอื่น ๆ ของเอกสารเสนอราคาที่ได้มีการหยิบยกก็คือ พวกเขามุ่งออกใบอนุญาตระหว่าง 4-9 ใบให้กับพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครซิดนีย์ แต่อันที่จริงแล้วพวกเขาออกใบอนุญาตให้แค่ 4 ใบเท่านั้น และใบอนุญาต 4 ใบนั้นก็ได้ให้กับผู้ให้บริการโดยทั่วไป”
ทั้งนี้ SSI Australia เป็นหนึ่งในผู้ขอใบอนุญาตภายใต้ระบบเสนอราคา แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว
นายโอนีล กล่าวว่า สิ่งที่เขากังวลนั้นไม่ใช่เรื่องไม่ได้รับใบอนุญาต ทว่าเป็นเรื่องของระบบในวงกว้าง ขณะที่โฆษกหน่วยงานการจ้างงานและสถานประกอบการสัมพันธ์ กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า การจัดสรรใบอนุญาตมีอิทธิพลจากปัจจัยที่หลากหลาย
เรื่องที่น่าสนใจ
รัฐบาลออสฯ แจงแผนสะสางใบสมัครวีซ่าตกค้าง เล็ง ‘แรงงานมีทักษะ’
“มีเขตการจ้างงาน () จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงเขตต่าง ๆ ที่อยู่ภายในซิดนีย์ กำลังมีการแข่งขันกันในระดับสูง” โฆษกฯ ระบุ
"สิ่งนี้ พร้อมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น คำขอของผู้ตอบแบบสอบสามสำหรับบางส่วนธุรกิจ หรือโดยเฉพาะบางสถานที่ตั้ง มีผลต่อการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อออกใบอนุญาต”
โฆษกระบุว่า ผู้ให้บริการทั่วไปที่ได้รับเลือกให้ทำงานในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถขององค์กรในการทำเช่นนี้ได้สำเร็จ
อุปสรรคในการจ้างงาน
จากข้อมูลของ SSI Australia ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่เหมือนใครเมื่อพยายามหางานทำ
คุณโอนีล กล่าวว่า ควรมีแนวทางที่คล่องตัวกว่านี้เพื่อยอมรับคุณวุฒิจากต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยได้ฝึกฝนในด้านวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
หลังจากทาเนีย อับดุล มูติ มาถึงออสเตรเลีย เธอต้องใช้เวลา 5 ปีในการหางาน Source: Supplied / Tania Abdul Muti
“เราควรที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายจ้างและอุตสาหกรรม เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคุณวุฒิจากต่างประเทศ วิธีการที่เราอาจทำงานร่วมกับวิชาชีพและอุตสาหกรรมได้ ... เพื่อสร้างกระบวนการที่แตกต่างสำหรับผู้คนที่ต้องดำเนินไป และที่แน่นอนก็คือทำให้ราคานั้นถูกลง”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
‘ขนลุก’: นักเรียนจีนไม่รู้ว่าห้องเช่าที่ไปดูเป็นห้องที่สองสาวซาอุฯ ตาย