ชาวออสเตรเลีย 1 ใน 4 จะใช้เทคโนโลยีข่มเหงผู้อื่น รายงานล่าสุดพบ

ชายคนหนึ่งกล่าวว่า เขาโทรหาอดีตคนรัก "ราว 150 ครั้ง" ในช่วงเวลาราว 2 ชั่วโมง "เพราะเขาต้องการคำตอบจากเธอ" รายงานเกี่ยวกับข่มเหงผู้อื่นผ่านเทคโนโลยีเผย

A close-up image of a person holding and using a mobile phone.

New research has shown the nature and prevalence of technology-facilitated abuse in Australia. Source: Getty / Klaus Vedfelt

เนื้อหาที่สำคัญในบทความ
  • ชาวออสเตรเลีย 1 ใน 4 จะใช้เทคโนโลยีข่มเหงผู้อื่นในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต จากผลวิจัยใหม่ของ ANROWS
  • การข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์และความรุนแรงในครอบครัว
บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ

ชาวออสเตรเลีย 1 ใน 4 จะใช้เทคโนโลยีเพื่อข่มเหงผู้อื่นในช่วงชีวิตของพวกเขา จากการศึกษาวิจัยโครงการใหม่ ซึ่งพบว่าความต้องการควบคุมหรือรักษาความสามารถในการควบคุมบุคคลอื่นเป็นแรงจูงใจหลัก

รายงานดังกล่าวจากองค์กรวิจัยแห่งชาติของออสเตรเลียเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง (ANROWS) ยังพบว่า 1 ใน 2 ของชาวออสเตรเลียจะตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงผ่านเทคโนโลยี โดย 1 ใน 3 ของเหตุการณ์เหล่านี้ล่าสุดที่เกิดกับพวกเขาเกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับคนรักในปัจจุบันหรือในอดีต

คุณแพดมา รามัน ผู้บริหารของ ANROWS กล่าวว่างานวิจัยนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เป็น "อีกรูปแบบหนึ่ง" ของการข่มเหง และในบางกรณีการข่มเหงเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์และความรุนแรงในครอบครัว

“สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเทคโนโลยีเป็นเพียงอีกวิธีการหนึ่งในการข่มเหง และเรายังไม่เข้าใจถ่องแท้นักถึงขอบเขตและลักษณะของการใช้เทคโนโลยีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการควบคุม” คุณแพดมา รามัน บอกกับเอสบีเอสนิวส์

"ฉันคิดว่านี่เป็นการเติมเต็มช่องว่างความรู้ที่สำคัญโดยเฉพาะเกี่ยวกับรูปแบบการข่มเหง ดูที่การกระทำความผิดนั้นและการกระทำนั้นถูกแสดงออกมาในรูปแบบใด"
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ANROWS ตีพิมพ์รายงานการศึกษาวิจัยใหม่สองฉบับ หลังเสร็จสิ้นการศึกษาวิจัยทั่วประเทศที่สำรวจขอบเขตและลักษณะของการข่มเหงผ่านเทคโนโลยี รวมถึงมาตรการโต้ตอบต่อการข่มเหงผ่านเทคโนโลยีในออสเตรเลีย

โครงการศึกษาวิจัยนี้นำโดย ดร.แอเชอร์ ฟลินน์ จากมหาวิทยาลัยโมนาช และ ดร.อะนาสตาเซีย พาเวลล์ จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ซึ่งได้การสำรวจชาวออสเตรเลีย 4,586 คนที่มีอายุมากกว่า 18 ในช่วงสองปี (2020 ถึง 2022) พร้อมกับการสัมภาษณ์บุคคล 30 คน ที่มีทั้งเหยื่อและผู้รอดพ้นจากการข่มเหง และผู้กระทำความผิดของการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก

อะไรคือการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก?

การข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (technology-facilitated abuse) เป็นปัญหาทางสังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยมีงานวิจัยที่ชี้ว่าผู้กระทำความผิดมักใช้การข่มเหงในรูปแบบนี้ เพื่อคุกคาม เฝ้าติดตาม สะกดรอยตาม และทำร้ายเหยื่อทั้งทางอารมณ์และจิตใจ รายงานฉบับหนึ่งกล่าว

โดยอ้างถึงการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกว่าเป็น "การใช้เทคโนโลยีมือถือและดิจิทัลในการทำร้ายบุคคลอื่นออนไลน์ เช่น การคุกคามทางเพศ การสะกดรอยตาม หรือการข่มเหงด้วยภาพ"

"การศึกษาวิจัยของออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ให้บริการช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอันตรายในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรในชุมชนออสเตรเลีย" รายงานระบุ
ฉันคิดว่าไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามันแพร่หลายแค่ไหน
คุณแพดมา รามัน ผู้บริหารของ ANROWS

การวิจัยนี้พบว่า 1 ใน 2 ของชาวออสเตรเลียที่ตอบแบบสำรวจเคยประสบพฤติกรรมการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิตของพวกเขา

แม้ว่ามันอาจเกิดขึ้นได้ในหลายบริบท แต่เหยื่อราว 1 ใน 3 รายงานว่าเหตุการณ์ล่าสุดที่พวกเขาประสบเกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับคนรักในปัจจุบันหรือในอดีต

รายงานยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะประสบกับการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก ที่กระทำโดยผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญในประสบการณ์ล่าสุดของพวกเขา

และผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมีประสบการณ์ถูกข่มเหงผ่านเทคโนโลยีจากคู่ครองหรืออดีตคู่ครอง

'มันไม่มีพรมแดน'

รายงานตระหนักว่าเพศสภาพเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งของการข่มเหงเท่านั้น คุณรามัน กล่าวว่า ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวมีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกข่มเหงในรูปแบบนี้

“สิ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีคือมันหมายความว่า ผู้ข่มเหงไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศเดียวกับเหยื่อ มันไม่มีพรมแดน” คุณรามัน กล่าว

'150 สายใน 2 ชั่วโมง'

การวิจัยพบว่า 1 ใน 4 ของชาวออสเตรเลียเปิดเผยว่า ตนเองเคยข่มเหงผู้อื่นโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิตของพวกเขา

การข่มเหงเหล่านี้ที่พบบ่อยที่สุดคือการเฝ้าติดตามและควบคุมพฤติกรรมผู้อื่น (ร้อยละ 33.7) การข่มเหงทางอารมณ์และการข่มขู่ (ร้อยละ 30.6) และพฤติกรรมการคุมคาม (ร้อยละ 26.7)

ประมาณร้อยละ 24.6 ของผู้ตอบแบบสำรวจรายงานว่าเคยประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มเหงด้วยภาพ แม้ว่ารายงานจะตระหนักว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับประเภทการข่มเหงเหล่านี้ โดยขึ้นอยู่กับเพศสภาพ

ตัวอย่างของการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เช่น การส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมหรือข้อความข่มขู่ การแอบติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ประสงค์ร้ายบนโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ และการติดต่อซ้ำๆ หรือติดต่อไปโดยที่ผู้ถูกติดต่อไม่ต้องการ

ผู้เข้าร่วมการวิจัยนี้รายหนึ่งเปิดเผยว่า เขาโทรศัพท์หาอดีตคนรัก 150 ครั้งในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

ผมต้องการคำตอบจากเธอ ผมก็เลยโทรหาเธอ 150 ครั้ง ในระยะเวลาสองชั่วโมงมั้ง และเธอไม่รับสาย แต่ผมก็โทรต่อไป
ผู้เข้าร่วมการวิจัย
การวิจัยพบว่าการข่มเหงประเภทนี้มักเกิดขึ้นผ่านหลายช่องทางและหลายแพลตฟอร์ม

เหยื่อรายหนึ่งรายงานว่าอดีตคนรักของเธอจะส่งข้อความและโทรหาเธอถึง 50 ครั้งต่อวัน เมื่อเธอจะบล็อกหมายเลขของเขา เขาจะติดต่อเธอบนแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของที่ทำงาน

ในสื่อทุกรูปแบบที่ฉันบล็อกเขา เขาก็จะหาวิธีอื่นในการติดต่อฉันหรือสร้างบัญชีใหม่เพื่อติดต่อฉัน บางครั้งเขาก็บอกว่าฉันเป็นคนที่แย่มาก ฉันทำลายชีวิตเขา แต่บางทีก็จะบอกว่า 'คุณคือเนื้อคู่ของผม ผมรักคุณ คุณคือคนเดียวที่ผมรัก เราคุยกันได้ไหม ได้โปรดเถอะ ...'
ผู้เข้าร่วมการวิจัย
ผู้กระทำความผิดมักมีพฤติกรรมการเฝ้าติดตามและควบคุม โดยเฉพาะเฝ้าติดตามดูปฏิสัมพันธ์ออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีของคนรักในปัจจุบันหรือในอดีต

เหยื่อมักรายงานว่าถูกแฮ็กบัญชีโซเชียลมีเดีย รวมทั้ง การถูกติดตามดูผ่านกล้องวงจรปิด อุปกรณ์ติดตามตัวบุคคล หรืออุปกรณ์แอบถ่ายภาพและแอบฟังการสนทนา

ในบางกรณีสิ่งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทั้งคู่ยังอยู่ด้วยกัน ในกรณีอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เริ่มขึ้นเมื่อความสัมพันธ์จบสิ้นลงหรือหลังจากที่พวกเขาเลิกรากันไป

'ผมต้องการที่จะสามารถควบคุมชีวิตของเธอต่อไป'

ผลการวิจัยพบว่าความสามารถที่จะควบคุและ/หรือการรักษาอำนาจที่จะควบคุมเหยื่อไว้ได้ต่อไป เป็นเหตุจูงใจหลักที่อยู่เบื้องหลังรูปแบบการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเหล่านี้

ผู้เข้าร่วมการวิจัยรายหนึ่งกล่าวว่า "มันเป็นแค่ความรู้สึกว่าสามารถควบคุมได้ รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไร อยู่กับใคร"

ในความสัมพันธ์กับคนรัก ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ระบุว่ารู้สึกโกรธและไม่พอใจ โดยอ้างถึงการสูญเสียความสามารถในการควบคุมเมื่อสิ้นสุดความสัมพันธ์และสูญเสียการมีปฏิสัมพันธ์ประจำวันกับเหยื่อ
ผมต้องการที่จะสามารถควบคุมชีวิตของเธอต่อไป และควบคุมบุคคลนั้นได้ และผมรู้สึกว่า หากผมสามารถเฝ้าติดตามสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดได้ ผมก็จะสามารถควบคุมเธอได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ผู้เข้าร่วมการวิจัย
การศึกษาวิจัยโครงการนี้พบว่าผู้กระทำความผิดบางคน "จำกัด" พฤติกรรมของตน โดยเกือบ 1 ใน 3 กล่าวว่าพวกเขาคิดว่าเหยื่อคงจะ "โอเคกับมัน" 1 ใน 6 พบว่าเป็นเรื่อง "ตลกๆ" และ 1 ใน 10 เชื่อว่าเหยื่อจะรู้สึก "ปลาบปลื้ม"

“ฉันคิดว่านั่นบอกเราบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องทัศนคติ และบางทีเมื่อมันทำผ่านเทคโนโลยี ก็มีความรู้สึกที่ว่าผลร้ายจะถูกจำกัดให้น้อยลง” คุณรามัน กล่าว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เธอกล่าวว่า อันตรายที่เหยื่อได้รับนั้นอาจเกิดขึ้นยาวนาน ซับซ้อน และเป็นวงกว้าง

เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจเรื่องการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสำดวก

คุณรามัน กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจแรงจูงใจและพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด เพื่อที่จะตรวจจับและป้องกันการข่มเหงในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการบังคับควบคุม (coercive control)

คำนี้ใช้เพื่ออธิบายรูปแบบการข่มเหงอย่างเจตนาภายในความสัมพันธ์กับคนรัก โดยอาจรวมถึงการบงการทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ตลอดจนการข่มเหงทางสังคม การเงิน และข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่รายงานว่าประสบกับการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกนั้น หลายคนรายงานว่าผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ล่าสุดที่พวกเขาประสบนั้น มีพฤติกรรมข่มเหงพวกเขาในรูปแบบอื่นด้วยอย่างน้อยหนึ่งรูปแบบ

ตามรายงานของกรรมาธิการด้านความปลอดภัยออนไลน์ของออสเตรเลีย พฤติกรรมหลายอย่างที่ถูกจัดว่าเป็นการข่มเหงโดยใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกถือเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายของออสเตรเลีย และสามารถแจ้งตำรวจได้ก่อนที่จะขึ้นศาล

กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงพฤติกรรมต่างๆ เช่น การสะกดรอยตาม การส่งอีเมลและข้อความที่ข่มขู่ การใช้แอปติดตามตัวบุคคลและใช้สปายแวร์ (spyware) การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ และการแชร์ภาพโป๊เปลือยหรือวิดีโอโดยไม่ได้รับความยินยอม

แต่นักวิจัยกล่าวว่าตำรวจ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการพื้นฐานอื่นๆ เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการก๊าซหรือไฟฟ้า มีแนวทางที่ไม่คงเส้นคงวาในการจัดการกับการข่มเหงต่างๆ เหล่านั้น

คุณรามันกล่าวว่า ผู้ให้ความช่วยเหลือด่านหน้าแก่เหยื่อต้องสามารถเข้าใจและตรวจพบรูปแบบการข่มเหงประเภทนี้ เพื่อจะได้สามารถให้ความช่วยเหลือได้

“เราจำเป็นต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าของเรามีความรู้ว่า การข่มเหงในรูปแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบพฤติกรรมกรรมการข่มเหงในวงกว้าง และให้พวกเขาพร้อมที่จะให้วิธีการแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่อาจต้องการ เมื่อพวกเธอกำลังหลบหนีหรือประสบกับความรุนแรงในครอบครัว" คุณรามัน กล่าว

หากคุณหรือคนรู้จักได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ให้โทรศัพท์ไปปรึกษาได้ที่ 1800RESPECT ที่ 1800 737 732 หรือไปที่ 1800RESPECT.org.au

ในกรณีฉุกเฉิน โทร 000

Men's Referral Service เป็นบริการให้คำแนะนำแก่ผู้ชายด้านความรุนแรงในครอบครัว และสามารถติดต่อได้ที่ 1300 766 491

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 15 August 2022 4:33pm
By Emma Brancatisano
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends