รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ซินเธีย ฮุน (Cynthia Huynh) หญิงชาวซิดนีย์คนหนึ่ง บอกว่า เธอพบเจอความรุนแรงครั้งแรก ตั้งแต่เข้าเรียนโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
“ฉันใช้เวลาในวัยเด็กท่ามกลางความรุนแรง” นางฮุนกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“ความรุนแรง การถูกคุกคาม ธรรมชาติรอบตัวที่ถูกควบคุม ความกลัว มันเริ่มเลวร้ายลงในช่วงปีสุดท้ายของโรงเรียนประถม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่ายไปยังโรงเรียนมัธยม” นางฮุนกล่าว
เมื่อเธออายุ 15 ปี เธอย้ายโรงเรียนมัธยม 4 ครั้ง และต้องอาศัยอยู่ในศูนย์ลี้ภัยสตรี 3 แห่ง ซึ่งกว่าเธอจะหลุดพ้น ก็ต้องใช้เวลาจนกระทั่งเธอมีอายุ 20 ปี
ซินเธียไม่ใช่เพียงคนเดียวที่พบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ รายงานที่มีการเผยแพร่โดยสถาบันสุขภาพและสวัสดิการออสเตรเลีย (Australian Institute of Health and Welfare) พบว่า ผู้หญิง 1 ใน 6 และผู้ชาย 1 ใน 9 พบเจอกับความรุนแรงทางร่างกาย และความรุนแรงทางเพศก่อนอายุ 15 ปี
รายงานดังกล่าวครอบคลุมถึงความรุนแรงในครอบครัว ในครัวเรือน รวมถึงความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ โดยมุ่งเป้าไปที่เด็ก สตรี และกลุ่มที่มีความเสี่ยงอื่นๆ โดยข้อมูลทั้งหมดมาจากชุดข้อมูลจำนวน 20 ชุด ซึ่งรวมถึงการทำแบบสำรวจ และสถิติจากตำรวจ
นางหลุยส์ ยอร์ก โฆษกสถาบันฯ ระบุว่า การคนพบดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวล
“ผู้หญิงออสเตรเลีย 1 ใน 6 ซึ่งก็คือราว 2.5 ล้านคนที่เผชิญกับความรุนแรงในวัยเด็กก่อนอายุ 15 ปี คือความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ โดยผู้ก่อนเหตุรุนแรงมักจะเป็นคนในครอบครัว และคนอื่นๆ ที่รู้จัก” นางยอร์กระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า ผู้ใหญ่ราว 2.2 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางเพศโดยคู่ครองตั้งแต่อายุ 15 ปีเป็นต้นมา มีผู้หญิง 1 ใน 2 และผู้ชาย 1 ใน 4 ถูกคุกคามทางเพศ ส่วนผู้หญิงจำนวน 1 ใน 6 และผู้ชาย 1 ใน 16 นั้น ถูกแอบสะกดรอยติดตาม
นางยอร์กกล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัว ในครัวเรือน และความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางร่างกาย ทางเพศ ทางอารมณ์ และความพยายามที่จะควบคุมพฤติกรรมโดยอีกบุคคลหนึ่ง มันส่งผลกระทบกับผู้คนในทุกกลุ่มอายุและภูมิหลัง และสามารถเกิดขึ้นยาวนานไปชั่วชีวิต และนำไปสู่สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ และสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมในอนาคต
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่า ประมาณร้อยละ 2.5 ของผู้หญิงทุพลภาพ ประสบพบเจอกับความรุนแรงจากคู่ครองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีความทุพลภาพ ที่มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่พบเจอความรุนแรงในลักษณะเดียวกัน
ส่วนผู้หญิงชนพื้นถิ่นของออสเตรเลียนั้น กลับพบว่า มีความเป็นไปได้ถึง 32 เท่า ที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเทียบกับผู็ที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น ในปี 2016-17
ในด้านสถิติจากตำรวจ เมื่อปี 2017 มีบันทึกกรณีความรุนแรงทางเพศของเหยื่อกว่า 25,000 ราย
นางยอร์กกล่าวว่า แม้อัตราความรุนแรงจะทรงตัวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือนว่าคนจำนวนมากเริ่มหาความช่วยเหลือจากบริการโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกิ่ยวของกับความรุนแรงในครอบครัว หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ทั้งสมาชิกในครอบครัวและคู่ครอง และมีผู้คนจำนวนมากที่รายงานเหตุคุกคามทางเพศกับตำรวจ
“ดังนั้น ไม่ว่าความรุนแรงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือผู้คนตื่นตัว และพร้อมที่จะรายงานเหตุความรุนแรงมากขึ้น มันยังไม่ชัดเจนว่าสิ่งใดจากทั้งสองอย่างนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ” นางยอร์กกล่าว
แพทย์หญิงฮีเธอร์ แนนแคโรว (Dr Heather Nancarrow) ประธานกรรมการบริหารขององค์กรวิจัยเพื่อความปลอดภัยสตรีแห่งชาติออสเตรเลีย (Australia’s National Research Organisation for Woman’s Safety) กล่าวว่า ทัศนะคติของผู้คนจะต้องเปลี่ยนแปลง
“มีระดับความรุนแรงอันไม่เป็นที่ยอมรับในชุมชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ในครัวเรือน หรือความรุนแรงทางเพศก็ตาม เรารู้ว่าทัศนะคติมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม และเพื่อที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเลขเหตุการณ์ที่มีการรายงาน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนะคติชาวออสเตรเลียในบางส่วนที่มีต่อความรุนแรงในผู้หญิง” แพทย์หญิงแนนแคโรวกล่าว
ด้าน นางเรทานา ฟีล์ด โฆษกหญิงจากหน่วยงานด้านความรุนแรงในครัวเรือนรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Domestic Violence NSW) ส่งเสียงตอบรับกับข้อกังวลดังกล่าว
“โชคไม่ดีที่สถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้คนพบเจอมากขึ้นไม่ได้ทำให้เราแปลกใจนัก มันเป็นปัญหาวงกว้างที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา ซึ่งเราควรที่จะต้องยืนหยัดและทำอะไรบางอย่าง มันไม่มีการสนับสนุนที่เพียงพอ มันไม่มีบริการช่วยเหลือที่เพียงพอ และก็ไม่มีเงินทุนสำหรับการสนับสนุนที่ผู้คนต้องการ” นางฟีล์ด์กล่าว
สำหรับซินเธีย ความรุนแรงที่เธอพบเจอจะยังคงอยู่กับเธอไปตลอด
“ฉันไม่คิดว่ามันจะมีสักวันที่สิ่งที่ฉันพบเจอจะไม่มีผลอะไรกับฉัน และฉันไม่คิดว่าฉันจะบอกให้ใครรู้แม้ว่ามันจะไม่มีผลอะไรกับฉันก็ตาม” เธอกล่าว
แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็จูงใจให้คนที่ประสบพบเจอความรุนแรงทำอะไรสักอย่าง
“มันไม่มีอะไรน่าอับอายในการที่คุณจะติดต่อกับเพื่อนเกี่ยวกับสิ่งที่เจอ ฉันรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่พูดยาก แต่มันมีความช่วยเหลือรออยู่ที่ไหนสักแห่ง”
หากคุณ คือใครสักคนที่คุณรู้จักประสบกับความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวหรือในครัวเรือน ติดต่อ 1800RESPECT ที่หมายเลข 1800 737 732 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ หากมีเหตุฉุกเฉิน โปรดติดต่อหมายเลข 000
สำหรับท่านผู้อ่านที่กำลังมองหาความช่วยเหลือสามารถติดต่อ Lifeline ที่หมายเลขโทรศัพท์ 13 11 14 บริการ Suicide Callback Service หมายเลขโทรศัพท์ 1300 659 467 และ Kids Helpline หมายเลขโทรศัพท์ 1800 55 1800 (สำหรับเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 5-25 ปี) นอกจากนี้ ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ที่เว็บไซต์ของ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ผู้หญิงยังคงตกเป็นเหยื่อความรุนแรง