เมื่อเรานึกถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว คนส่วนใหญ่จะคิดถึงการทำร้ายร่างกาย แต่คุณไมเคิล ไรลีย์ เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาอาวุโสของ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย (Relationships Australia) บอกกับ เดอะ ฟีด (The Feed) ว่า ความรุนแรงในครอบครัวนั้นครอบคลุมพฤติกรรมการข่มเหงที่หลากหลาย และการที่สามารถชี้ได้แต่เนิ่นๆ ว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมของ ‘การใช้อำนาจควบคุมคนในครอบครัว’ ก็อาจช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้มากมาย
“อาจเป็นการที่ผู้ชายไม่ยอมให้ภรรยาของเขาออกไปข้างนอกกับเพื่อนของเธอในคืนวันศุกร์ หรือการเฝ้าดูและจำกัดการซื้อของของภรรยาที่ซื้อให้ครอบครัวของเธอ ผู้ชายจำเป็นต้องถามตนเองว่า ‘เหตุใดผมจึงจำเป็นต้องพยายามควบคุมความสัมพันธ์ มีอะไรผิดปกติกับผม และผมจะสามารถปล่อยวาง ไม่เข้าไปควบคุมได้อย่างไร?’”
และเป็นฝ่ายผู้ชายที่จำเป็นต้องถามคำถามที่ยากจะตอบนี้กับตนเอง คุณไรลีย์ กล่าว “ขณะที่มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว แต่จากสถิติชี้ว่านี่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของผู้ชาย”
เจอร์รี เป็นชายผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการบำบัดกลุ่มกับ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย และนี่คือสิ่งที่เขาบอกกับเดอะ ฟีด เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขา:
“มันน่าสนใจมากทีเดียวที่เห็นผู้ชายหน้าใหม่ๆ เข้ามา (ในกลุ่มบำบัด) และบอกทำนองว่า ‘นี่ ผมต่อยหน้าเธอที่ไหนกัน ผมแค่ใช้ฝ่ามือตบเธอเท่านั้นเอง’ หรือบอกทีก็บอกว่า ‘ผมไม่ได้ปาแก้วใส่เธอ ผมแค่ปาใส่ผนังห้องข้างๆ เธอแค่นั้น มันไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรงอะไร เป็นแค่ผมระบายความอัดอั้นใจเท่านั้นแหละ’ นั่นเป็นรูปแบบของการพูดกลบกลื่นที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้ชาย พวกเราใช้สิ่งที่พวกเราต้องการฟังบอกกับตัวเอง เพื่อจะได้ทนยอมรับพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวเองได้”
สำหรับคุณผู้ชายเมื่อคุณอ่านรายการตรวจประเมิน หรือเชกลิตส์ ข้างล่างนี้ ขอให้คุณถามตัวเองว่า ‘คุณเคยมีพฤติกรรมแบบนั้นไหมสักครั้งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น และแสดงพฤติกรรมนี้กับใคร?’
สำหรับคุณผู้หญิง ต้องถามตัวเองดูว่าคู่ครองของคุณเคยมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเหล่านี้บ้างหรือไม่
เชกลิสต์ตรวจประเมินพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัว
- ตบตี/คว้าหรือกระชากตัวเข้ามา/ต่อย
- ขว้างปาสิ่งของให้แตก/ปาสิ่งของใส่
- ต่อยผนัง/ทุบโต๊ะ
- ใช้สายตา สีหน้า การกระทำ และท่าทาง เพื่อทำให้เธอรู้สึกเกรงกลัว
- ทำลายสิ่งของของเธอ
- ทำร้ายสัตว์เลี้ยง
- เอาอาวุธมาแสดงให้เห็น
- พยายามทำให้เธอรู้สึกผิดที่ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับคุณ
- มีเพศสัมพันธ์กับเธอขณะที่เธอนอนหลับ หรือหมดสติจากการเมาสุรา
- ขู่เข็ญให้เธอมีเพศสัมพันธ์กับคุณ
- ขู่ที่จะฆ่าตัวตาย
- พยายามทำให้เธอถอนการแจ้งความกับตำรวจ
- พยายามทำให้เธอถอนการดำเนินคดีกับคุณ
- พูดจาให้เธอรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง หรือหมดกำลังใจ
- จับตาดูการใช้โทรศัพท์มือถือของเธอ
- ตำหนิเกี่ยวกับรูปร่างหรือร่างกายของเธอ
- ทำให้เธอคิดว่าตัวเธอเองเสียสติ
- กำหนดเงินใช้จ่ายให้เธอใช้
- ทำให้เธอรู้สึกผิด
- ควบคุมว่าใครที่เธอสามารถพบได้บ้าง
- ควบคุมสิ่งที่เธออ่าน
- ควบคุมว่าเธอสามารถไปไหนได้บ้าง
- ไม่ยอมให้เธอมีใบขับขี่ หรือไม่ยอมให้เธอมีรถใช้
- ใช้การหึงหวงเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมคุณจึงมีพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น
- มองว่าพฤติกรรมการข่มเหงของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มองว่าความวิตกของเธอไม่ใช่เรื่องสำคัญ
- กล่าวโทษเธอเกี่ยวกับพฤติกรรมการข่มเหงของคุณ
- กล่าวโทษยาเสพติด หรือสุราว่าทำให้คุณมีพฤติกรรมการข่มเหงเหล่านั้น
- กีดกันไม่ให้เธอได้งานทำ หรือกีดกันไม่ให้เธอทำงานต่อไปได้
- ทำให้เธอต้องขอเงินจากคุณ
- ไม่ให้เธอรู้ หรือไม่ให้เธอเข้าถึง เงินรายได้ของครอบครัวได้
- คาดหวังให้เธอซื้ออาหารทั้งหมด และจ่ายบิลต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินเพียงพอ
- ฝากบอกเรื่องต่างๆ กับเธอ โดยใช้ลูกเป็นผู้ส่งสาร
- ขู่จะแจ้งกระทรวงครอบครัวและบริการชุมชนให้เล่นงานเธอ (หรือขู่จะแจ้งกระทรวงการตรวจคนเข้าเมืองให้ยกเลิกวีซ่าของเธอ)
- เฝ้าติดตาม และคอยคุกคามเธอทางโซเชียลมีเดีย
- เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของเธอ โดยใช้แอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ
- คุณคิดว่าพฤติกรรมของคุณสร้างปัญหาให้แก่ความสัมพันธ์ของคุณหรือไม่
เชกลิตส์ หรือรายการตรวจประเมินพฤติกรรมนี้ เป็นตัวอย่างของเชกลิสต์ที่ยาวกว่านี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กร รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย ต้องตอบ เชกลิสต์นี้ไม่ใช่การทดสอบที่จะให้คุณสามารถเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่เป็นแนวทางที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ไตร่ตรองว่าพฤติกรรมของตนนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาครอบครัวแตกแยกอย่างไร
หากคุณวิตกว่าคุณมีพฤติกรรมหลายอย่างตามที่ระบุในเชกลิสต์นี้ และต้องการความช่วยเหลือ ให้ไปที่เว็บไซต์ของ รีเลชันชิปส์ ออสเตรเลีย หรือโทรศัพท์ไปที่ 1300 364 277
หากคุณหรือเพื่อนของคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ขอให้ไปหาข้อมูลที่เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์ไปที่ 1800 737 732
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ขจัดความรุนแรงในครอบครัวที่ต้นตอ