วิเคราะห์ต้นเหตุให้ผู้หญิงติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง

ความรุนแรงในครอบครัว

ผู้หญิงบางคนมีข้อจำกัดไม่ให้เดินออกจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงได้โดยง่าย ซึ่งสังคมและคนรอบข้างต้องช่วยกันสนับสนุนพวกเธอ Source: Pixabay / Pixabay/Diana Cibotari

คนนอกอาจมองว่าการออกจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องง่าย แค่เดินออกมาจากบ้านก็จบแล้ว แต่ ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านนี้ อธิบายว่า ความจริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวเป็นวงจรอุบาทว์ที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อติดอยู่ภายใน อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเดินออกมาได้ และคนรอบข้างจะช่วยให้พวกเธอหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้อย่างไร


ประเด็นสำคัญในพอดคาสต์
  • ทำไมผู้หญิงจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงและยอมทนอยู่ต่อไป
  • เหตุใดการใช้ความรุนแรงจึงไม่ยุติลงง่ายๆ เหตุใดจึงเกิดเป็นวงจรต่อเนื่อง
  • มีปัจจัยอะไรที่จะช่วยให้ผู้หญิงที่สามารถออกมาจากความรุนแรงได้
  • คนรอบข้างและสังคมจะช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร
ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านนี้โดยเก็บข้อมูลจากผู้หญิงไทยส่วนหนึ่งที่ประเทศไทย และได้นำสิ่งที่ได้พบไปเขียนเป็นหนังสือชื่อ .... เธออธิบายว่าวงจรของการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์มักเริ่มขึ้นโดยที่ผู้หญิงไม่คาดคิด

“ส่วนใหญ่หลังจากที่เกิดการทำร้ายครั้งแรก ผู้หญิงจะรู้สึกตกใจและไม่คิดมาก่อนว่าจะถูกสามีทำร้าย เพราะฉะนั้นปฏิกิริยาในระยะแรกคือผู้หญิงจะพยายามหาสาเหตุว่าอะไรทำให้ตัวเองถูกทำร้าย พยายามอธิบายว่าการทำร้ายนั้นเกิดจากอะไร เมื่อเราคุยกับผู้หญิง (ที่ร่วมการศึกษาวิจัย) เราพบว่าผู้หญิงมักจะอธิบายเกี่ยวกับความรุนแรงครั้งแรกให้มันดูซอฟต์ลง (เลวร้ายน้อยลง) กว่าความเป็นจริง เช่น สามีทำร้ายเพราะกินเหล้าเลยลืมตัว ถ้าความรุนแรงเกิดจากความหึงหวงก็จะบอกว่าเพราะสามีรัก บางคนคิดว่าตัวเองผิดเองที่ไปกระตุ้นให้สามีทำร้าย วิธีการอธิบายเหล่านั้นทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเธอยังสามารถอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงได้ เพราะมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วขณะ”

วิธีการอธิบายเหล่านั้นทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเธอยังสามารถอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงได้ เพราะมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วขณะ
ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์
Wilasinee Pananakhonsab
ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ Source: Supplied / Wilasinee Pananakhonsab
ต่อมาความรุนแรงกลับไม่ได้ยุติลง แต่ดำเนินต่อไปเป็นวงจร

“ส่วนใหญ่เราก็จะพบว่าผู้ชายก็จะเข้ามาขอโทษและแสดงความสำนึกผิดซึ่งทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่ความลืมตัว ผู้หญิงจึงให้อภัยแก่สามี เมื่อสามีมาขอโทษและบอกว่าจะไม่ทำอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงพยายามควบคุมตัวอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นสามีจะดูแลภรรยาและครอบครัวอย่างดี จึงทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าเขายังคงได้ความรักจากสามี ช่วงนี้จึงเป็นช่วงฮันนีมูน (honeymoon period ที่อะไรๆ ก็ดีไปหมด) สักระยะหนึ่ง”

เมื่อสามีมาขอโทษและบอกว่าจะไม่ทำอีก เพราะฉะนั้นเขาจึงพยายามควบคุมตัวอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นสามีจะดูแลภรรยาและครอบครัวอย่างดี จึงทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าเขายังคงได้ความรักจากสามี
“จนกระทั่งเมื่อเกิดปัญหาเข้ามาอีก ก็จะกลับไปสู่วงจรเดิมอีก คือมีการทะเลาะกันและเกิดการทำร้ายซ้ำขึ้นอีก โดยความรุนแรงเริ่มเกิดถี่ขึ้น บ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ในขณะที่สาเหตุของการทำร้ายเริ่มไม่มีเหตุผลขึ้น ผู้หญิงก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เพราะความลืมตัวแล้วล่ะ ไม่ใช่เพราะความรักแล้วล่ะ” ดร.วิลาสินี กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะสามารถเดินออกจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงได้ทันที ดร.วิลาสินี กล่าวต่อไปว่ามีเหตุผลหลายประการที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจทนทุกข์ต่อไป

“อาจมีข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงบางคนไม่ให้เดินออกมาจากความรุนแรงได้ เช่น เราพบว่าบางคนเขาไม่มีที่พัก เขาไม่ได้ทำงานและรายได้หลักมาจากสามี เขาจึงไม่สามารถออกมาจากความรุนแรงได้ คือการไม่มีที่พัก ไม่มีที่จะไป ไม่มีเงิน และบางคนมีลูก จึงทำให้ผู้หญิงที่มีข้อจำกัดต้องให้เหตุผลกับตัวเองที่จะอยู่ในความสัมพันธ์นั้นต่อไป เช่น บางคนบอกว่า ‘ฉันเลิกไม่ได้เพราะว่าฉันมีลูก ไม่อยากให้ลูกมีปัญหา’ หรือบางคนบอกว่า ‘มันไม่มีที่จะไปจริงๆ’”
Wilasinee Pananakhonsab 2
หนังสือ 'สามีทำร้ายฉัน' ของ ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ Source: Supplied / Wilasinee Pananakhonsab
การไม่มีที่พัก ไม่มีที่จะไป ไม่มีเงิน และบางคนมีลูก จึงทำให้ผู้หญิงที่มีข้อจำกัดต้องให้เหตุผลกับตัวเองที่จะอยู่ในความสัมพันธ์นั้นต่อไป
ติดตามฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ในพอดคาสต์นี้ ที่ ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อธิบายต่อว่าเหตุใดผู้หญิงบางคนมาขอความช่วยเหลือแต่สุดท้ายก็กลับไปอยู่ในความรุนแรงอีก ในส่วนของญาติ เพื่อน และสังคมจะช่วยผู้หญิงให้เดินทางออกมาจากความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างไร พร้อมชี้ให้ชุมชนเปลี่ยนวิธีคิดจากที่อาจมองว่าเรื่องสามีภรรยาเป็นเรื่องที่คนนอกไม่ควรยุ่ง หรือแต่งงานไปแล้วก็ต้องทน

คลิก ▶ เพื่อฟังบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
กดฟังสัมภาษณ์
Cycle of family violence image

ดร.วิลาสินี พนานครทรัพย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านนี้ อธิบายว่า ความจริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวเป็นวงจรอุบาทว์ที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อติดอยู่ภายใน อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเดินออกมาได้ และคนรอบข้างจะช่วยให้พวกเธอหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้อย่างไร

SBS Thai

12/08/202217:11

ช่องทางขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ

หากต้องการปรึกษาสวัสดิภาพสมาคม ซึ่งเป็นสมาคมของชุมชนไทยในนิวเซาท์เวลส์ เพื่อร่วมวางแผนหาทางออก สามารถติดต่อสมาคมได้ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล
  • โทร. 02 9264 3166 หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้ 
  • อีเมล 
หากตกอยู่ในอันตรายหรือมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ 

Lifeline โทร. 13 11 14 หรือ หากมีความคิดทำร้ายตนเองและต้องการขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตฉุกเฉิน

Men’s Referral Service โทร. 1300 766 491หรือ  (บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ชายโดยไม่เปิดเผยชื่อและเป็นความลับ)

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share