Explainer

ผู้คนในออสเตรเลียควรกังวลหรือไม่กับไวรัสตัวใหม่ที่พบในจีน

นักวิทย์ฯ ติดตามไวรัสตัวใหม่ ‘โนเวล แลงยา (Novel Langya)’ หลังพบแพร่กระจายสู่มนุษย์แล้ว 35 รายในจีน นี่คือสิ่งที่เรารู้ล่าสุด

Person wearing gloves holding a small pot of liquid, with a hospital corridor in the background.

Scientists have been tracking the new virus since it was first detected in 2018. Source: SBS

เกิดการอุบัติใหม่ไวรัสในประเทศจีนที่มีชื่อว่า 'แลงยา เฮนิปาไวรัส (Langya henipavirus หรือ LayV)' ซึ่งมีการติดเชื้อในมนุษย์เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 35 รายจนถึงขณะนี้ โดยเชื่อว่าน่าจะมีต้นกำเนิดจากสัตว์ซึ่งคาดว่าจ่าจะเป็นหนูผี ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าชาวออสเตรเลีย ‘ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก’ ต่อไวรัสดังกล่าว

ศาสตราจารย์เอเดรียน เอสเทอร์แมน (Adrian Esterman) ประธานภาควิชาชีวสถิติและระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้การจับตาไวรัสดังกล่าวจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีสาเหตุที่สร้างความกังวลขึ้นในออสเตรเลีย

“ผมไม่คิดว่ามีความจำเป็นใด ๆ ที่จะตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลในเวลา ณ จุดนี้” ศาสตราจารย์เอสเทอร์แมนกล่าว

“ผู้ป่วยทั้งหมดในจีนทำงานกับสัตว์ ส่วนมากเป็นเกษตรกร และยังคงไม่มีการรายงานการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน ... ดังนั้น ผมคิดว่าเราเพียงจับตาดูและไม่กังวลมากจนเกินไปสำหรับสิ่งนี้”

เรารู้อะไรเกี่ยวกับ LayV

ศาสตราจารย์เอดดี โฮล์มส์ (Eddie Holmes) จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า LayV เป็นญาติของไวรัสเฮนดรา (Hendra virus) ซึ่งในออสเตรเลียพบได้ทั่วไปจากค้างคาวและม้า

“มันไม่ใช่ไวรัสที่ใหม่นัก มันได้รับการอธิบายครั้งแรกเมื่อปี 2018” ศาสตราจารย์โฮล์มส์กล่าวเสริม

“ไม่เคยมีผู้เสียชีวิต ไม่เคยมีผู้ที่ป่วยอาการสาหัส และที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดก็คือไม่มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน ดังนั้นจึงไม่มีอะไรต้องกังวลในเวลานี้ แต่ก็ยังเป็นบางสิ่งที่เรายังต้องจับตา”

จากรายงานของ ไวรัสดังกล่าวถูกตรวจพบระหว่างการตรวจผู้ป่วยซึ่งมีประวัติล่าสุดในการสัมผัสกับสัตว์ในพื้นที่ทางตะวันออกของจีน ซึ่งในช่วงแรกพบจากวิธีเก็บตัวอย่างด้วยการกวาดไม้พันสำลีที่ผนังช่องคอ ซึ่งต่อมามีผู้ป่วย 35 รายที่ได้รับการระบุว่ามีการติดเชื้อเฉียบพลันในมณฑลชานตง และมณฑลเหอหนาน ทางตะวันออกของจีน

โดยผู้ป่วยดังกล่าวได้แสดงอาการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงมีไข้ อ่อนเพลีย ไอ คลื่นไส้ และปวดศีรษะ ขณะที่รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า ไม่พบประวัติการสัมผัสใกล้ชิดหรือการสัมผัสร่วมในบรรดาผู้ป่วย

ในบรรดาสัตว์ป่าขนาดเล็กจำนวน 25 สปีชีส์ที่ได้รับการสำรวจ มีการตรวจพบกรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) ของไวรัส LayV ในหนูผีเป็นส่วนมาก
ภาพหนูผี
จากสัตว์ 25 สปีชีส์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจ พบว่า RNA ของไวรัส LayB นั้นอยู่ในหนูผีเป็นส่วนมาก Source: AAP / Mary Evans/Ardea/Duncan Usher

ออสเตรเลียควรที่จะกังวลหรือไม่

ทั้งศาสตราจารย์เอสเทอร์แมน และศาสตราจารย์โฮล์มส์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดสำหรับออสเตรเลียที่จะต้องกังวลกับไวรัส LaV

ศาสตราจารย์โฮล์มส์ กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้คือเพียงแค่ “จับตามอง

“สัญญาณอันตรายคือการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น ผมก็คิดว่ามันจะมีความกังวลมากขึ้นในระดับโลก องค์การอนามัยโลกจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และรัฐบาลจะตอบสนอง แต่ในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่ามันจะเป็นเช่นนั้น” ศาสตราจารย์โฮล์มส์กล่าว

“ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการที่ทางการจีนจับตาอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวัง และแจ้งกับเราว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมคิดว่าเรายังอยู่ในจุดที่ดีตราบใดที่เรายังคงเฝ้าระวัง”

ศาสตราจารย์เอสเทอร์แมน เห็นพ้องในประเด็นนี้

“ในตอนนี้เราตระหนักถึงเรื่องไวรัสมากขึ้นจากโควิด-19” ศาสตราจารย์เอสเทอร์แมนกล่าว

“ประเด็นก็คือ..มีไวรัสมากกว่า 200 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ และเรากำลังพบไวรัสตัวใหม่ 3-4 ชนิดต่อปี จีงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีไวรัสตัวใหม่ที่ถูกค้นพบ”

LayV เหมือนกับ COVID-19 หรือไม่

นอกจากจะเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์แล้ว ศาสตราจารย์โฮล์มส์ กล่าวว่า ไวรัส LayV นั้นต่างจากโควิด-19 ในเรื่องของการแพร่กระจายเชื้อ

“โควิด-19 นั้นน่าทึ่งมาก เพราะสิ่งแรกที่เราได้ยินเกี่ยวกับมันก็คือการแพร่กระจายในหมู่ผู้คนได้อย่างง่ายดาย” ศาสตราจารย์โฮล์มส์กล่าว

“ในกรณีของไวรัสตัวนี้ ไม่มีหลักฐานเลยว่ามันสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ... ในแต่ละกรณีของผู้ป่วยในจีนทั้ง 35 รายน่าจะได้รับเชื้อมาจากสัตว์โดยตรง ซึ่งต่างจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เราพบเห็นอย่างมาก”



คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 16 August 2022 4:55pm
Updated 16 August 2022 5:14pm
By Jessica Bahr
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends