ออสเตรเลียได้เริ่มเปิดตัววัคซีนฝีดาษลิงในออสเตรเลียแล้ว โดยได้ให้ความสำคัญในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากที่สุด
รัฐบาลสหพันธรัฐได้จองสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนฝีดาษ “จินนีออส (Jynneos)” เกือบครึ่งล้านโดส โดยวัคซีนชุดแรก 22,000 โดสจะมีให้ฉีดได้ที่คลินิกสุขภาพทางเพศส่วนใหญ่ในทุกรัฐและมณฑล
วัคซีนฝีดาษลิงจะใช้งานอย่างไร
วัคซีนนี้สามารถใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิง หรือใช้เป็นการรักษาหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ที่อาจสัมผัสไวรัสได้รับการปกป้องบางส่วน
แนวทางที่กำหนดว่าใครจะมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนซึ่งมีจำนวนจำกัด ได้รับการจัดทำโดยกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (ATAGI) ซึ่งระบุว่า ประชาชนในกลุ่มเหล่านี้จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการเข้าถึงวัคซีนเป็นอันดับแรก
- คู่ครองมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง
- ผู้ที่อยู่กับบุคคลที่รับการยืนยันว่ามีไวรัส หรือเคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
เนื่องด้วยร้อยละ 98 ของผู้ที่ได้รับการบันทึกว่าได้รับเชื้อไวรัสในการระบาดครั้งล่าสุดของออสเตรเลียคือเกย์และไบเซ็กชวล จึงมีความเข้าใจว่าประชาชนในกลุ่มดังกล่าวจะมีความเสี่ยงสูงกว่าในการสัมผัสกับเชื้อฝีดาษลิง และจะได้รับการจัดอันดับความสำคัญให้เข้าถึงวัคซีนเป็นอันดับแรก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แจ็คติดเชื้อฝีดาษลิง เขาบอกว่าแผนตอบสนองของรัฐบาลช้าไป
มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในออสเตรเลียกี่รายแล้ว
แม้หน่วยงานสาธารณสุขจะยังไม่มีรายละเอียดว่าวัคซีนดังกล่าวจะได้รับการแจกจ่ายไปยังรัฐและมณฑลต่าง ๆ อย่างไร เบื้องต้นทราบว่ารัฐนิวเซาท์เวลส์ได้รับการส่งมอบวัคซีนจำนวน 5,500 โดส จากจำนวน 22,000 โดสแรกที่มาถึงออสเตรเลีย
ทั้งนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งได้บันทึกการติดเชื้อฝีดาษลิงจำนวน 31 รายจาก 57 รายทั่วประเทศ ได้เริ่มต้นการเปิดตัววัคซีนแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา
ออสเตรเลียมีสต็อกวัคซีนฝีดาษลิงพอหรือไม่
ศาสตราจารย์แอนดรูว์ กรูลิช (Andrew Grulich) หัวหน้าด้านระบาดวิทยาและโครงการป้องกันโรคติดเชื้อเอชไอวี จากสถาบันเคอร์บีย์ของมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะมุ่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรเกย์และไบเซ็กชวลส่วนใหญ่ในประเทศ
จากประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์กรูลิชระบุว่า วัคซีนจำนวน 450,000 โดสคือ “ปริมาณที่ดีมาก” แต่สถานการณ์ยังคงต้องได้รับการจับตา เพราะหากไวรัสเริ่มที่จะแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างขึ้นก็อาจจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนหลายโดส
“เราจำเป็นต้องจับตาการแพร่ระบาดใหญ่นี้ เพียงเพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่แพร่ออกไปเกินกว่ากลุ่มประชากรที่กำลังได้รับผลกระทบในขณะนี้” ศาสตราจารย์กรูลิช กล่าว
Australia has secured access to 450,000 doses of the 'third generation' monkeypox vaccine. Source: Getty / SyhinStas
“เราไม่รู้ว่าวิถีของไวรัสตัวนี้จะเป็นอย่างไร” คุณไพรซ์ กล่าว
“โดยพื้นฐานแล้ว เราเข้าใจว่าจำเป็นต้องให้วัคซีน 2 โดสเพื่อการปกป้องสูงสุด แต่ยังมีอีกเล็กน้อยที่ยังไม่รู้ในแง่ที่ว่า (การปกป้อง) จะอยู่ได้นานแค่ไหน จะต้องกระตุ้นบ่อยแค่ไหน และความบ่อยครั้งในการฉีดวัคซีนจะเป็นอย่างไร”
“มันสำคัญที่จะมีความพยายามทำให้แน่ใจว่ามีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ”
‘ไม่มีทาง’ ที่วัคซีนฝีดาษลิงจะทำให้เกิดโรคติดต่อ
วัคซีนไข้ทรพิษซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงด้วยเช่นกัน (ACAM2000) มีให้ฉีดอยู่แล้วในออสเตรเลีย ทว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากแต่มีอาการรุนแรงทำให้วัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการแนะนำให้ฉีดในประชากรหมู่มาก เนื่องจากวัคซีนถูกผลิตโดยการใช้ไวรัสที่ยังมีชีวิตซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ศาสตราจารย์กรูลิช กล่าวว่า ผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสำหรับวัคซีนจินนีออส (Jynneos) ซึ่งผลิตโดย บาวาเรียน นอร์ดิก (Bavarian Nordic) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเดนมาร์ก
“วัคซีนรุ่นที่ 3 นี้มีพื้นฐานจากไวรัสที่ไม่สามารถคัดลอกตนเองได้ จึงไม่มีทางที่จะทำให้เกิดโรคติดต่อแม้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และด้วยเหตุผลนี้เองจึงปลอดภัยที่จะฉีดให้กับประชากรทั้งหมด” ศาสตราจารย์กรูลิช กล่าวว่า
NSW has recorded the majority of the cases of the virus so far. Source: iStockphoto / angelp/Getty Images
ควรเปลี่ยนชื่อโรคฝีดาษลิง เพื่อป้องกันความน่าอับอายหรือไม่
คุณไพรซ์กล่าวว่า ไม่เพียงแต่จะมีความน่าอับอายที่เกี่ยวกับฝีดาษลิงเท่านั้น แต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ในชุมชนเกย์ก็อาจเป็นสิ่งที่กระตุ้นความน่าอับอายได้สำหรับบางคน
“มันเป็นไวรัสที่เราไม่รู้เกี่ยวกับมันมากนัก มันมีตุ่มพองบนผิวหนัง และสามารถแบ่งออกไปได้ในระดับหนึ่ง และไวรัสนี้ยังได้แพร่กระจายผ่านเครือข่ายทางเพศด้วย” คุณไพรซ์ จาก ACON Health กล่าว
“สิ่งเหล่านี้ได้เผยให้เห็นเงามืดในช่วงแรก ๆ (ที่เชื้ออุบัติขึ้น) ของเชื้อเอชไอวี และประสบการณ์เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีสำหรับบางคน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสร้างแรงกระตุ้น (ความอับอาย) และเพิ่มระดับความตึงเครียดให้กับโรคฝีดาษลิง”
โดยคุณไพรซ์แนะนำว่า การเปลี่ยนมาใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์สำหรับโรคฝีดาษลิงในมนุษย์ อาจช่วยลดความน่าอับอายเกี่ยวกับไวรัสนี้ลงได้
นี่ไม่ใช่โรคติดต่อของเกย์ ใครก็ติดเชื้อได้ทั้งนั้นแคเรน ไพรซ์ (Karen Price) รักษาการประธานของเอคอน (ACON)
“โรคฝีดาษลิงเป็นชื่อที่ค่อนข้างน่าตกใจ มันฟังดูเจ็บปวด”
“สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้เพื่อปกป้อง ไม่เพียงแต่สุขภาพของผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดในตอนนี้ แต่ยังรวมถึงผู้ที่อาจอยู่ในความเสี่ยงได้ในอนาคต คือการเริ่มปฏิบัติกับไวรัสนี้ให้เหมือนกับอีกหลายสิ่งอื่น ๆ เช่นเมื่อเราเริ่มพูดถึงไวรัสโคโรนาในตอนแรก และก็เปลี่ยนมาเป็นโควิด-19”
“อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่จำเป็น จากคำว่ามังกี้พ็อกซ์ (monkeypox) ไปเป็นภาษารูปแบบอื่น ๆ ที่แตกต่าง อย่าง MPX หรือ MPX-V”
“นี่ไม่ใช่โรคติดต่อของเกย์ ใครก็ติดเชื้อได้ทั้งนั้น”
“ความน่าอับอายมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งในวิธีการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้คน และสำหรับบางคน มันอาจกีดกั้นพวกเขาในการพยายามที่จะออกมา และเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่พวกเขาต้องการ”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
‘ขนลุก’: นักเรียนจีนไม่รู้ว่าห้องเช่าที่ไปดูเป็นห้องที่สองสาวซาอุฯ ตาย