Analysis

การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติออสฯ จะกระทบคุณอย่างไร

ธนาคารสำรองออสฯ ปรับดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นไปแล้วเป็น 1.85% สูงสุดในรอบหลายปี เรื่องนี้จะส่งผลกับคุณอย่างไรโดยเฉพาะผู้ถือสินเชื่อบ้าน รัฐบาลทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบ

Reserve Bank of Australia Governor Philip Lowe in a suit.

Reserve Bank of Australia Governor Philip Lowe says the succesive rate rises were required "to bring inflation back to target and to create a more sustainable balance of demand and supply in the Australian economy". Source: AAP / Diego Fedele

ประเด็นสำคัญ
  • ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ขึ้นไปอีกร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 1.85% สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี
  • นักเศรษฐศาสตร์เผยดอกเบี้ยมาตรฐานออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเร็วสุดนับตั้งแต่ปี 1994 หวั่นคนหาเงินส่งบ้านไม่ไหว ข้าวของแพง คนเช่าอาศัยต้องจ่ายเพิ่ม
  • คิดซื้อบ้านช่วงนี้ลำบากแม้คาดการณ์ชี้ว่าราคาหล่นลงถึงปีหน้า เพราะดอกเบี้ยเพิ่มเงินดาวน์ก็เพิ่มตามไปอีก
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการแล้วเป็นร้อยละ 1.85 เพิ่มจากอัตราเดิมขึ้นมาอีกร้อยละ 0.5 สูงที่สุดในรอบกว่า 6 ปี

โดยอัตราใหม่นี้ได้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นความพยายามของธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อของประเทศ

ดร.ฟิลลิป โลว์ (Dr.Phillip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมบอร์ดธนาคารว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความจำเป็นเพื่อที่จะ “นำภาวะเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายและสร้างสมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่ยั่งยืนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารสำรอง ฯ ยังได้ชี้ว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะหยุดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุมบอร์ดธนาคารในเดือนหน้า โดยธนาคารสำรอง ฯ จะจับตาข้อมูลระบบเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

“ขนาดและช่วงเวลาของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นจะได้รับการชี้นำโดยข้อมูลที่เข้ามา และการประเมินคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของบอร์ดธนาคาร” ดร.โลว์ระบุในแถลงการณ์

ทำไมต้องปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้น

ดร.โลว์ กล่าวว่า มีการคาดว่าภาวะเงินเฟ้ออาจถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ และชะลอตัวลงสู่ระยะในเป้าหมายระหว่างร้อยละ 2-3 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคาดการณ์ระบบเศรษฐกิจในระดับโลก

“หนทางในการบรรลุถึงสมดุลนี้ค่อนข้างคับแคบและขมุกขมัวไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะยิ่งในระดับโลก” ดร.โลว์กล่าวในแถลงการณ์

“แนวโน้มการเติบโตของระบบเศรษฐกิจระดับโลกถูกลดลงมาจากความกดดันของรายได้ที่แท้จริงจากภาวะเงินเฟ้อระดับสูง นโยบายทางการเงินที่รัดกุมในหลายประเทศ การบุกรุกยูเครนของรัสเซีย และมาตรการควบคุมโควิดในจีน”
กราฟแสดงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของออสเตรเลียสำหรับปี 2022
ตลอดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียยังคงที่อยุ่ที่ 0.10% แต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้ เมื่อมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจากทั้งหมด 4 ครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยปรับขึ้นไป 0.25% ในเดือน พ.ค. และครั้งถัดมาอีก 3 ครั้งรอบละ 0.50% Source: SBS
ดร.โลว์ ยังได้ชี้ถึงปัจจัยภายในประเทศที่มีส่วนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

“มีแรงกดดันราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างจากอุปสงค์ที่แข็งแรง ตลาดแรงงานที่ตึงตัว และข้อจำกัดด้านศักยภาพในบางภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ เหตุอุทกภัยในปีนี้ยังได้ส่งผลต่อราคาบางอย่างด้วย”

แถลงการณ์บอร์ดธนาคารสำรองฯ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 อัตราเงินเฟ้อในช่วงปีนี้จนถึงไตรมาสเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.9

ทั้งนี้ ตลอดปีปฏิทินที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 3.5

สิ่งนี้จะกระทบผู้ถือสินเชื่อบ้านอย่างไร

  • ผู้ถือสินเชื่อบ้านทั่วไปที่มียอดคงเหลือ $330,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ $90 ดอลลาร์ หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียระบุว่า เพิ่มขึ้นมาจากอีก $220 ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
  • เจ้าของบ้านในออสเตรเลียผู้ถือสินเชื่อที่มียอดคงเหลือ $500,000 ดอลลาร์ จะพบว่าต้องจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นเดือนละ $140 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมาจาก $335 ดอลลาร์ที่ขึ้นมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้ง 3 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
แซลลี ทินดอลล์ (Sally Tindall) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเรตซิตี้ (RateCity) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่านี่เป็นความพยายามครั้งที่ 4 ของธนาคารสำรอง ฯ “เพื่อทำให้วิญญาณเงินเฟ้อกลับลงไปอยู่ในตะเกียง”

อย่างไรก็ดี เธอกล่าวว่า มีความกังวลในเรื่องแรงกดดันที่ผู้ถือสินเชื่อบ้านจะต้องเผชิญในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“3 เดือนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นมาถึงจุดนี้ก่อนช่วงคริสต์มาส ไม่มีใครคิดเลยว่าเราจะมาถึงจุดนี้แล้วในเวลาเพียง 4 เดือน” คุณทินดอลล์ กล่าว

“ฉันไม่รู้ว่าชาวออสเตรเลียได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่หรือเปล่า สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงและรวดเร็วขนาดนี้”
กราฟแสดงอัตราดอกเบี้ยออสเตรเลียนับตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 แสดงให้เห็นถึงระดับความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยธนาคารสำรองฯ ระบุว่าจะยังมุ่งที่จะ "รักษาระดับเงินเฟ้อระหว่าง 2-3% เมื่อเวลาผ่านไป" Credit: Reserve Bank of Australia

รัฐบาลกำลังตอบสนองอย่างไร

รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลสหพันธรัฐระบุว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนั้น “ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ”

“มันไม่ใช่ความตกใจสำหรับใคร แต่มันก็กระทบกระเทือนอยู่ดี” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

ระหว่างการตอบกระทู้คำถามในรัฐสภา ดร.ชาลเมอร์ส ได้ชี้ไปยังแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีที่ได้มีการแถลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ารัฐบาลสหพันธรัฐจะใช้มาตรการ 3 มาตรการเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจสำหรับชาวออสเตรเลีย

หนึ่งในนั้นรวมถึง:
  • การลดค่าบริการดูแลบุตร (childcare)
  • การลดราคายาในรายชื่อยาที่รัฐบาลสนับสนุนผ่านโครงการสิทธิประโยชน์ทางเวชภัณฑ์ (PBS)
  • การผลักดันให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
  • การแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงในระบบห่วงโซ่อุปทานด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
แผนภูมิแสดงอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน
ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียคาดว่าอัตราเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 7.75% ในปีนี้ Credit: Reserve Bank of Australia
“งานของเราไม่ใช่การพยายามจะมีอิทธิพลต่อธนาคารสำรอง ฯ หรือพยายามคาดเดาการตัดสินใจของพวกเขาเป็นครั้งที่ 2 งานของเราคือการมุ่งเน้นไปในสิ่งที่เราสามารถมีอิทธิพลได้อย่างมีความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาลใหม่ในระดับชาติ ... รับผิดชอบมาตรการเยียวยาค่าครองชีพ การแก้ไขปัญหาด้านอุปทานเหล่านั้นในระบบเศรษฐกิจ และการเริ่มต้นตัดลดงบประมาณที่เอารัดเอาเปรียบและเปล่าประโยชน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นสิ่งที่ชาวออสเตรเลียต้องจ่ายให้ในราคาแพงขึ้นทุกที” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

เขากล่าวว่า แม้จะมีความท้าทายในระบบเศรษฐกิจอยู่ข้างหน้า แต่ก็มั่นใจว่าชาวออสเตรเลียจะสามารถผ่านไปได้

“ชาวออสเตรเลียรู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากข้างหน้าเมื่อพูดถึงพายุในระบบเศรษฐกิจของเรา แต่เรามั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปสู่อีกด้านหนึ่งได้อย่างแข็งแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศการพิจารณานโยบายด้านธนาคารและการเงินเป็นวงกว้างเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ใครเจ็บปวดที่สุดในวิกฤตนี้

ปีเตอร์ ไวท์ (Peter White) กรรมการผู้จัดการสมาคมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า จะมีความตึงเครียดทางการเงินเพิ่มมากขึ้นสำหรับการจ่ายค่างวดของผู้ถือสินเชื่อบ้าน และมีบางส่วนที่จะพิจารณาทางเลือกที่จะรีไฟแนนซ์

“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้เริ่มที่จะทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับหลายคน ขณะที่ผมเข้าใจถึงจุดประสงค์ของธนาคารสำรองฯ ผมยังหวังอีกว่าพวกเขาจะพิจารณาถึงชุมชนในวงกว้าง ผลกระทบที่มีต่อสังคมมันวงกว้าง และผลในแง่ลบในสังคมเมื่อมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สิ่งที่ผู้บริโภคจะรับมือได้นั้นมีขีดจำกัด และหลังจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก 3 เดือนที่ผ่านมา ผมหวังว่าจะมีการเยียวยาในเดือนต่อ ๆ มา” คุณไวท์ กล่าว

คอร์โลจิก (CoreLogic) บริษัทวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ส.ค.) ว่า ราคาบ้านในออสเตรเลียหล่นลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008 ขณะที่สภาพของตลาดที่พักอาศัย “คาดว่าจะแย่ลงไปอีก” จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อบ้าน
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารคอมมอนเวลธ์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาที่พักอาศัยระดับชาติอาจลดลงไปร้อยละ 6 ภายในสิ้นปีนี้ และอาจลดลงไปอีกร้อยละ 8 ในปี 2023

เอเลียนอร์ ครีจ (Eleanor Creagh) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากพรอพแทร็ก (PropTrack) กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 และจะกระทบกับงบประมาณในภาคครัวเรือน

“การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและราคาบ้านที่ลดลงเป็นฉากหลัง เทียบกับแนวกันชนเงินออมและความมั่งคั่ง และอัตราการเติบโตค่าจ้างที่แข็งแรงซึ่งเต็มไปด้วยความหวัง จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินสภาพของความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความรุนแรงและความรวดเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน” นางครีจ กล่าว

“ครัวเรือนจำนวนมากได้สร้างแนวกันชนทางการเงินขนาดใหญ่ และอัตราเงินออมนั้นยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงก่อนการแพร่ระบาดใหญ่”
“บอร์ดธนาคารจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับความสมดุลของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ในขณะที่ประเมินการกำหนดนโยบายทางการเงินที่เหมาะสม”

ดร.ชาลเมอร์ส กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียทุกคนจะรู้สึกถึงความตึงเครียดเหล่านี้

“หลายครอบครัวในตอนนี้จะต้องทำการตัดสินใจที่ยากลำบากขึ้นว่าพวกเขาจะรักษาสมดุลงบประมาณในครัวเรือนอย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันอื่น ๆ เช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และราคาสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่สูงขึ้น” ดร.ชาลเมอร์ส กล่าว

คุณทินดอลล์ จากเรตซิตี้ กล่าวว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านจะต้องระวังมากขึ้นในพฤติกรรมการใช้จ่าย

“ครอบครัวต่าง ๆ ควรที่จะเริ่มหยิบปากกาและกระดาษมาเขียนยุทธศาสตร์ทางการเงินเพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านไปได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า มันอาจเป็นเงินเพียงเล็กน้อยจากงบประมาณในบางครัวเรือน แต่ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากสำหรับอีกหลายคน”

“หากคุณประสบปัญหา ส่งเสียงตั้งแต่เนิ่น ๆ และขอความช่วยเหลือ ธนาคารไม่ต้องการที่จะเห็นคุณผิดนัดชำระค่าบ้านไปมากกว่าที่คุณทำ”

ผู้เช่า-ธุรกิจไซส์เล็กก็โดนผลกระทบไปด้วย

โยกิ วิทยธมะ (Yogi Vidyattama) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาแบบจำลองเศรษฐกิจสังคมจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา กล่าวว่า ขณะที่เจ้าของบ้านผู้ถือสินเชื่ออัตราผันแปรจะรับรู้ได้ถึงผลกระทบในครั้งนี้ แต่ความกังวลของเขาโดยหลักแล้วคือในหมู่ผู้เช่าพักอาศัย

เขาเตือนว่าราคาค่าเช่าที่ประกาศในตลาดอาจเป็นตัวชี้วัดอัตราค่างวดของสินเชื่อบ้านในปัจจุบัน และอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอย่างน่ากังวลสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้

“หากสิ่งนี้เกิดขึ้นผู้ที่กำลังเช่าอาศัยจะไม่สามารถซื้อบ้านได้ โดยเฉพาะในอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ต้องเตรียมตัวมากที่สุด” ผศ.วิทยธมะ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“การลดลงของราคาในตลาดที่พักอาศัยจะไม่ช่วยพวกเขา เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องจ่ายหรือต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น”

แอนเนก ทอมป์สัน (Anneke Thompson) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเครดิเตอร์วอตช์ (CreditorWatch) ยังได้เตือนอีกว่า การผิดนัดชำระในอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มสูงนั้น หมายถึงการผิดนัดชำระของธุรกิจขนาดเล็กที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกร้อยละ 1 ในช่วงปีหน้า

ทั้งนี้ ย่านชานเมืองอย่างเซิร์ฟเฟอส์ พาราไดซ์ ในรัฐควีนส์แลนด์ และย่านออเบิร์น ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นไปได้ว่าจะเป็นพื้นที่ยอดนิยมในการพบการผิดนัดชำระสินเชื่อบ้าน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหนี้สินสำหรับธุรกิจในท้องถิ่น

คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีกไหม

ในแถลงการณ์จากธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย ดร.โลว์ ชี้ว่ามีช่องว่างในการหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมบอร์ดธนาคารที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า

“บอร์ดธนาคารคาดว่าจะดำเนินการในขั้นต่อไปในกระบวนการทำให้สภาวะทางการเงินเป็นปกติในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เส้นทางที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า” ดร.โลว์กล่าว

ด้านคุณทอมป์สัน กล่าวว่า การคาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นเป็นงานที่ยุ่งยาก

“โชคและปัจจัยอื่นๆนอกเหนือการควบคุมของธนาคารสำรองจะบอกเล่าเรื่องราวในจุดนั้น” คุณทอมป์สันกล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมจาก AAP

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 3 August 2022 5:25pm
By Rayane Tamer
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends