ประเด็นสำคัญ
- อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียก้าวกระโดดสูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ชี้วัดวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มสูงถึงร้อยละ 5.1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดไตรมาสเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นมาอีกร้อยละ 2.1
- ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลียเผยสถานการณ์ความยากจนสะเทือนใจ ราคาสินค้าพื้นฐานและค่าเช่าบ้านแพงขึ้นต่อเนื่อง คนรายได้น้อยบางส่วนเริ่มต้องกินนอนกันในรถ
- กลุ่มชุมชนชี้ช่วงเลือกตั้งกลุ่มผู้เปราะบางในชุมชนจำนวนไม่น้อยถูกมองข้าม จากสถานการณ์ราคาบ้านที่ลอยตัวอย่างต่อเนื่อง และไม่มีพรรคการเมืองใดชูนโยบายแก้ปัญหาค่าครองชีพ
อัตราเงินเฟ้อรายปีของออสเตรเลียพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 จากราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 5.1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากร้อยละ 3.5 และเพิ่งจะเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.1 ในช่วงไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งซึมซับความผันผวนของราคาที่ผันแปรให้ราบลื่น และเป็นส่วนสำคัญของคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 3.7 ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารสำรองออสเตรเลีย (RBA) ที่ร้อยละ 2 - 3 นับตั้งแต่ช่วงต้นช่วงต้นปี 2010
ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจากอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ในการประชุมบอร์ดธนาคารวันอังคารหน้า (3 พ.ค.)
ก่อนหน้านี้ อาร์บีเอเคยระบุว่า ต้องการที่จะเห็นอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีความหมายเสียก่อน จึงจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระดับโลก เช่นเดียวกับท่าทีของธนาคารกลางในนานาประเทศ ทำให้ธนาคารสำรองออสเตรเลียอาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานให้เร็วกว่าเดิม
“ข้อโต้แย้งที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวสำหรับความล่าช้าในตอนนี้ก็คือการเลือกตั้งสหพันธรัฐ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้วในปี 2007 นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาร์บีเอในการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระอีกครั้ง...” นายเดวิด บาซซานีส (David Bassanese) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเบต้าแชส์ (BetaShares) กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าครองชีพในออสเตรเลียกำลังพุ่งสูงขึ้น ทำไมทุกอย่างถึงแพงจัง?
โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจะบีบให้ธนาคารต่าง ๆ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ
“ดัชนีราคาผู้บริโภครายปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในไตรมาสเดือนมีนาคม จากค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูง” รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุ
รายงานของสำนักงานสถิติ ฯ ระบุว่า ได้บันทึกการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยใหม่ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (เกือบร้อยละ 5.7) ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.2000 หลังการเริ่มเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) โดยราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างตึกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 7 ไตรมาส ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นประจำปีรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การบุกรุกคูเวตของอิรักในปี 1990” รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุ
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสเดือนกันยายน เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นฉับพลันซึ่งเกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคในระดับสูงจากการคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
‘ผู้คนเริ่มต้องกินนอนกันในรถ’
แคซแซนดรา โกลดีย์ (Cassandra Goldie) ประธานบริหารของสภาสังคมสงเคราะห์ออสเตรเลีย (ACOSS) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตผู้มีรายได้น้อย
“ สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำมาก และมีประมาณ 2.4 ล้านคนที่ดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่าวันละ $70 ดอลลาร์ และอีกมากที่อยู่ด้วยเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์วันละ $46 ดอลลาร์นั้น พวกเขาถูกบดขยี้อย่างรุนแรงจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นข้างนอกนั่น โดยเฉพาะค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น” นางโกลดีย์ กล่าวกับเอบีซี นิวส์ ในวันนี้ (27 เม.ย.)
“ทั่วประเทศ เราได้พบเห็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคออสเตรเลีย และในเมืองใหญ่อีกประมาณ 14% นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่เริ่มต้น”
นางโกลดีย์ กล่าวว่า สภาสังคมสงเคราะห์แห่งออสเตรเลียกำลังกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้คนเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับการถูกไล่ที่จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
“เรากังวลเกี่ยวกับผู้คนซึ่งตอนนี้กำลังมีชีวิตอยู่ภายในรถ นั่นคือความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เรารู้ดี และอาหารเหล่านั้นก็กำลังจะกลายเป็นเป็นสิ่งที่ต้องประหยัดสำหรับคนมีรายได้น้อยอย่างแน่นอน”นางโกลดีย์ กล่าว
“เราพบเห็นผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนมาที่ธนาคารอาหารทั่วออสเตรเลีย”
นางโกลดีย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์รายได้ให้สูงขึ้นให้ได้อย่างน้อย $70 ดอลลาร์ต่อวัน
“ตัวเลขในปัจจุบันเหล่านี้น่าจะสร้างปัญหาให้กับเราทุกคนในแง่ของคนมีรายได้น้อยมากเหล่านั้น และแน่นอนว่าอัตราการเติบโตค่าจ้างก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นเช่นกัน” นางโกลดีย์ กล่าว
'กลุ่มเปราะบางในชุมชนจำนวนมากถูกหลงลืม’
ข้อมูลจาก St Vincent de Paul Society เปิดเผยว่า ชาวออสเตรเลียมากกว่า 3 ล้านคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในความยากจนต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างมากเพื่อให้มีชีวิตรอด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงที่จำเป็นในครัวเรือนได้
แคลร์ วิกตอรี (Claire Victory) ประธานองค์กรการกุศล St Vincent de Paul Society กล่าวว่า ราคาบ้านที่กำลังลอยตัวเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางในชุมชนเป็นจำนวนมากถูกลืม
“การละเลยนี้เห็นได้จากการตัดสินใจที่โหดร้ายของพรรค (การเมือง) ใหญ่ทั้ง 2 สองพรรคที่จะปล่อยให้เงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเปอร์อยู่ที่ $46 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้รับเงินสวัสดิการนี้อยู่ใต้เส้นแบ่งกั้นความยากจน และเผชิญกัย”แรงกดดันด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น” นางวิกตอรี กล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันนี้ (27 เม.ย.)
“การคาดหวังว่าผู้คนจะอยู่รอดด้วยเงินวันละ $46 ดอลลาร์เป็นเรื่องโหดร้าย มันแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจ หรือความเอาใจใส่ต่อผู้คนที่มีชีวิตอย่างยากลำบาก และความท้าทายของการหารายได้พอประทังชีวิตก็มีมากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าพื้นฐานก็พุ่งสูงขึ้น”
นางวิกตอรี กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้งในเดือนหน้าจะถูกบังคับให้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เว้นแต่ว่าพวกเขาต้องการจัดการวิกฤตความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น
เธอกล่าวอีกว่า คำเตือนจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่เกี่ยวกับการเพิ่มหนี้ของชาติเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่องค์กรการกุศล St Vincent de Paul Society ได้มอบหมายให้มีการจัดทำแบบจำลองเพื่อแสดงทางเลือกที่เป็นกลางด้านงบประมาณในการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งองค์กรการกุศลดังกล่าวระบุว่า จะเป็นหนทางนำพาชาวออสเตรเลียทั้งหมดออกจากความยากจน
“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ออสเตรเลียสามารถเพิ่มงบจ่ายเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมกับเพิ่มความช่วยเหลือในโครงการสนับสนุนค่าเช่าที่พักอาศัยเครือจักรภพ (Commonwealth Rent Assistance) ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายและไม่แพงต่อระบบภาษีและเงินสวัสดิการของเรา” นางวิกตอรี กล่าว
“แต่ปัญหาอย่างเดียวคือ เราขาดผู้นำทางการเมืองที่สนับสนุนแผนดังกล่าว”
“แบบจำลองของเราแสดงให้เห็นว่า คุณสามารถปลดปล่อยชาวออสเตรเลียกว่า 1 ล้านคนจากความยากจนได้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain tax) และภาษีเงินกองทุนสะสมหลังเกษียณ (superannuation tax) ซึ่งจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยอย่างน่าเหลือเชื่อ และมีความยากจนอย่างน่าใจหาย การไม่มีความสามารถในการแก้ไขสิ่งหนึ่งด้วยอีกสิ่งคือความผิดพลาดของระบบการเมือง ไม่ใช่ข้อจำกัดด้านงบประมาณ”
รัฐมนตรีคลังเผย ออสเตรเลีย ‘อยู่ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวน’
นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าวว่า การเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียถึงความสำคัญของ “การจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง”
“ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อระดับสูงในวันนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียว่าเรากำลังอยู่...ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวน” นาย ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยังถูกตั้งคำถามว่า เมื่อใดที่อัตราการเติบโตของค่าจ้างจะตามทันอัตราเงินเฟ้อ เขาระบุว่า ออสเตรเลียก็กำลังประสบกับสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งจะสร้างแรงกดดันไปถึงอัตราค่าจ้าง และยังได้ระบุอีกว่า ออสเตรเลียยังคงไม่พ้นจากแรงกดดันนานาชาติที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
“ตัวเลขเงินเฟ้อในระดับสูงวันนี้ เป็นเครื่องย้ำเตือนชาวออสเตรเลียทุกคนถึงความสำคัญในการจัดการระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแรง และมีประสิทธิภาพ” นายฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
เหตุผลใดบ้างที่คุณจะเลือกตั้งล่วงหน้าได้ และต้องทำอย่างไร?