แชร์ประสบการณ์เปิดโรงงานผลิตอาหารในออสเตรเลีย

22 SEP 2022 PAM PLANT BASED FOOD INTV.jpg

Credit: Pimarada Watcharadechmontri

คุณ พิมพ์อารดา วัชรเดชมนตรี เจ้าของ Pam Pam Asian Plant-based Cuisine แบ่งปันประสบการณ์เริ่มธุรกิจผลิตอาหารในออสเตรเลีย เริ่มต้นจากการผลิตซาละเปาขายตามร้านของชำไทย จนไปสู่การขายอาหารเอเชียแบบมังสวิรัติและวีแกนตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่และขายออนไลน์ทางเว็บไซต์ ถ้าจะเข้าสู่วงการนี้อย่างจริงจังในออสเตรเลีย ต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง


ประเด็นสำคัญในพอดคาสต์
  • การเปิดโรงงานผลิตอาหารขายในออสเตรเลียเริ่มต้นอย่างไร
  • มีความท้าทายอะไรในการขยายธุรกิจมาสู่อาหารเอเชียแบบมังสวิรัติและวีแกน
  • การขายสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านทำอย่างไร
  • ปัญหาในการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าต่างรัฐ
  • จะเริ่มขายสินค้าผ่านทางซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ต่างๆ ในออสเตรเลียได้อย่างไร และการขายแบบนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เราต้องไม่ไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่มากเกินไป สินค้าของเราต้องไม่มีกลุ่มลูกค้าเล็กที่เกินไป เราต้องอยู่กลางๆ และพยายามหาตัวเอง
พิมพ์อารดา วัชรเดชมนตรี (แพม)
คุณแพม พิมพ์อารดา วัชรเดชมนตรี (Pimarada Watcharadechmontri) เริ่มต้นธุรกิจผลิตอาหารในออสเตรเลียจากก้าวเล็กๆ แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้น

“ตอนเริ่ม เราก็หาร้านอาหาร เป็นร้านเทคอะเวย์ แล้วเราก็ปรับปรุงภายในให้เป็นโรงงานตามมาตรฐาน ตอนแรกเราทำเป็นโรงงานเล็กๆ ผลิตซาละเปา แต่ตอนหลังเราผลิต ready meal (อาหารพร้อมรับประทาน)” คุณแพม กล่าว

จากเดิมที่เคยผลิตซาละเปาอย่างเดียว ขณะนี้คุณแพมได้ขยายธุรกิจมาเป็นการผลิตอาหารเอเชียแบบมังสวิรัติและวีแกน ที่จำหน่ายในหลายรัฐของออสเตรเลีย
Pam Pam Collage 1.jpg
คุณแพมกับสินค้าอาหารเอเชียที่เธอผลิต Credit: Pimarada Watcharadechmontri
เธออธิบายถึงการปรับการปรุงอาหารให้เป็นแบบมังสวิรัติและวีแกนที่แตกต่างจากการปรุงอาหารทั่วไป คือต้องสรรหาวัตถุดิบที่ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นส่วนผสมเลย ซึ่งมีความท้าทายอยู่บ้าง

“เราต้องดู ingredient list ต้องเลือกดีๆ เพราะส่วนผสมบางอย่างที่เราไม่คิดว่าจะมีเนื้อสัตว์อยู่ แต่เขาอาจจะผสมผงสัตว์ หรือผงนมเข้าไป เราต้องเลือกให้ดีๆ โดยเฉพาะพวกซอส อย่างน้ำพริกเผา ถ้าเราไม่ระวัง เขาก็จะใส่พวกกุ้ง พวกปลาเข้าไป เราก็ต้องเลือกดู” คุณแพม อธิบาย
Pam Pam 5.jpeg
อาหารแบบมังสวิรัติและวีแกนของคุณแพม Source: Supplied / Pimarada Watcharadechmontri
จากประสบการณ์นำสินค้าวางจำหน่ายตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย คุณแพมแนะนำให้ธุรกิจขนาดเล็กๆ ต้องอย่าลืมสร้างฐานลูกค้าของตัวเองโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยพร้อมกัน

“ที่เป็นออนไลน์ เราสามารถควบคุมเรื่องต้นทุน เรื่องราคาได้ และเหมือนจะได้กำไรมากกว่า ในด้านการขายปลีกเราเปลี่ยนโครงสร้างจากขายทางซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว มาเน้นออนไลน์มากขึ้น เพราะถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆ แพมแนะนำว่าเราส่งขายของเราเองดีกว่าและสร้างฐานลูกค้าของตัวเองดีกว่า เพราะถ้าส่งแต่ทางห้าง แล้วห้างเขาเทเนี่ย เราก็จบ เราจะไปเน้นส่งขายทางซูเปอร์มาร์เก็ตมากไม่ได้ เราต้อง balance ตัวเองด้วย ถ้าเรามีฐานลูกค้าของเราเองทางออนไลน์ เราก็สามารถติดต่อลูกค้าได้ เรารู้ว่าใครซื้อกับเรา”
Pam Pam 2.jpeg
คุณแพมกับสินค้าของเธอที่จำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่บางแห่งในออสเตรเลีย Source: Supplied / Pimarada Watcharadechmontri
ถ้าเป็นธุรกิจเล็กๆ เราส่งขายของเราเองและสร้างฐานลูกค้าของตัวเองดีกว่า เพราะถ้าส่งแต่ทางห้างอย่างเดียว แล้วห้างเขาเทเนี่ย เราก็จบ
พิมพ์อารดา วัชรเดชมนตรี (แพม)
คุณแพมยังได้ฝากแง่คิดที่สำคัญสำหรับคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจอย่างจริงจังในออสเตรเลียว่า

“สำคัญที่สุด คือตัวสินค้าและการวาง position ในตลาด การวาง position สินค้าในตลาดของเรานั้น เรามีฐานลูกค้าเพียงพอไหม เราต้องวางแผนก่อนว่าลูกค้าสนใจอะไร และเราต้องไม่ไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่มากเกินไป คืออย่าไปทับซ้อนกับเขา สินค้าของเราต้องไม่มีกลุ่มลูกค้าเล็กที่เกินไป เพราะถ้าเล็กเกินไป ไม่ว่าจะทำการตลาดยังไง มันก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องอยู่กลางๆ และพยายามหาตัวเอง”

กด ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
กดฟังสัมภาษณ์
thai_210922_Pam Pam Business Tips image

คุณ พิมพ์อารดา วัชรเดชมนตรี เจ้าของ Pam Pam Asian Plant-based Cuisine แบ่งปันประสบการณ์เริ่มธุรกิจผลิตอาหารในออสเตรเลีย ถ้าจะเข้าสู่วงการนี้อย่างจริงจัง ต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง

SBS Thai

23/09/202218:36
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share