วันที่ 26 มกราคมมีความหมายต่อชนพื้นเมืองออสเตรเลียอย่างไร?

BRISBANE INVASION DAY RALLY

ภาพวันเดินขบวนในวันชาติออสเตรเลีย ที่บริสเบน ปี 2024 Source: AAP / JONO SEARLE

วันที่ 26 มกราคมเป็นวันชาติของออสเตรเลีย เป็นวันที่ผู้ย้ายถิ่นที่มักเฉลิมฉลองบ้านใหม่ของพวกเขา แต่สำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส วันที่ 26 มกราคมถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาอันเจ็บปวด


ประเด็นสำคัญ
  • วันที่ 26 มกราคมเป็นวันที่ชาวอังกฤษชักธง 'ยูเนียน แจ็ค' ขึ้นที่ซิดนีย์ โคฟ เมื่อปี 1788
  • วันชาติออสเตรเลียถือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมอังกฤษและประวัติศาสตร์อันโหดร้ายสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย
  • ผลสำรวจระบุว่าประชากรออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังต้องการให้วันชาติออสเตรเลียคงเป็นวันที่ 26 มกราคมต่อไป

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

วันที่ 26 มกราคมนับเป็นวันชาติออสเตรเลีย แต่สำหรับชนพื้นเมืองและชาวออสเตรเลียหลายคน นี่ไม่ใช่วันที่เหมาะแก่การเฉลิมฉลอง

โบ เสปียร์ริม นักเคลื่อนไหวและผู้จัดรายการพอดคาสต์ชาวกามิลารอย คูมา และมูราวารี รู้สึกเศร้าทุกครั้ง เมื่อวันนี้มาถึง
สำหรับผม เมื่อเช้าของวันที่ 26 มาถึง ผมรู้สึกเหมือนต้องไปงานศพ ผมรู้ว่ามีเรื่องที่เลวร้ายเกิดขึ้น มันเป็นความรู้สึกที่เศร้ามาก
สเปียร์ริมกล่าว
BRISBANE INVASION DAY RALLY
กิจกรรมส่วนหนึ่งในวันชุมนุมประท้วง ในวันชาติออสเตรเลีย ที่เมืองบริสเบน Source: AAP / JONO SEARLE
วันที่ 26 มกราคมเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งอาณานิคมในออสเตรเลีย เป็นวันที่อังกฤษชักธง ‘ยูเนียน แจ็ค’ ขึ้นที่ซิดนีย์ โคฟเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1788

และรัฐบาลออสเตรเลียกำหนดให้วันชาติออสเตรเลียตรงกับวันที่ 26 มกราคมตั้งแต่ปี 1935 รวมถึงประกาศให้เป็นวันหยุดราชการระดับประเทศในปี 1994

ชาวออสเตรเลียมักเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียโดยการรับประทานบาร์บีคิวกับเพื่อนหรือกับครอบครัว ไปเที่ยวชายหาด หรือชมดอกไม้ไฟในงานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงจัดพิธีมอบสัญชาติในวันนี้ด้วย

ในทางกลับกัน ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสมักประท้วงให้วันที่ 26 มกราคมเป็น "วันไว้อาลัย (A Day of Mourning)" ตั้งแต่ปี 1938 เป็นต้นมา และมีชาวออสเตรเลียปฏิเสธที่จะเฉลิมฉลองวันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เลื่อนวันหยุดประจำชาติไปเป็นวันอื่น

ดร. ซัมเมอร์ เมย์ ฟินเลย์ หญิงชาวยอร์ตา ยอร์ตา และอาจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยวูลองกองอธิบายว่าวันที่ 26 มกราคมเป็นวันที่โหดร้ายสำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่คนพื้นเมืองถูกยึดครองดินแดนและถูกพรากจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

“นี่คือจุดเริ่มต้นของการเหยียดเชื้อชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกปฏิบัติ เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่ผู้คนของเราถูกตัดสิทธิ์จากชุมชนและประเทศที่บรรพบุรุษของเราถือครองมาเป็นเวลา 65,000 ปี ดังนั้นวันนี้ที่ผู้คนเฉลิมฉลอง วันที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมอันเจ็บปวดและยาวนานต่อเนื่องสำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส”
MELBOURNE INVASION DAY RALLY
การชุมนุมในวันชาติออสเตรเลียหน้ารัฐสภา ที่รัฐวิกตอเรีย เมื่อปี 2024 Source: AAP / Diego Fedele
การล่าอาณานิคมของอังกฤษสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาวพื้นเมืองออสเตรเลียที่ต้องเผชิญกับการถูกยึดครองที่ดิน การสังหารหมู่ โรคระบาด และการบังคับพรากเด็กพื้นเมืองไป

ผลกระทบจากการล่าอาณานิคมยังคงส่งผลมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ผลกระทบด้านสุขภาพ และการขาดผู้แทนพื้นเมืองในระบบยุติธรรม

ดร. ฟินเลย์เรียกร้องให้ชาวออสเตรเลียทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านนี้

“ฉันคิดว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยมในหลายๆ ด้าน ฉันมั่นใจว่าผู้คนที่มาเยือนประเทศนี้และเป็นพลเมืองใหม่รับรู้ถึงสิ่งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เรามีประวัติศาสตร์ในประเทศนี้ที่ไม่ดีนักและไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก”
New Australian citizens
พิธีรับสัญชาติออสเตรเลีย ที่โบรกเคน ฮิลล์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ Source: AAP / STUART WALMSLEY
แม้จะมีการถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันที่ของวันชาติออสเตรเลียทุกปี แต่ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้วันออสเตรเลียเป็นวันที่ 26 มกราคม

เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ของวันนี้ ชาวออสเตรเลียบางคนเรียกวันนี้ว่า “วันรุกราน (Invasion Day)” หรือ “วันเอาชีวิตรอด (Survival Day)” และกลุ่มชนพื้นเมืองจะจัดงานเดินขบวน ชุมนุม พิธีสวดภาวนาตอนเช้ามืด และงานส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นเมืองทั่วประเทศในวันที่ 26 มกราคม

รานา ฮุสเซน สมาชิกคณะกรรมการของ Reconciliation Australia องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ส่งเสริมการปรองดองระหว่างชาวพื้นเมืองและชาวออสเตรเลีย

เธอกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความหวังและความสามัคคี

“คุณรู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และรู้สึกถึงความหวังเมื่อได้อยู่ร่วมกับชุมชน ในฐานะพันธมิตรชนพื้นเมืองฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะยืนหยัดเคียงข้างชนพื้นเมืองในเวลาที่พวกเขาผลักดันให้เปลี่ยนแปลงวันที่หรือยอมรับมากขึ้นว่าวันนี้มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไรจริงๆ”
ในฐานะผู้ย้ายถิ่น คุณฮุสเซนเข้าใจดีว่าทำไมผู้อพยพหลายคนจึงต้องการเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ใหม่ของตน

อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าชาวออสเตรเลียทุกคนจำเป็นต้องมีการสนทนาอย่างจริงจังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของประเทศของเรา ก่อนที่เราจะสามารถหาวิธีที่เฉลิมฉลองได้อย่างเหมาะสม

“ฉันคิดว่าเราต้องมีการสนทนาเรื่องนี้ในระดับประเทศ เพื่อที่เราจะสามารถพูดคุยกันได้ว่าวันไหนที่เราต้องการเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดนั้น จากนั้นจึงมาร่วมกันคิดว่า วันไหนจึงจะเหมาะสมที่จะหลอมรวมพวกเราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน"

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share