อำนาจอธิปไตย สนธิสัญญา การยอมรับ: เหตุใด 26 ม.ค. จึงเป็นวันที่ยากเย็นสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลีย

26 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่ออสเตรเลียได้รำลึกถึงวันแห่งการตั้งอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1788 แต่การเรียกวันเริ่มต้นของการตั้งอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษว่าเป็น วันชาติออสเตรเลีย (Australia Day) เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงกว้าง สำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสนั้น พวกเขาประท้วงเกี่ยวกับวันที่ 26 ม.ค. มาตั้งแต่ปี 1938 โดยมองว่าวันดังกล่าวเป็น ‘วันแห่งการไว้อาลัย (Mourning Day)’ ขณะที่ไม่นานมานี้ มีหลายคนเรียกวันดังกล่าวว่า ‘วันแห่งการรุกราน (Invasion Day)’ หรือ ‘วันแห่งการเอาชีวิตรอด (Survival Day)’

Watu washiriki katika maandamano ya "siku ya uvamizi" kwenye siku kuu ya Australia mjini Melbourne 26 January, 2018.

Watu washiriki katika maandamano ya "siku ya uvamizi" kwenye siku kuu ya Australia mjini Melbourne 26 January, 2018. Source: Getty

เบื้องหลังของวิธีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ใช้ในการอธิบายความหมายของ “วันที่ 26 มกราคม”​ มีสาระสำคัญอยู่ที่แนวคิดในเรื่องของอำนาจอธิปไตยโดยกำเนิดที่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียมีอยู่เหนือดินแดนของพวกเขา ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษา กฎหมาย นโยบาย สุขภาพ ฯลฯ ก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามาตั้งรกราก และอำนาจอธิปไตยดังกล่าวไม่เคยมีการมอบให้กับผู้ใด

แต่อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่แตกต่างในหมู่ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ในการรับรู้ถึงอำนาจอธิปไตยว่าควรเป็นไปอย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายในสาธารณะของออสเตรเลีย เกี่ยวกับ ‘การยอมรับ’ ‘สนธิสัญญา‘เสียงของผู้คน’ และ ‘ความจริง’ 
Australians Celebrate Australia Day As Debate Continues Over Changing The Date
Australians Celebrate Australia Day As Debate Continues Over Changing The Date Source: Getty Images

การยอมรับการมีอยู่ (Recognition)

หนึ่งในแนวทางการรับรู้การมีอยู่ของชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสซึ่งได้รับการนำเสนอ คือการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย เพื่อให้ยอมรับการมีอยู่ของชนพื้นเมือง โดยกระบวนการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูณนั้น ได้รับการสนับสนุนจากคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญนับสิบคน การไต่สวนของวุฒิสภา คณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญ และสภาประชามติ รวมถึงรายงานและขอเสนอแนะตั้งแต่ช่วงปี 1980

แม่บทที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายและเป็นที่รู้จักดีนั้นมีชื่อว่า “แถลงการณ์อุลูรูจากหัวใจ (The Uluru Statement from the Heart)” ซึ่งเป็นบทสรุปของการพูดคุยและฟังความเห็นซึ่งกันและกันเป็นเวลา 13 วันในหมู่ตัวแทนชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสทั่วประเทศ



นายดีน พาร์กิน (Dean Parkin) ผู้อำนวยการโครงการ ‘From the Heart’ ซึ่งเป็นโครงการในการสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชน เพื่อมุ่งสร้างการสนับสนุนสำหรับแถลงการณ์อุลูรู (Uluru Statement) โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คณะที่ปรึกษาชาวอะบอริจินได้รับการผนวกไว้ในรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย กล่าวว่า พวกเขากำลังทำงานเพื่อสร้างการสนับสนุนจากประชาชนไปยังรัฐสภา

“จุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่แถลงการณ์อุลูรู 100% ดังนั้น เสียงของผู้คน สนธิสัญญา รวมถึงความจริงนั้น ถือเป็นวาระสำคัญของเรา และอย่างที่ผมกล่าวไป แนวคิดของเสียงผู้คนไปสู่รัฐสภานั้น คือตัวแทนของชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส และส่งเสียงไปยังรัฐสภา ส่งเสียงไปยังระบอบประชาธิปไตยของออสเตรเลีย และทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่ถูกปัดตกไป เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมา” นายพาร์คิน กล่าว 

เสียงของผู้คน (Voice)

จุดมุ่งหมายในการทำให้เกิดการรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส คือการให้กลุ่มคนเหล่านี้ “มีเสียง” เพื่อทำให้พวกเขามีอิทธิพลในการตัดสินใจต่าง ๆ ที่สร้างผลกระทบกับชุมชนของตนเอง

ขณะที่บางส่วนคิดว่า เสียงของพวกเขาจะมีผลได้ ก็ต่อเมื่อมีการตั้งตัวแทนเพื่อเป็น “กระบอกเสียงไปยังรัฐบาล” แทนที่จะเป็น ”การส่งเสียงไปยังรัฐสภา” ตามที่ นายเคน ไวแอตต์ (Ken Wyatt) รัฐมนตรีเพื่อชนพื้นเมืองออสเตรเลีย แนะนำ

“ความเป็นจริงก็คือ คุณสามารถที่จะส่งเสียงไปยังรัฐสภาได้ แต่การเป็นกระบอกเสียงไปยังรัฐบาลนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล พวกเขาเป็นคนที่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ พวกเขาเป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ พวกเขาเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมาย และนั่นคือกลุ่มคนที่คุณต้องโน้มน้าว ซึ่งนั่นก็คือรัฐบาล จากนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำจะมีอิทธิพลต่อรัฐสภา” นายไวแอตต์ กล่าว
Minister for Indigenous Australians Ken Wyatt speaks to the media during a press conference at Parliament House in Canberra, Tuesday, August 17, 2021.
Minister for Indigenous Australians Ken Wyatt speaks to the media during a press conference at Parliament House in Canberra, Tuesday, August 17, 2021. Source: AAP Image/Lukas Coch
สำหรับ นางดานี ลาร์กิน (Dani Larkin) ชาวบันจาลัง (Bundjalung) และชาวคุนการากัน (Kungarakan) มองว่า ข้อเสนอในการตั้งองค์กรตามกฎหมาย แต่ไม่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญออสเตรเลียนั้น ถือเป็น “เรื่องน่าเสียดาย” และ “น่าผิดหวัง” 

“ดิฉันพิจารณาในสิ่งที่เขาได้ทำการสนับสนุน แนวคิดของการเป็นพลเมือง และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวพื้นเมืองออสเตรเลียในปัจจุบัน ทั้งในแง่ร่วมสมัยและในเชิงปฏิบัติ ดิฉันเห็นว่า การส่งเสียงไปยังรัฐสภานั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเราในการก้าวไปข้างหน้า” นางลาร์กิน กล่าว

สนธิสัญญา (Treaty)

อีกแนวคิดหนึ่งที่มีการอภิปรายเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง นั่นคือ “สนธิสัญญา” ซึ่งเป็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาล และชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย ในการรับรู้การมีอยู่ของชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส ก่อนที่กลุ่มชาวอังกฤษจะเดินทางมาตั้งรกราก และเกิดการยึดผืนแผ่นดินและอำนาจในเวลาต่อมา

สำหรับหลาย ๆ คน ประเด็นเรื่อง “สนธิสัญญา”​ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับรัฐ ควรเป็นจุดแรกในการส่งเสียงไปยังรัฐสภา ซึ่งนั่นจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงการยอมรับในอำนาจอธิปไตย และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง และการกล่าวความจริง เช่นเดียวกับที่นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้ปฏิบัติต่อชาวพื้นเมืองของตนเอง

เรื่องนี้กลายเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียกลุ่มหนึ่งประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ประชุม Uluru submit เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง นางลิเดีย ธอร์ป (Lidia Thorpe) ชาวกุนไน (Gunnai) และชาวกุนดิจมารา (Gunditjmara) ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐวิกตอเรีย

นางธอร์ป เป็นสมาชิกวุฒิสภาของพรรคกรีนส์จากรัฐวิกตอเรีย และได้ให้คำมั่นในการสนับสนุนการทำสนธิสัญญา โดยระบุว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการก้าวสู่การรับรู้การมีอยู่ของชาวพื้นเมืองออสเตรเลียในอนาคต
Lidia Thorpe
Senator Lidia Thorpe during a smoking ceremony at the Aboriginal Tent Embassy at Parliament House in Canberra. Source: Getty Images
“เราต้องต่อกรกับความอยุติธรรม และการกดขี่มามากกกว่า 240 ปี และยังไม่พบกับข้อยุติใด ๆ หรือการสนทนาให้เกิดข้อยุติ และดิฉันเชื่อว่ากลไกในการที่จะทำให้เกิดข้อยุติได้นั้นคือการทำสนธิสัญญา และมันจะต้องจัดทำขึ้นโดยมวลชน เพื่อมวลชน” นางธอร์ป กล่าว

แม้ว่าการทำสนธิสัญญานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทำประชามติ นางธอร์ป เชื่อว่า ยังคงต้องมีกระบวนการปรึกษาหารือที่มีความละเอียดและครอบคลุม เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ สามารถเลือกลงความเห็นได้ว่าต้องการจะเข้าร่วมในสนธิสัญญาหรือไม่

“มันเป็นสิทธิ์ของพวกเขาในการตัดสินใจว่า พวกเขาต้องการอะไร และอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา มีตัวอย่างมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในนิวซีแลนด์ มีบางชนเผ่าที่ไม่เข้าร่วมในสนธิสัญญาไวตังงี (Waitangi Treaty) ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องใช้เวลา” นางธอร์ป กล่าว 

“เราต้องทำให้ให้แน่ใจว่า เรามีการสนทนาด้วยความเคารพกับผู้คน และเปิดโอกาสให้ผู้คนทุก ๆ คน เข้ามาร่วมโต๊ะสนทนา ไม่ใช้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญมาเท่านั้น ซึ่งนั่นจะปิดโอกาสไม่ให้คนรากหญ้าได้มีส่วนร่วม”    

เมื่อพูดถึงประเด็นอำนาจอธิปไตย กลุ่มนักเคลื่อนไหวจากรากหญ้า คือเป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อนเพื่อให้ชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาเป็นเวลานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มเยาวชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสบางส่วน ยอมรับแนวคิดการทำสนธิสัญญา และปฏิเสธแนวคิดของการทำประชามติ หรือการเป็นที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญ ที่หมายถึงการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจอาณานิคมที่พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับ

ในความคิดเห็นของพวกเขา ขอบเขตอำนาจอาณานิคมนั้น มีความขัดแย้งกับอำนาจอธิปไตยของชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย รวมถึงสิทธิ์โดยกำเนิดในการตัดสินใจด้วยตนเอง 

เยาวชนกลุ่มนี้ได้สร้างภูมิทัศน์ทางการเมืองผ่านทางอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ตลอดจนการประสานงาน และการระดมแนวร่วมในการประท้วงตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

ในแนวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรับรู้ถึงการมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มนักรบแห่งชาวอะบอริจินผู้ต่อต้าน (Warriors of the Aboriginal Resistance หรือ WAR)

นายโบ สเปียร์ริม (Boe Spearim) ชาวกามิลารอย (Gamilaraay) คูมา (Kooma) และชาวมูรูวารี (Muruwari) กล่าวว่า ทางกลุ่มมีแนวคิดต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “จากบนลงล่าง”​ มาตลอด  

“ผมเดาว่า สิ่งที่พวกเขาทำก็เป็นไปในลักษณะของการเสวนากับชุมชน แต่ไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างที่ควรทำ สำหรับชาวอะบอริจินนั้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่เรามองหา หรือต้องการที่จะเจรจาด้วย” นายสเปียร์ริม กล่าว 

“การทำสนธิสัญญายังเป็นเรื่องที่เรายังผลักดัน และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาของเราต่อไป”
Protest against Australia Day in Melbourne
Indigenous activists and supporters protesting in Melbourne on 26 January 2019. Source: Getty Images
จุดยืนอย่างเป็นทางการของกลุ่ม WAR นั้น คือการไม่มีส่วนร่วมกับโครงสร้างอำนาจอาณานิคม แต่นายสเปียร์ริม กล่าวว่า จุดสำคัญของ ในการเลือกรูปแบบการปกครองด้วยตนเองนั้น คือการเปิดโอกาสให้ชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรสสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง 

นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายถึงภาพของสำเร็จในประเด็นของการรับรู้

นายไมเคิล แมนเซล (Michael Mansell) ชาวปาลาวา (Palawa) นักเคลื่อนไหว ทนายความ และประธานสภาดินแดนชาวอะบอริจินแห่งรัฐแทสเมเนีย เชื่อว่า ชาวอะบอริจินมีทางเลือก 2 อย่าง ระหว่างการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ และการรับรู้เชิงความหมาย  

“การรับรู้เชิงสัญลักษณ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2007 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ กล่าวขอโทษต่อประชาชนรุ่นที่ถูกพราก (Stolen Generation)” นายแมนเซล กล่าว

นายแมนเซล ยังได้ให้รายละเอียดถึงการทำให้เกิดการยอมรับอย่างมากของชาวอะบอริจินได้อย่างไร

“มันไม่ใช่ขั้นตอนที่มีความซับซ้อน หากสนธิสัญญาได้มีการเสนอไปยังรัฐสภา ให้รัฐสภาประกาศกฎหมายในส่วนของการแต่งตั้งตัวแทนชาวอะบอริจินระดับชาติที่มีความน่าเชื่อถือ และตัวแทนดังกล่าวจะจัดลำดับความสำคัญในการกระจายทรัพยากร เพื่อให้ชุมชนชาวอะบอริจินได้รับประโยชน์” นายแมนเซล กล่าว 

“และอย่างที่สอง ผมต้องการให้รัฐสภาประกาศกฎหมายแต่งตั้งคณะกรรมการสนธิสัญญา โดยคณะทำงานดังกล่าวจะทำการร่างสนธิสัญญาขึ้น ผมคิดว่าด้วยสองสิ่งนี้ มันจะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงกับชีวิตของชาวอะบอริจิน” นายแมนเซล อธิบาย


รัฐบาลสหพันธรัฐได้รวมหน่วยงานที่ปรึกษา 3 หน่วยงาน ในการร่วมออกแบบ ‘เสียง’ ของผู้คนชาวอะบอริจิน โดยทำงานในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น 

ศาสตราจารย์ทอม คาลมา (Prof Tom Calma) เป็นประธานร่วมของกลุ่มที่ปรึกษาอาวุโสของ Voice co-design หน่วยงานร่วมออกแบบเสียงชนพื้นเมืองของรัฐบาลสหพันธรัฐ เขาอธิบายว่า หน้าที่ของพวกเขา คือการเสนอแนวทางในรูปแบบต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเลือกแนวทางของเสียงชนพื้นเมืองในรูปแบบใด
Scenes In The Winter Light Of Australia
The red rock face of Uluru at sun set, the sacred home for thousands of years of the Yankunytjatjara and Pitjantjatjara people in the central Australian desert. Source: Getty Images AsiaPac
เขาอธิบายว่า ในตอนนี้ได้มีการรวมกลุ่มของคณะทำงานในการร่างสนธิสัญญาแล้ว  แต่หน้าที่ขององค์กรดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่การพิจารณาสนธิสัญญา แต่เป็นของเสียงชนพื้นเมืองที่จะสื่อไปยังรัฐบาล

เมื่อรายงานของทางหน่วยงานแล้วเสร็จ แผนของรัฐบาลสหพันธรัฐก็คือ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารายงานดังกล่าว แล้วเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ จากนั้นก็ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทั้งหมดนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในครั้งต่อไป  

สำหรับกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะประนีประนอมกับแนวทางของพวกเขาที่ได้รับการสนับสนุน ศาสตราจารย์คาลมา กล่าวว่า ชาวอะบอริจินจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการมองในปัจจุบันว่า เราสามารถทำอะไรได้บาง อะไรที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องสูญเสียบูรภาพของชาวอะบอริจิน และชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส เรามีนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนรัฐมนตรีเพื่อชนพื้นเมืองออสเตรเลีย และต้องการส่งเสียงไปยังรัฐบาล และส่งเสียงไปยังรัฐสภา และเราต้องยึดโอกาสนั้นไว้ และใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้นขณะที่เราทำได้”    

การต่อสู้เพื่อความก้าวหน้าของชาวอะบอริจิน และชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส เกิดขึ้นนับตั้งแต่ชาวยุโรปได้เดินทางมาถึงชายฝั่งของชาวอะบอริจิน

เมื่อต้องตัดสินระหว่างความแตกต่างของรูปแบบในการรับรู้ถึงการมีอยู่นั้น ชุมชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะแห่งช่องแคบทอร์เรส เห็นพ้องตรงกันว่า ควรสร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ในลักษณะเชิงความหมายในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย ระหว่างที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เรื่องของการรับรู้การมีอยู่ และเสียงของชนพื้นเมืองนั้นเป็นวาระสำคัญของชาติ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 25 January 2022 1:27pm
Updated 12 August 2022 2:54pm
By NITV, Essam Al-Ghalib
Presented by Tinrawat Banyat
Source: NITV


Share this with family and friends