กด ▶ เพื่อฟังรายงาน
LISTEN TO
ธนาคารกลางออสเตรเลียถูกกดดันให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
SBS Thai
29/04/202206:24
ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อประจำปีของออสเตรเลียไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและค่าที่อยู่อาศัย
ตัวเลขล่าสุดของสำนักสถิติแห่งออสเตรเลีย ชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับไตรมาสเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 2.1 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อัตราดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปีอยู่ที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์
ครั้งล่าสุดที่อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ ในช่วงการเริ่มต้นเก็บภาษีสินค้าและบริการ หรือจีเอสที ในสมัยรัฐบาลฮาเวิร์ด ในเดือนมิถุนายน 2000 เป็นต้นมา
จากนั้นราคาสิ่งต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นปีละ 6 เปอร์เซ็นต์
แต่ปีที่ผ่านไม่ได้น้อยกว่านั้นมากนัก คืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 5.1 เปอร์เซ็นต์จาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้
ซึ่งนั่นเป็นข่าวร้ายสำหรับรัฐบาลซึ่งอยู่ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
แต่นายจอช ไฟรเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของสหพันธรัฐ ปฏิเสธว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาล
"ตัวขับเคลื่อนหลักได้แก่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหารและค่าขนส่ง เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในครั้งเดียวของราคาน้ำมัน โดยเพิ่มขึ้น 11เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสนี้ และเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ตลอดทั้งปี นี่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในครั้งเดียวที่เป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่คูเวตรุกรานอิรักเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วในปี 1990 ออสเตรเลียไม่ได้มีภูมิคุ้มกันจากแรงกดดันระหว่างประเทศที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ การระบาดใหญ่ของโควิดนำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ในบางกรณี เพิ่มขึ้นห้าเท่าหรือมากกว่า" นายไฟรเดนเบิร์ก กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังยังคงมั่นใจว่า จากอัตราการว่างงานที่ต่ำ ค่าแรงจะเริ่มเพิ่มขึ้นทันอัตราเงินเฟ้อ
" 4.25 เปอร์เซ็นต์เป็นอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ และ 2.75 เปอร์เซ็นต์เป็นอัตราที่คาดไว้สำหรับอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง สิ่งที่คาดหวังไว้ในร่างงบประมาณแผ่นดินคือ อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้างจะอยู่ที่ 3.25 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เรากำลังพูดถึงในตอนนี้ในตลาดแรงงานที่มีลูกจ้างไม่พอความต้องการ นายจ้างกำลังแย่งลูกจ้างกันและนั่นจะกดดันให้ค่าแรงสูงขึ้น" นายไฟรเดนเบิร์ก กล่าว
แต่นายจิม ชาลเมอส์ โฆษกด้านการคลังของพรรคฝ่ายค้านสหพันธรัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างในประเทศมีราคาสูงขึ้น ยกเว้นค่าจ้างของลูกจ้าง
“แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเหล่านี้ได้ก่อตัวขึ้นในระบบเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งแล้ว แรงกดดันด้านค่าครองชีพได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามในยูเครน อำนาจการซื้อที่แท้จริงของค่าจ้าง (real wage) กำลังก้าวถอยหลังในประเทศนี้ ก้าวถอยหลังมากกว่าในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ เสียอีก จากราคาสิ่งต่างๆ ที่พุ่งสูงทะลุเพดาน อำนาจการซื้อที่แท้จริงของค่าจ้างกำลังตกลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดเข้าไปอีก" นายชาลเมอส์ โฆษกด้านการคลังของพรรคฝ่ายค้าน กล่าว
ด้านนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวในระหว่างเดินทางรณรงค์หาเสียงก่อนการเปิดเผยสถิติเหล่านี้ โดยเขากล่าวว่า เขาตระหนักดีถึงผลกระทบจากราคาสิ่งต่างๆ ที่สูงขึ้น
"มีแรงกดดันมากมายต่อออสเตรเลียในขณะนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจมากมาย และเรารู้ว่าชาวออสเตรเลียต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และนี่ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจของเรามีปัจจัยที่กำลังผันผวนมากมาย ซึ่งทุกส่วนตกอยู่ภายใต้ความกดดัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (underlying inflation rate) ซึ่งตัดเอาความผันผวนของราคาออกไปและให้ภาพที่ดีขึ้นของสถานการณ์ในระยะยาว ก็เพิ่มขึ้นจาก 1.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 3.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้เช่นกัน
นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย (RBA) คาดไว้ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์
และนั่นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อธนาคารกลางแห่งออสเตรเลียจะมีการประชุมครั้งสำคัญในสัปดาห์หน้า
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สหภาพแรงงานออสฯ ดันเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 5% สู้เงินเฟ้อ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ไทยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเริ่ม 1 พ.ค.