สหภาพแรงงานออสฯ ดันเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 5% สู้เงินเฟ้อ

สภาสหภาพแรงงานออสฯ เตรียมผลักดันข้อเสนอเพิ่มค่าจ้างให้คนทำงานค่าแรงต่ำ 5% เข้าที่ประชุมพิจารณาค่าจ้างประจำปีของแฟร์เวิร์ก วอนรัฐบาลหนุนข้อเสนอ ชี้เงินให้เปล่าในร่างงบฯ โฉมใหม่ไม่ช่วยคนทำงานอย่างยั่งยืน

Australian Council of Trade Unions (ACTU) Secretary Sally McManus at Parliament House in Canberra.

Australian Council of Trade Unions (ACTU) Secretary Sally McManus at Parliament House in Canberra. Source: AAP

ประเด็นสำคัญ

  • สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (ACTU) ผลักดันข้อเสนอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 5% โดยระบุว่าอัตราเติบโตค่าจ้างที่ผ่านมาช้ากว่าคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ
  • หากข้อเสนอได้เข้าสู่การพิจารณาเพิ่มค่าจ้างประจำปีของคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กสำเร็จ ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นเป็นชั่วโมงละ $21.35 ดอลลาร์ จากปัจจุบันชั่วโมงละ $20.33 ดอลลาร์
  • ประธาน ACTU ขอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนในข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยระบุว่ามาตรการเงินให้เปล่าในงบประมาณแผ่นดินที่ประกาศไปไม่นานจะไม่ช่วยให้การเติบโตค่าจ้างมีความยั่งยืน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลอัตราเงินเฟ้อรายปีอาจพุ่งสูงถึงอย่างน้อย 5%

สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (The Australian Council of Trade Union) จะผลักดันการเพิ่มค่าจ้างร้อยละ 5 สำหรับคนทำงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ (low-paid workers) โดยหากข้อเสนอดังกล่าวได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาค่าจ้างประจำปีของคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (Fair Work Ombusman) สำเร็จ จะเพิ่มขึ้นเป็น $21.35 ดอลลาร์ และทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำรายปีเพิ่มเป็น $42,183.96 ดอลลาร์

มีลูกจ้าง 1 ใน 4 จากทั้งหมด หรือมากกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ พึ่งพาการพิจารณาค่าจ้างประจำปีของแฟร์เวิร์กเพื่อให้ค่าจ้างของพวกเขาเพิ่มขึ้น

แซลลี แม็กมานัส (Sally McManus) ประธานสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (The Australian Council of Trade Union) กล่าวว่า คนทำงานจำเป็นต้องได้รับการเพิ่มค่าจ้างขึ้นร้อยละ 5 เพื่อให้ตามทันกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

“เรากำลังเรียกร้องไปยัง (นายกรัฐมนตรี) สกอตต์ มอร์ริสัน ในการสนับสนุนคนทำงานในออสเตรเลีย และสนับสนุนการเพิ่มอัตราค่าจ้าง” นางแม็กมานัส กล่าวในแถลงการณ์ในวันนี้ (31 มี.ค.)

“หากรัฐบาลนี้จริงจังกับการแก้ไขปัญหาแรงกดดันจากค่าครองชีพ มันจะเริ่มต้นที่การเติบโตของอัตราค่าจ้าง”

สัปดาห์นี้ รัฐบาลสหพันธรัฐได้แถลง โดยเน้นมาตรการใหม่เพื่อลดความกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูง

มาตรการสำคัญได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงลง 22 เซนท์ต่อลิตร ภาษีชดเชยค่าครองชีพแบบให้ครั้งเดียว (cost of living tax offset) จำนวน $420 ดอลลาร์สำหรับชาวออสเตรเลียรายได้น้อยถึงปานกลางมากกว่า 10 ล้านคน และเงินบรรเทาภาระค่าครองชีพ (Cost of living payment) $250 ดอลลาร์ ให้กับผู้รับบำนาญ ผู้ให้การดูแล ทหารผ่านศึก ผู้หางาน ผู้เกษียณที่จ่ายเงินบำนาญให้ตนเองที่มีสิทธิ์ และผู้ถือบัตรสิทธิ์ลดหย่อน (concession card)

การพิจารณาค่าจ้างประจำปีของแฟร์เวิร์กเมื่อปีงบประมาณ 2020-21 ที่ผ่านมา ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เท่ากับ $20.33 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ $772.60 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ โดยในการพิจารณาครั้งนั้น สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (ACTU) ได้โต้แย้งให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขึ้นร้อยละ 3.5 ขณะที่กลุ่มธุรกิจเสนอให้ขึ้นค่าจ้างในอัตราร้อยละ 1.1
นางแม็กมานัส กล่าวว่า อัตราการเติบโตค่าจ้างนั้นตามไม่ทันคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทำให้รายได้ของคนทำงานทั่วไปหลังหักภาษีลดลงไป $500ดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้

“การเพิ่มค่าจ้าง 5% ที่สภาสหภาพแรงงานได้เรียกร้องนั้นคือสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้อัตราค่าจ้างเติบโตอย่างแท้จริง และหลีกเลี่ยงการที่ค่าจ้างถูกตัดลดลงไปในอนาคต” นางแม็กมานัส กล่าว

“เงินให้เปล่าในร่างงบประมาณสหพันธรัฐของรัฐบาลนายมอร์ริสัน จะไม่ช่วยสร้างการเติบโตค่าจ้างระยะยาวที่ยั่งยืนซึ่งคนทำงานต้องการ และจะไม่หยุดความเดือดร้อนของแรงงานในชาติจากการถูกหักลดค่าจ้างอีกปี”

จอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) ว่ามาตรการต่าง ๆ ในร่างงบประมาณฉบับนี้ ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือชีวิตผู้คนจริง ๆ ในขณะนี้

“มีความจำเป็นในตอนนี้ สำหรับการสนับสนุนชั่วคราวอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งเป้า สิ่งที่เราได้ทำในร่างงบประมาณนี้ก็คือการได้พบเห็นการปรับปรุงอย่างเป็นประจักษ์ในส่วนที่สำคัญที่สุด” นายฟรายเดนเบิร์ก กล่าวกับวิทยุเอบีซี เนชันแนล (ABC Radio National) เมื่อเช้าวานนี้

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงินกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อคำนวณเป็นรายปีอาจเพิ่มขึ้นไปอย่างน้อยร้อยละ 5 จากอัตราปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 3.5


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ออสเตรเลียอนุมัติวัคซีนโควิดเข็มที่ 4


Share
Published 31 March 2022 12:06pm
Updated 31 March 2022 1:35pm
By SBS/AAP
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP, SBS

Share this with family and friends