จากคนที่เคยหัวเราะแล้วบอกว่า ‘ฉันนี่เหรอจะเกิดภาวะ baby blue’ คุณ จิตรลดา เชเวียร่า หรือปุ้ย เล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอร้องไห้โฮกับเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์เมื่อได้เผยถึงความรู้สึกซึมเศร้าที่ถูกเก็บไว้ข้างในไม่ให้ใครรู้ขณะที่เธอเลี้ยงลูกน้อย เธอย้ำว่าภาวะเช่นนี้เกิดได้กับคุณแม่คนไหนก็ได้ แต่ยังมีทางออก อย่างที่เธอเคยได้รับความช่วยเหลือมาแล้วช่วงที่เป็นคุณแม่มือใหม่ในออสเตรเลีย
กดฟังบทสัมภาษณ์
LISTEN TO
คุณแม่คนไทยเปิดใจคุยเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร
SBS Thai
25/03/202220:17
คุณจิตรลดา เชเวียร่า (Jittralada Siewiera) หรือคุณปุ้ย เป็นเจ้าของเพจ ‘จดหมายจากแม่จิงโจ้’ ที่แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองด้านการเลี้ยงลูกของคนไทยในต่างแดน เธอเล่าให้เอสบีเอส ไทย ฟังถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร หรือภาวะ baby blue ที่เกิดขึ้นกับเธอโดยที่เธอไม่ทันได้ตั้งตัวหลังคลอดลูกสาวคนแรกและคนที่สอง เมื่อมองย้อนกลับไป คุณแม่คนไทยในเมลเบิร์นผู้นี้ตระหนักว่า นี่เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่คนไหนก็ได้
“จริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพียงแต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา ความรู้สึกซึมเศร้านี้มันมาแบบไม่รู้ตัวนะคะ อยากให้คุณแม่มือใหม่เห็นว่า ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ มีคนเป็นแม่บนโลกนี้อีกเยอะแยะ ที่ต้องเจอกับภาวะแบบนี้โดยไม่ได้ตั้งตัวตั้งใจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย เราควรต้องยอมรับ เริ่มทำความเข้าใจ และหาวิธีแก้ไขค่ะ” คุณปุ้ย กล่าว
อยากให้คุณแม่มือใหม่เห็นว่า ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ มีคนเป็นแม่บนโลกนี้อีกเยอะแยะเลย ที่ต้องเจอกับภาวะแบบนี้
คุณปุ้ยเล่าว่า ก่อนมีลูก ก็ไม่เคยคิดว่าเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะเป็นสิ่งที่เธอประสบกับตัวเอง
“เคยอ่านคู่มือเกี่ยวกับอาการ baby blue ที่เขาว่ามันจะเกิดหลังคลอด คุณแม่อาจรู้สึกเศร้าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็นึกไม่ออก ไม่เข้าใจ และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะปกติก็จะเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มีความสุขไปวันๆ คือไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับเราเลยค่ะ”หลังจากที่คุณแม่ของคุณปุ้ยที่มาช่วยดูแลลูกเป็นเวลาสั้นๆ เดินทางกลับเมืองไทย การเลี้ยงลูกน้อยในต่างแดน โดยไม่มีคนในครอบครัวช่วยเหลือทำให้คุณแม่มือใหม่ผู้นี้เริ่มประสบกับภาวะซึมเศร้าจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในร่างกายและภายนอก เธอไม่รู้ตัวเลยภาวะนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อมาถึงจุดวิกฤตแล้ว
ตอนแรกคุณปุ้ยไม่คิดว่าเธอจะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร เพราะปกติเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มีความสุขไปวันๆ Source: SBS Thai/Jittralada Siewiera
“เวลาสามีไปทำงาน เราก็ดูลูกเองคนเดียว กลางคืนเราก็ไม่ได้นอน ลูกสาวคนแรกนี่เป็นเด็กนอนยากสุดๆ แป๊บๆ ตื่น ทั้งวัน ทั้งคืน จำได้ว่ามีวันนึงที่ต้องอุ้มลูกอยู่กับอกทั้งวัน วางเธอลงไม่ได้เลย เธอจะร้องๆๆๆ ไม่หยุด สามีกลับมาจากทำงานตอนเย็นเห็นเรานั่งน้ำตานองหน้าอุ้มลูกอยู่ เราบอกว่า ฉันไม่ได้กินข้าวเลย ไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน วางลูกไม่ได้เลยทั้งวัน ไม่ไหวแล้ว”
สามีกลับมาจากทำงานตอนเย็นเห็นเรานั่งน้ำตานองหน้าอุ้มลูกอยู่ ไม่ได้กินข้าวเลย ไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน วางลูกไม่ได้เลยทั้งวัน
เมื่อมองย้อนกลับไป คุณปุ้ยคิดว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เธอเกิดภาวะ baby blue นี้ มาจากการนอนไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนของผู้หญิงในช่วงหลังคลอดบุตร และความคาดหวังที่เธอตั้งไว้สำหรับตนเองและลูกแต่ในขณะนั้น ภาวะที่เกิดขึ้นก็เริ่มรุนแรงขึ้น โดยที่แม้แต่ตัวคุณปุ้ยเอง ก็ไม่รู้ตัว
คุณปุ้ยกับการเลี้ยงลูกน้อยในต่างแดน ที่ไม่มีคนในครอบครัวช่วยเหลือ Source: SBS Thai/Jittralada Siewiera
“เคยให้ลูกกินนม แล้วเข้านอน แต่ลูกไม่ยอมนอน ทั้งๆ ที่เธอดูเหนื่อยแสนเหนื่อย ร้องไห้ไม่หยุด เราก็เริ่มเศร้า บวกกับหนื่อย เครียด และกลายเป็นโมโห จำได้ว่า ตัวเองคำรามใส่ลูกเหมือนกับแม่สิงโต มันหยุดตัวเองไม่ได้ คือมันโมโหและรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน” คุณปุ้ยเล่า
จำได้ว่า ตัวเองคำรามใส่ลูกเหมือนกับแม่สิงโต มันหยุดตัวเองไม่ได้ คือมันโมโหและรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน
“จากนั้น บางวันอยู่ดีๆ ก็จะร้องไห้ๆๆๆ ร้องเกือบทุกวัน รู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกิน บางวันก็เริ่มคิดว่า มันมีวิธีตายแบบไหนที่ไปแบบสบายๆ ไม่ทุรนทุรายบ้าง คืออยากหลุดออกไปจากความเหนื่อยนี้” คุณปุ้ยเผยความรู้สึกในตอนนั้น
แต่โชคดีที่สามีของคุณปุ้ยเกิดเฉลียวใจว่า เธออาจกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร จึงพยายามส่งเสริมให้เธอไปขอรับความช่วยเหลือ แต่ในช่วงแรกคุณปุ้ยก็ยังไม่ยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
“สามีเห็นเราร้องไห้เกือบทุกวัน เขาเลยถามว่าอยากโทรคุยปรึกษากับศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านนี้ไหม เธออาจจะเป็น Baby blue นะ เรายังหัวเราะใส่แล้วบอกว่า ฉันไม่ได้บ้านะ ไม่ต้องโทรคุยกับใครที่ต้องมาช่วยเหลือฉันหรอก”
“เป็นอย่างนั้นไปหลายเดือนจนวันหนึ่ง คิดว่า ไม่ไหวละ ก็เลยลองโทรดู พอได้ยินเสียงปลายสายที่แสดงถึงความเข้าใจ ความห่วงใย และไม่ตัดสินเรากับสิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่ ตัวเองถึงกับปล่อยโฮออกมา งงตัวเองมากที่ร้องห่มร้องไห้กับคนแปลกหน้า แต่มันรู้สึกเหมือนความรู้สึกหนักอึ้งที่ถูกปิดขังไว้ข้างใน มันไหลพรั่งพรูออกมา” คุณปุ้ย กล่าว
พอได้ยินเสียงปลายสายที่แสดงถึงความเข้าใจ ความห่วงใย และไม่ตัดสินเรากับสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ ตัวเองถึงกับปล่อยโฮออกมา
คุณปุ้ย พร้อมด้วยสามีและลูกๆ ทั้งสามคน Source: SBS Thai/Jittralada Siewiera
“PANDA เป็นหน่วยงานที่ช่วยให้คำแนะนำแก่คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์จนถึงคลอดลูก ซึ่งแนะนำปุ้ยให้ติดต่อแพทย์ GP เพื่อช่วยเขียน Mental Health Plan ให้ ตอนเจอ GP เค้าก็จะถามความเป็นมาเป็นไปว่าเรารู้สึกอย่างไร จะมีให้ทำแบบทดสอบดูระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า เพื่อจะได้หาจิตแพทย์มาให้คำปรึกษาค่ะ ถ้าไม่มี Mental Health plan เราจะต้องจ่ายค่าการให้คำปรึกษาเต็มราคาซึ่งค่อนข้างแพง”
คุณปุ้ยฝากข้อคิดถึงการเลี้ยงลูก ให้มีความสุขทั้งตัวคุณลูกและคุณแม่
“ไม่มีใครรู้ไปทุกอย่าง ไม่มีใครดีพร้อม การเลี้ยงลูกเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่ทดลองทำดู แล้วแบบไหนเวิร์ค แบบไหนเหมาะกับลูกเรา มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการเลี้ยงลูก ความคาดหวังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกเสียจากเพิ่มความกดดันให้ตัวเอง การเลี้ยงลูกจะดีได้ คุณแม่ต้องมีความสุขก่อน เธอถึงจะมีแรงแจกจ่ายถ่ายทอดความรักความสุขต่อให้ลูก สามี และคนรอบข้าง”
มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการเลี้ยงลูก ความคาดหวังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกเสียจากเพิ่มความกดดันให้ตัวเอง
สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร คุณปุ้ยย้ำว่า ยังมีทางออกเสมอ
“เมื่อเกิดภาวะซีมเศร้าแล้ว เราปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ แต่เราทำเองคนเดียวไม่ได้ เพราะเรายังรู้สึกเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่มองไปทางไหนก็มืดไปหมด ต้องมีอุปกรณ์ มีคนช่วยนำทาง ให้ออกไปสู่ปลายอุโมงค์ที่มีแสงสว่างอีกครั้งให้ได้ ดังนั้น คนรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญมากๆ ที่จะช่วยประคับประคองช่วยให้คุณแม่ๆ ผ่านมันไปได้ค่ะ” คุณปุ้ย จิตรลดา เชเวียร่า กล่าวปิดท้าย
ฟังการพูดคุยทั้งหมดกับคุณปุ้ย จิตรลดา เชเวียร่า ได้ที่นี่
LISTEN TO
คุณแม่คนไทยเปิดใจคุยเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร
SBS Thai
25/03/202220:17
หากคุณประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรและต้องการคำปรึกษา สามารถโทรศัพท์ติดต่อ จันทร์ถึงศุกร์ 9.00-19.30 น. ตามเวลามาตรฐานออสเตรเลียตะวันออก ที่หมายเลข 1300 726 306 (จากนั้นให้กด 1 หากต้องการล่าม)
หากต้องการความช่วยเหลือขณะประสบภาวะฉุกเฉิน ติดต่อ 000 หรือ ไลฟไลน์ (Lifeline) ที่หมายเลข 13 11 14
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับสัญญาณปัญหาสุขภาพจิต
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
สอนภาษาไทยให้เด็กผ่านกิจกรรมสนุกที่สร้างรอยยิ้ม