'โกงค่าแรงลูกจ้าง' มีโทษอาญาในรัฐวิกตอเรีย

A qualified nurse from Thailand, Anchalee Suwan worked in Australia as an international student for 10 years.

A qualified nurse from Thailand, Anchalee Suwan worked in Australia as an international student for 10 years. Source: Anchalee Suwan

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป รัฐวิกตอเรียจะเป็นที่แรกในออสเตรเลียที่การขโมย หรือการโกงค่าจ้างมีความผิดทางอาญา สหภาพแรงงานชี้ การขโมยค่าจ้างเกิดบ่อยเกินไปในออสเตรเลีย เรียกร้องรัฐ-มณฑลอื่นนำแนวทางกฎหมายนี้ไปปฏิบัติตาม


LISTEN TO
Wage theft is now a crime from Victoria image

'โกงค่าแรงลูกจ้าง' มีโทษอาญาในรัฐวิกตอเรีย

SBS Thai

02/07/202108:14

ประเด็นสำคัญ

  • ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นตันไป การขโมย หรือการโกงค่าจ้าง (Wage Theft) มีความผิดทางอาญาในรัฐวิกตอเรีย
  • โทษปรับสำหรับนายจ้างที่กระทำความผิด คือโทษจำคุก 10 ปี และโทษปรับเกือบ 2 แสนดอลลาร์สำหรับบุคคล และเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สำหรับบริษัท
  • ผู้ตรวจการค่าจ้างรัฐวิกตอเรีย (Wage Inspectorate Victoria) จะเป็นหน่วยงานใหม่ ที่มีอำนาจในการสอบสวนกรณีการโกงค่าจ้างโดยเฉพาะ มีอำนาจเข้าตรวจสถานประกอบการ และตรวจยึดเอกสาร

รัฐวิกตอเรีย เป็นเขตอำนาจทางกฎหมายแรกในออสเตรเลียเขตแรก ที่ประกาศใช้กฎหมายซึ่งกำหนดให้การขโมยค่าจ้างเป็นความผิดทางอาญา โดยกฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. ปี 2021 เป็นต้นไป ในพื้นที่รัฐวิกตอเรีย นายจ้างคนใดก็ตามที่จงใจจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างน้อยกว่าที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย จะมีความผิดทางอาญา

โดยกฎหมายด้านการขโมยค่าจ้างนี้ มีโทษสำหรับผู้กระทำผิด คือจำคุก 10 ปีในกรณีเป็นบุคคล และมีโทษปรับสูงถึง $198,264 ดอลลาร์ สำหรับกรณีผู้กระทำผิดเป็นบุคคล และ $991,320 ดอลลาร์ หากผู้กระทำผิดเป็นบริษัท

นายลุค ฮิลาคารี (Luke Hilakari) เลขาธิการหอการค้ารัฐวิกตอเรีย (Victorian Trades Hall Council) กล่าวว่า เขาได้ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และหวังว่ารัฐและมณฑลอื่น ๆ จะปฏิบัติตาม 

“ผมคิดว่า นี่อาจถือเป็นครั้งแรกของออสเตรเลียอีกครั้ง ออสเตรเลียมีประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะรัฐวิกตอเรีย ซึ่งมีบทบาทนำในการปฏิรูปการทำงาน เราเป็นที่แรกในโลกที่กำหนดชั่วโมงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง”

“นี่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราเป็นผู้นำในระดับโลกที่บอกว่าเมื่อใครสักคนไปทำงานพวกเขาควรจะได้รับการจ่ายค่าตอบแทนทุก ๆ ชั่วโมงที่มาทำงาน” นายฮิลาคารี กล่าว

จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ คือการเป็นเครื่องมือยับยั้งอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการขโมยค่าจ้างขึ้น 

การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิกตอเรีย ระบุว่า พวกเขาจะผลักดันให้มีการดำเนินการต่าง ๆ ผ่านผู้ตรวจการค่าจ้างรัฐวิกตอเรีย (Wage Inspectorate Victoria) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยจะมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับการขโมยค่าจ้าง

โดยผู้ตรวจการค่าจ้าง จะมีอำนาจในการเข้าตรวจสถานประกอบการของเจ้าของธุรกิจ รวมถึงตรวจตราและยึดเอกสารต่าง ๆ ได้

คุณอัญชลี สุวรรณ เป็นคนทำงานย้ายถิ่นฐานและนักศึกษาจากประเทศไทย เธอทำงานในรัฐวิกตอเรียเป็นเวลาร่วม 10 ปี และเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

คุณอัญชลี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า ก่อนหน้านี้ เธอตกเป็นเหยื่อของการโกงค่าจ้าง

ในฐานะนักเรียนต่างชาติ คุณต้องจ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่าราคาปกติ และคุณมีเวลา 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการหางาน ตามกฎหมาย และข้อกำหนดวีซ่า”

“ในตอนแรก ฉันไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ฉันเลยต้องหางานที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่มาก งานแรกที่ฉันได้ทำคือเป็นลูกมือในครัว ฉันคิดว่ากฎหมายนี้เป็นสำคัญมากสำหรับนักเรียนต่างชาติในการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ” คุณอัญชลี กล่าว 

นอกจากนี้ คุณอัญชลียังได้เล่าเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ และความยากลำบากของเธอ ระหว่างที่ทำงานอยู่ในออสเตรเลีย ในฐานะนักเรียนต่างชาติ 

“ฉันทำงานเป็นลูกมือในครัว ตั้งแต่ 5 โมงเย็น ถึง 5 ทุ่ม และได้ค่าแรง $50 ดอลลาร์สำหรับทั้งกะนั้น ฉันกินข้าวเย็นที่ร้าน และห่อข้าวผัดใส่กล่องกลับไปกินที่บ้าน”

“ข้าว 2 มื้อ และเงิน $50 ดอลลาร์ เป็นแบบเช่นนั้น 4 วันต่อสัปดาห์ นั่นแปลว่าฉันจะมีเงิน $200 ดอลลาร์ไว้จ่ายค่าเช่า แค่นั้นเอง ตอนนั้นฉันไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร หรือร้องเรียนกับใครได้ และดูเหมือนว่านักเรียนต่างชาติคนอื่น ๆ ก็พบเจอกับปัญหานี้เหมือนกัน” คุณอัญชลี กล่าว

เบื้องหลังที่นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายการขโมยค่าจ้างในวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 ในตอนนั้น รัฐบาลจากพรรคแรงงานของรัฐวิกตอเรีย ได้เสนอร่างกฎหมายการขโมยค่าจ้าง ปี 2020 (Wage Theft Bill) ที่มุ่งเน้นในการชี้แจงปัญหาการจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมาย ที่เกิดขึ้นกับบรรดาลูกจ้าง และภายในกิจการต่าง ๆ 

ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านสภาในวันที่ 16 มิ.ย. ปี 2020 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ปี 2021 เป็นต้นไป

กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับนายจ้าง ในพฤติการณ์ดังต่อไปนี้

    1. นายจ้างยึดถือสิทธิ์ที่ลูกจ้างพึงได้ ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด
    2. นายจ้างสร้างเอกสารอันเป็นเท็จเกี่ยวกับค่าตอบแทนของลูกจ้าง เพื่อการหาประโยชน์ทางการเงินสำหรับนายจ้างเอง หรือเพื่อบุคคลอื่น หรือเพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับมาก่อนหน้านี้
    3. นายจ้างไม่สามารถเก็บบันทึกสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง เพื่อการหาประโยชน์ทางการเงินสำหรับนายจ้าง หรือเพื่อบุคคลอื่น หรือเพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับมาก่อนหน้านี้
สาระสำคัญของคำว่า ‘สิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง’ หมายถึง จำนวนเงิน หรือผลประโยชน์ใดก็ตาม ที่นายจ้างจะต้องให้กับลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงค่าจ้าง เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สิทธิ์ในการลาหยุด อาหารในช่วงพัก หรือเงินสะสมหลังเกษียณ (เงินซูเปอร์) อันเป็นพันธะระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมาย สัญญาจ้าง และข้อตกลง 

นายฮิลาคารี กล่าวว่า การขโมยค่าจ้างนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเกินไปในรัฐวิกตอเรีย และจะต้องมีการดำเนินการให้มากกว่านี้ 

“การขโมยค่าจ้าง กำลังเกิดขึ้นบนถนนทุกสายในรัฐวิกตอเรีย ทุก 2 สองร้านกาแฟที่คุณเดินผ่าน มีพนักงานที่ต้องสูญเงินไป มันอาจเป็นค่าจ้างของพวกเขาโดยตรง หรือไม่ก็เงินซูเปอร์ กฎหมายนี้จะสร้างความแตกต่างให้ชาวรัฐวิกตอเรียนับแสนคน นี่จะเป็นครั้งแรกที่ชาวรัฐวิกตอเรียจะสามารถได้รับสิ่งที่พวกเขาพึงได้ หรือไม่เช่นนั้นนายจ้างจะต้องเผชิญบทลงโทษที่รุนแรง" 

“ส่วนขั้นต่อไปก็คือ การที่รัฐบาลรัฐวิกตอเรีย จะรวบรวมเขตอำนาจศาลสินไหมทดแทน ให้เป็นส่วนหนึ่งของศาลชั้นต้น มันควรเป็นขั้นตอนที่มีความรวดเร็ว และเป็นศาลที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถร้องเรียนได้ ได้รับการเป็นตัวแทน และได้รับเงินที่ถูกริดรอนไปกลับคืนมาในเวลาอันสั้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่รู้ว่าลูกจ้างกำลังพูดถึงอะไร สิ่งนั้นยังคงต้องดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ แต่เราหวังว่าจะเห็นมันเกิดขึ้นจริงในปลายปีนี้” นายฮิลาคารี กล่าว

โดยกฎหมายใหม่นี้จะมีผลถึงนายจ้าง และบุคคลธรรมดาที่ได้รับการระบุว่าเป็นนายจ้าง  โดยบุคคลธรรมดาจะได้รับโทษตามกฎหมายนี้ หากพวกเขาเป็น ‘เจ้าหน้าที่’ ของหน่วยงานที่กำลังว่าจ้าง โดยคำว่าเจ้าหน้าที่ ในที่นี่มีความหมายที่กว้างขวาง และไม่ได้กำหนดเพียงเจ้าของ หรือผู้อำนวยการของบริษัท และความหมายจะแตกต่างกันไปตามประเภทของหน่วยงาน แต่โดยทั่วไปแล้วจะครอบคลุมถึงผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจหลัก ๆ เช่น กรรมการบริษัท ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือหุ้นส่วน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า กฎหมายใหม่นี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับประมวลกฎหมายแฟร์เวิร์ก ปี 2009 (Fair Work Act 2009) อย่างไรในทางปฏิบัติ โดยมีการคาดการณ์ว่า นายจ้างที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกับกฎหมายใหม่นี้ จะได้รับการสอบสวนจากทั้งผู้ตรวจการค่าจ้าง และคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

เปลี่ยนกฎวีซ่า 8 ข้อและกฎอิมฯ เริ่ม 1 ก.ค. นี้


Share