ประเด็นสำคัญ
- ไวรัสสายพันธุ์อะไรที่ทั่วโลกจับตา?
- เดลตา: สายพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด
- อัลฟา: ยังคงเป็นที่น่ากังวล
- แคปปา: อีกหนึ่งสายพันธุ์
- วัคซีนของออสเตรเลียป้องกันสายพันธุ์เหล่านี้หรือไม่?
เป็นเวลากว่า 18 เดือนแล้วที่โควิด-19 เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เริ่มแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วจากเมืองวูฮั่น ประเทศจืน ก่อนจะแพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนนับล้าน และสร้างความโกลาหลให้กับระบบสาธารณสุขทั่วทุกมุมโลก
ตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกกำลังใกล้หลัก 4 ล้านคน บางครั้งมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 180 ล้านคนพร้อมๆ กัน
ในระหว่างนี้ ไวรัสไม่เพียงแพร่เชื้อ แต่ยังกลายพันธุ์อีกหลายครั้ง เวลานี้มีไวรัสที่กลายพันธุ์จากไวรัสโควิด-19 หลายสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่า และมีหนึ่งสายพันธุ์ที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดเร็วๆ นี้
ไวรัสสายพันธุ์อะไรที่ทั่วโลกจับตา?
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อใหม่ให้สายพันธุ์โควิดที่กลายพันธุ์ตามตัวอักษรกรีก
ในออสเตรเลีย มี 3 สายพันธุ์ที่เป็นที่น่ากังวล อัลฟา เดลตา และแคปปา สายพันธุ์เหล่านี้เป็นชนวนการเกิดการติดเชื้อที่พุ่งสูงในหลายภูมิภาคแถบยุโรปและในบางทวีปของโลก ในขณะที่สายพันธุ์ที่มีชื่อว่า เบตาและแกมมาก็สร้างความปั่นป่วนในแอฟริกาและอเมริกาใต้อยู่ในขณะนี้
องค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา โดยเดลตาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุดโควิด-19 นั้นเกิดจากไวรัสตระกูลอาร์เอ็นเอ (RNA) ชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ (influenza)
The deadly Beta variant was first identified in South Africa, but health experts say there have been very very few cases of it in Australia. Source: EPA
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต บูย (Robert Booy) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์และกลุ่มพันธมิตรสร้างภูมิคุ้มกันกล่าวว่า ไวรัสตระกูลอาร์เอ็นเอนั้นมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์ “ง่ายมาก”
“เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไม่สามารถสร้างสำเนาของตัวเองได้ ดังนั้นเซลล์ต้นกำเนิดหรือลูกหลานของไวรัสตัวเดียวกัน จึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยกลายพันธุ์จากไวรัสต้นกำเนิด” ศจ. โรเบิร์ตกล่าวกับเอสบีเอสนิวส์
“ไวรัสต้องการอยู่รอดเหมือนคุณและผมที่อยากอยู่รอด ดังนั้นถึงแม้ว่าพวกมันจะไม่มีความตั้งใจ แต่พวกมันก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ ไวรัสตัวที่อยู่รอดได้คือตัวที่สามารถแพร่เชื้อได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการกลายพันธุ์ ไวรัสตัวที่สามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกหนึ่งคน และแพร่ต่อๆ ไป เป็นสิ่งที่ฝังตัวอยู่ในชุมชน”
เดลตา: สายพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด
เดลตาถูกพบครั้งแรกในอินเดีย ในขณะนี้มีการรายงานการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้กว่า 80 ประเทศ และสร้างความกังวลให้สาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น จากการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว
“สายพันธุ์เดลตากำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก เพราะความสามารถในการแพร่เชื้อได้รวดเร็ว” นางโสมยา สวามีนาทาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกกล่าว
นางแคเทอรีน เบนเน็ตต์ ประธานภาคระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดีคิ้นกล่าวว่า เดลตา “มีอยู่ในทุกที่ที่มีโควิดอยู่ในขณะนี้”
“มันเป็นสายพันธุ์ที่เราจับตาดู เพราะเราเห็นว่ามันเหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่น่ากังวล” นางแคเทอรีนกล่าว
“มันมีอิทธิพลเหลือกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีอยู่ได้อย่างรวดเร็ว เราเห็นไวรัสตัวนี้ในอังกฤษ เราเห็นมันในยุโรปตอนนี้ และเรายังเห็นมันในสหรัฐอเมริกา ในบางแห่งมันกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลได้อย่างรวดเร็ว”เพียงสามเดือนหลังถูกพบครั้งแรกในอังกฤษ กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของเคสเกิดจากสายพันธุ์เดลตาที่นั่น และยังเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัสเซีย ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงเริ่มต้น
A woman receives her vaccine in Kolkata, India. The highly Delta variant was first identified in India. Source: PIYAL ADHIKARY/EPA
“สายพันธุ์นี้สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 50 เปอร์เซ็นต์” ศจ. เบนเน็ตต์กล่าว
ผลการวิจัยของสาธารณสุขอังกฤษประเมินว่าเดลตามีค่าการสืบพันธุ์อยู่ที่ 6.0 เทียบกับสายพันธุ์อื่นที่อยู่ที่ระหว่าง 2-3 นั่นหมายความว่าทุกๆ หนึ่งคนที่ติดเชื้อเดลตา สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก 6 คน
“นักวิจัยพบว่าสายพันธุ์เดลตามี “ปริมาณไวรัส” ที่ผู้ติดเชื้อมีสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ” ศจ. เบนเน็ตต์กล่าว
“มันสร้างตัวเองได้เร็วกว่า และผู้คนสามารถติดเชื้อได้เร็วกว่า โดยมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเนื่องจากได้รับปริมาณไวรัสสูง”
และในขณะที่ข้อมูลบ่งชี้ว่ามันสามารถแพร่เชื้อได้ไวกว่า นักระบาดวิทยากล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่ชี้ว่ามันทำให้เกิดการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงหรือไม่
ขณะนี้อินเดียกำลังจับตาดูสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า เดลตา พลัส (Delta Plus) ที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีคนติดเชื้อแล้ว 22 ราย
นายราเจช บูแชน เลขานุการกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐในอินเดียแถลงว่า พบสายพันธุ์เดียวกันนี้ในอีก 8 ประเทศ และกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่สายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุด”
อัลฟา: ยังคงเป็นที่น่ากังวล
อัลฟา นับเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลในสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจถูกเดลตาแย่งตำแหน่งสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดไปครองเร็วๆ นี้ แต่ยังคงเป็นปัญหาสำหรับสาธารณสุขในหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย
มันแพร่ระบาดได้เร็วกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต้นกำเนิดถึง 50 เปอร์เซ็นต์
“อัลฟายังคงเป็นที่น่ากังวล และกำลังแพร่กระจาย” ศจ. บูย กล่าว
“เรายังคงเห็นสายพันธุ์อัลฟาที่ข้ามพรมแดนของเรามา เป็นสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเคสผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกเรือบนเครื่องบินในรัฐควีนส์แลนด์ และแพร่เชื้อในโรงแรมที่นั่น” ศจ. บูย เผยศาสตราจารย์เบนเน็ตต์ชี้ว่า อัลฟาเคยเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลในออสเตรเลีย แต่ถูกแซงโดยอัลฟา
Technicians prepare vaccines at the newly opened COVID-19 Vaccination Centre in Sydney on 10 May 2021. Source: AAP
“เราเห็นอัลฟาเข้ามาโดยคนที่เดินทางกลับ”
“แต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนจากเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกาเหนือ โอกาสที่จะมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกจากสายพันธุ์เดลตามีสูง ดังนั้นฉันคิดว่าเราควรต้องยอมรับความจริงที่ว่าเดลตาจะเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก และนั่นคือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ”
แคปปา: อีกหนึ่งสายพันธุ์
ยังมีคำเตือนสำหรับสายพันธุ์แคปปาในออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อื่น” ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกในอินเดีย
“เมื่อหลายเดือนก่อน มีคนสังเกตว่ามีสายพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในอินเดีย” ศจ. บูยกล่าว
“พวกเขาเรียกมันว่าการกลายพันธุ์สองครั้ง แต่จริงๆ แล้วอาจจะมีการกลายพันธุ์ถึงสิบสองครั้งที่ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่นี้ขึ้น”
“เราเห็นแคปปาที่เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งล่าสุดในรัฐวิกตอเรีย ที่มีส่วนทำให้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 100 ราย” ศจ เบนเน็ตต์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า ข้อกังวลคือเดลตาและแคปปาเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้เร็ว แพร่ไปทั่วอินเดียและทวีปอื่น และตอนนี้ในออสเตรเลียด้วย
“เราต้องรับสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราต้องเพิ่มมาตรการป้องกันที่สมเหตุสมผลอย่างที่เราเคยทำ การใส่หน้ากาก เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย รักษาระดับไว้” ศจ. บูยแนะ
วัคซีนของออสเตรเลียป้องกันสายพันธุ์เหล่านี้หรือไม่?
วัคซีนที่ใช้ในออสเตรเลีย ได้แก่ ไฟเซอร์ และแอสตราเซเนกา
ศาสตราจารย์เบนเน็ตต์กล่าวว่า วัคซีนทั้งสองชนิดเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในสหราชอาณาจักร และทั้งสองวัคซีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตา แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม
“มันก็ไม่ได้แย่นัก ถ้าคุณได้รับเข็มที่สอง สำหรับคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว มันยังเป็นการป้องกันที่ดีโดยเฉพาะกับสายพันธุ์นี้” ศจ เบนเน็ตต์กล่าว
“สิ่งที่เราเห็นในสหราชอาณาจักรคือ 83 เปอร์เซ็นต์ของเคสที่เกิดจากเดลตานั้น เกิดในคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และความจริงแล้ว ในเคสผู้ติดเชื้อ 3.7 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังคงเป็นกลยุทธที่ดีที่สุดของเรา”
ศาสตราจารย์เบนเน็ตต์กล่าวว วัคซีนทั้งสองชนิดมีอัตราการป้องกันการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา
“สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน ตัวเลขที่เป็นผลรายงานจากอังกฤษล่าสุดเผยว่า หากคุณได้รับวัคซีนครบ และเรากำลังพูดถึงการป้องกันจากการเจ็บป่วยร้ายแรงและการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล คุณยังมีการป้องกันระหว่าง 96 ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ การป้องกันไม่ว่าคุณจะฉีดแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์หลังจากโดสที่สอง”ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขแห่งอังกฤษและภาควิชาสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอนชี้ว่า สายพันธุ์เดลตานั้นมีความอ่อนไหวต่อวัคซีน เมื่อพูดถึงความเจ็บป่วยร้ายแรง
People queue outside the Melbourne Exhibition Centre coronavirus vaccination hub. Source: AAP
“ดูเหมือนว่า ประสิทธิกาพต่อการติดเชื้อโดยรวมจะลดลงเล็กน้อย เมื่อคุณเทียบระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิมที่วูฮันกับสายพันธุ์อัลฟา และลดลงอีกเล็กน้อยเมื่อเป็นสายพันธุ์เดลตา” ศาสตราจารย์เบ็นเนตต์กล่าว
“แต่มันก็ยังสูงอยู่ เรากำลังพูดถึงการลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะลดจาก 88 เปอร์เซ็นต์เป็น 80 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณนั้น มันหมายความว่ายิ่งชุมชนได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนสูงจะยิ่งดี เพื่อชดเชยกับประสิทธิภาพที่ลดลงเล็กน้อยนั้น”
ศาสตราจารย์บูยกล่าวว่าวัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อัลฟาและแคปปา และเรียกร้องให้คนออสเตรเลียฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดที่พวกเขาสามารถจองนัดหมายเพื่อฉีดได้
“นี่เป็นช่วงเวลาที่อันตรายมาก เพราะเรากำลังเริ่มหละหลวม และกำลังวางใจกับสถานการณ์ ในเวลาเดียวกันกับที่ไวรัสเริ่มที่จะแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น”