5 พ.ค. มีรายงานการศึกษาวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ต้องการวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ “มีความปลอดภัยและได้ผล” ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความลังเลใจในการไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม
การศึกษาวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ซึ่งได้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาวิจัยในวันนี้ (5 พ.ค.) ได้ทำการสำรวจประชาชนมากกว่า 3,000 คน เพื่อวิเคราะห์ถึงทัศนคติต่อโครงการเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโคโรนาในระยะแรกของออสเตรเลีย
การเปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหพันธรัฐได้พยายามระบุชี้ถึงปัญหาความกังวลในการไปรับวัคซีนของชาวออสเตรเลีย เช่นเดียวกับปัญหาด้านการจัดส่งวัคซีน ทั้งในแง่ของแหล่งการผลิตและการจัดจำหน่าย
ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า ชาวออสเตรเลียมีความกังวลในโครงการเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 64 เชื่อว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้รับการจัดการเป็นอย่างดี
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความต้องการในการรับวัคซีนของชาวออสเตรเลียนั้นยังอยู่ในระดับสูง และคงที่มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021
รายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังระบุอีกว่า ชาวออสเตรเลียผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54.7 กล่าวว่าพวกเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 “ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 43.7 ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกร้อยละ 28 บอกว่าพวกเขาอาจจะไปรับการฉีดวัคซีน และอีกร้อยละ 11 กล่าวว่าพวกเขาอาจจะไม่ไปฉีดวัคซีน
“การค้นพบข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญมากในระหว่างที่รัฐบาลกำลังประสานความเชื่อมั่นจากสาธารณชน และความมั่นใจในโครงการฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์นิโคลัส บิดเดิล (Prof Nicholas Biddle) ผู้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัยดังกล่าวระบุ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ขจัดความกลัวด้านวัคซีนโควิดด้วยคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ
ความกังวลยังคงอยู่ในหมู่สมาชิกชุมชนหลากวัฒนธรรม
รายงานดังกล่าวยังได้สำรวจไปถึงความเต็มใจในการรับการฉีดวัคซีนในหมู่ผู้พูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ และพบว่าร้อยละ 44.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากภูมิหลังหลากภาษาทั้งหมด กล่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะรับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทันทีที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้
แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเต็มใจรับวัคซีนยังคงต่ำกว่าผู้ที่มีความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามกว่าร้อยละ 58.2
ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าวว่า ขณะที่ผลลัพธ์จากการศึกษาในครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนการฉีดวัคซีนโดยทั่วไปในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ความลังเลใจนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการ
“ในเชิงนโยบายนั้น มีความจำเป็นโดยแท้จริงในการทำให้แน่ใจว่า สารที่ส่งออกไปยังประชาชนนั้นมีความสม่ำเสมอ และมีความระมัดระวังในส่วนของความกังวลจากชุมชนเหล่านี้” ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าว
“มันชัดเจนว่า อัตราความเต็มใจ (ในการฉีดวัคซีน) นั้นอยู่ในระดับต่ำ และมันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวเลขดังกล่าวที่จะต้องได้รับการบริหารจัดการในหนทางที่จะทำให้ความไม่เต็มใจนั้นหมดไป”
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าเคยประสบกับพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ส่วนใหญ่มีความเต็มใจน้อยลงที่จะไปรับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ในบรรดาผู้มีภูมิหลังจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษที่ระบุว่าเคยประสบพบเจอกับการถูกเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 17.1 จากทั้งหมดแสดงความลังเลที่จะไปรับการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความประสงค์ไปรับการฉีดวัคซีนจากกลุ่มเดียวกันในอัตราร้อยละ 14
“แม้จะมีการสนับสนุนการฉีดวัคซีนในชุมชนที่มีภูมิหลังจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังคงมีหลายปัจจัยที่เพิ่มอัตราความลังเลใจที่จะไปฉีดวัคซีน” ศาสตราจารย์บิดเดิล กล่าว
ทั้งนี้ โครงการของรัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อรณรงค์การให้ข้อมูลโครงการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ต่อสาธารณชนนั้น ได้รวมถึงมาตรการเฉพาะเจาะจง ที่ออกแบบเพื่อเข้าถึงผู้คนจากชุมชนที่มีความหลายหลายทางภาษาและวัฒนธรรม (CALD) อีกด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พิษโควิดทำ ปชช.หลากภาษาและวัฒนธรรมขอสินเชื่อมากขึ้น
ความกังวลต่อการลังเลที่จะรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนานั้นเพิ่มสูงขึ้น หลังมีการเปิดเผยคำแนะนำด้านสาธารณสุขที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้รับการฉีดวัคซีนบางรายซึ่งพบได้น้อย
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐบาลแห่งชาติได้มีมติเร่งสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโคโรนาสำหรับชาวออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หลังคณะกรรมาธิการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (TGA) ได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อแนะนำให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) ขณะที่ยังคงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผลสำรวจในการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังพบอีกว่า คำแนะนำด้านสาธารณสุขในการรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่ได้รับการปรับปรุงนั้น ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการฉีดวัคซีน โดยร้อยละ 50.4 ของผู้ที่ไม่ต้องการไปรับการฉีดวัคซีนกล่าวว่า เป็นเพราะผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากจากการรับวัคซีนของแอสตราเซเนกา
ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดความลังเลในการไปรับการฉีดวัคซีน โดยคิดเป็นร้อยละ 63.3 ขณะที่ร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่แสดงความกังวลต่อวัคซีนกล่าวว่า พวกเขาวางแผนที่จะรอออกไปอีกสักระยะ เพื่อเฝ้าจับตาสถานการณ์วัคซีนก่อนที่จะตัดสินใจไปรับการฉีด
นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ร้อยละ 67.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดคิดว่า ออสเตรเลียควรที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อทำให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาได้ แม้นั่นอาจหมายความว่าผู้คนในออสเตรเลียจะต้องรอวัคซีนเป็นเวลานานขึ้นก็ตาม
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
เสียงสะท้อนถึงสถานการณ์โควิดเมืองไทย