คุณพอว เอ (Paw Eh) เดินทางมาถึงออสเตรเลียเมื่อ 14 ปีก่อนจากเมียนมาร์
เมื่อสามีของเธอตกงานท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เธอไม่รู้เลยว่าจะหาเงินให้พอกินพอใช้ได้อย่างไร
“ลูกของฉันยังเล็กอยู่ ฉันเลยไปทำงานไม่ได้ เราก็เลยไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน” คุณเอกล่าวเธอเล่าว่า ครอบครัวของเธอยังคงสามารถเข้าถึงเงินชดเชยรายได้จ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงต้องนำเงินที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้
Paw Eh and her family. Source: SBS News
“สามีดิฉันต้องถอนเงินซูเปอร์ของเขาออกมาใช้ $10,000 ดอลลาร์” คุณเอเล่า
ไม่ได้มีเพียงครอบครัวของคุณเอเท่านั้นที่ประสบกับความยากลำบากทางการเงินในลักษณะนี้
ศูนย์วิจัยด้านนโยบายผู้บริโภค (The Consumer Policy Research Centre) ได้ทำการสำรวจผู้คนมากกว่า 2,000 คนทั่วออสเตรเลีย ในช่วงสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคมเมื่อปีที่ผ่านมา โดยรายงานจากการสำรวจดังกล่าวที่ได้เผยแพร่ในสัปดาห์นี้พบว่า ชุมชนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาในอัตราที่ไม่เป็นสัดส่วน
เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วออสเตรเลีย ผู้บริโภคที่มาจากชุมชนที่มีความหลากภาษาและวัฒนธรรม มีอัตราการเข้าถึงบริการสินเชื่อส่วนบุคคลมากถึง 2 เท่า และเข้าถึงบริการเงินกู้เพย์เดย์โลน (payday loan) มากถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคจากชุมชนดังกล่าวเข้าถึงเงินสะสมหลังเกษียณ (เงินซูเปอร์) มากกว่าประชากรทั่วไปเป็น 2 เท่า และมีอัตราขอความช่วยเหลือฉุกเฉินมากกว่าประชากรทั่วไปประเทศถึง 4 เท่า
“สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกกังวลก็คือ ผู้บริโภคกลุ่มนี้กำลังเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องจ่ายคืนในอัตราที่สูงกว่าประชากรทั่วประเทศ เช่น เงินกู้เพย์เดย์โลน สัญญาเช่าสำหรับผู้บริโภค และบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” นางลอว์เรน โซโลมอน (Lauren Solomon) ประธานบริหาร ศูนย์วิจัยด้านนโยบายผู้บริโภค กล่าว
เพียงแค่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว ร้อยละ 22 ของผู้เช่าบ้านที่มาจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ไม่สามารถชำระค่าเช่าได้ตรงเวลา เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไปในอัตราร้อยละ 6
การวิจัยดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดทางการเงินในระดับสูง โดยพบว่าร้อยละ 73 ของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของตนเอง (financial wellbeing) เมื่อเทียบกับร้อยละ 56 ของประชากรทั้งประเทศ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Settlement Guide: จะรับมือกับหนี้สินจากสถานการณ์โควิดอย่างไร
นางคาร์ลา วิลเชียร์ (Carla Wilshire) ประธานบริหาร สภาการอพยพย้ายถิ่นแห่งออสเตรเลีย (The Migration Council of Australia) กล่าวว่าปัญหาเหล่านี้ ได้ถูกซ้ำเติมด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นั้น พลาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผนการชำระเงิน และการสนับสนุนทางการเงินอื่น ๆ
“การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองนั้น มีเพียงแต่จะสร้างกำแพงกั้นอีกชั้นในการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางการเงินอย่างเพียงพอ” นางวิลเชียร์กล่าว
“หนึ่งในผลลัพธ์จากสถานการณ์โควิด-19 นั่นก็คือจะต้องมีการพิจารณากลไกให้ความช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึงให้มากขึ้น”
นักศึกษาต่างชาติ และผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิ้ง ฮอลิเดย์ ยังเป็นอีกกลึ่มหนึ่งที่มีความเดือดร้อนทางการเงินอยู่ในระดับสูง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเงื่อนไขในวีซ่าของพวกเขาไม่เปิดทางเข้าสู่ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากรัฐบาลออสเตรเลีย
นอกจากนี้ พวกเขายังคงต้องพึ่งพางานแบบแคชวล ซึ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคงของรายได้ในระดับสูง
ขณะที่นักวิจัยได้เรียกร้องให้มีการจัดทำข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ในหลายภาษา
“หากเราต้องการที่จะฟื้นฟูจากวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน ฝ่ายบริการลูกค้าจำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างครอบคลุมกับผู้คนทุกหมู่เหล่า ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลต่าง ๆ จำเป็นจะต้องเข้าถึงได้จากประชากรในวงกว้าง นั่นก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้ชุมชนและสังคมของเราเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง” นางโซโลมอน กล่าว
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณควรตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ออสเตรเลียจะฉีดวัคซีนโควิดทั้งประเทศทันเดือน ต.ค.นี้หรือไม่