ฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
ก้าวสู่งานด้านสุขภาพกับงานเจ้าหน้าที่เจาะเลือด
SBS Thai
30/04/202120:13
เอสบีเอส ไทย ได้พูดคุยกับคุณโซเฟีย ดุจแสงดาว จามจุรี ที่เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างด้านการแพทย์ (Pathology Collector) หรือเรียกอีกอย่างว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือด (Phlebotomist) ที่คิวเอ็มแอล (QML Pathology)ในควีนส์แลนด์ มา 3 ปี เธอบอกกับเราถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเลือกทำงานด้านนี้ว่า
“ตอนแรกคิดอยากเรียนพยาบาล อยากรู้ว่าตัวเองจะชอบด้านนี้ไหม เลยลงเรียนคอร์สนี้ดูค่ะ เพราะเรียนไว จบไว ได้งานง่าย แล้วได้ก้าวขาเข้าไปในงานด้านการแพทย์ จึงทำมาตั้งแต่นั้นและรู้สึกชอบ” คุณโซเฟีย กล่าว พร้อมเสริมถึงรายได้สำหรับงานในตำแหน่งนี้
“สำหรับคนที่พึ่งจบมา อัตราค่าจ้างจะอยู่ในช่วง 20 เหรียญต้นๆ ถ้าทำในคลินิก ถ้าทำในโรงพยาบาล ก็จะได้อัตราค่าจ้างในอัตราน้องๆ ของพยาบาลเลยค่ะ” คนไทยในควีนส์แลนด์ผู้นี้เผย
เธอกล่าวต่อไปว่า หลักสูตรเบื้องต้นที่ผู้สนใจทำงานเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างด้านการแพทย์ คือหลักสูตร Certificate III in Pathology Collection “ส่วนตัวเรียน 6 เดือนเป็นการเรียนพาร์ทไทม์ แต่มีหลักสูตรที่ย่นระยะเวลาเหลือ 15 สัปดาห์ และจะต้องมีการฝึกงาน 35 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะสามารถออกไปสมัครงานและปฏิบัติงานได้”
“ในหลักสูตรจะสอนเรื่องการสื่อสารในที่ทำงาน การควบคุมโรคติดต่อต่างๆ การใช้ศัพท์ทางการแพทย์ กายวิภาคเบื้องต้น สรีรวิทยา ทักษะลูกค้าสัมพันธ์ และการเจาะเลือดและการเก็บตัวอย่างทางการแพทย์ทั่วไป”
แม้ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการเรียนและทำงานในด้านนี้ จะเป็นภาษาระดับสูงกว่าภาษาอังกฤษทั่วไปในชีวิตประจำวันและเป็นภาษาอังกฤษเฉพาะทาง แต่คุณโซเฟีย ย้ำว่า ไม่ยากเกินเอื้อมสำหรับผู้ที่ตั้งใจจริง
“ถ้าคุณสามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ เราจะไปเริ่มเรียนใหม่ในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นศัพท์แพทย์ กายวิภาค ทุกอย่างมันมีการเริ่มต้นหมด ขอให้ใจรักและอยากทำเท่านั้น สำหรับคำศัพท์ต่างๆ ถ้าเราฝึก มันจะต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ค่ะ”สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้คนไม่น้อยไม่มั่นใจว่าตนจะทำงานนี้ได้หรือไม่ คือความรู้สึกกลัวเลือด ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่คุณโซเฟียแนะนำวิธีคิดเพื่อแก้ไขความกลัวในใจนี้
อุปกรณ์สำหรับให้นักเรียนได้ฝึกหัดการเจาะเลือดในหลักสูตร หลักสูตร Certificate III in Pathology Collection Source: Dutsaengdao Jamjuree
“ตอนทำงานตอนแรกๆ ก็กล้าๆ กลัวๆ เหมือนกันค่ะ เพราะอยู่ดีๆ เราต้องจับเข็มจิ้มแขนคนอื่น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมั่นใจมาตั้งแต่แรก แต่ถ้าเราทำความเข้าใจว่าเลือดก็คือของเหลวชนิดหนึ่งในร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าเรานำไปผูกโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว เช่น มันมีความเจ็บปวด ต้องโดนทำร้ายจึงมีเลือดออก มันจะทำให้เรารู้สึกไปในทางลบ แต่ถ้าเราเข้าใจในงานที่เราทำและทำงานไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน”
คุณโซเฟีย อธิบายว่า ในการทำงานแต่ละวัน เมื่อคนไข้เดินเข้ามาหา เจ้าหน้าที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบอย่างมากเกี่ยวกับข้อมูลทั้งจากแพทย์ จากตัวคนไข้ ไปจนถึงการให้ข้อมูลต่อไปยังห้องแล็บและแพทย์ผู้ดูแลรักษาคนไข้
“เมื่อดูใบส่งตัวจากแพทย์ เราจะดูว่าแพทย์ต้องการให้เราทำอะไรบ้าง เก็บตัวอย่างด้านการแพทย์อะไรบ้าง มีคำสั่งพิเศษหรือไม่ที่ต้องให้คนไข้ อดน้ำ อดอาหาร หรือหยุดใช้ยา หรือต้องการผลการตรวจอย่างเร่งด่วนหรือไม่ เราต้องเช็กข้อมูลคนไข้และจดบันทึกไว้”
“จากนั้น เราจะเจาะเลือดคนไข้ โดยเช็กว่าเราจะเจาะตรงไหน เส้นเลือดเป็นแบบไหน และเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม เมื่อเจาะเลือดเสร็จแล้ว เราต้องดูว่า คนไข้อาการเป็นอย่างไร สามารถกลับบ้านได้ไหม คนไข้บางคนมีแนวโน้มที่เลือดจะไหนเยอะกว่าคนอื่น ก็ต้องให้นั่งพักก่อน เราต้องมีการประเมินด้านนี้ด้วย” คุณโซเฟีย อธิบายนอกจากความรู้ความสามารถในด้านเทคนิคแล้ว การพูดคุยกับคนไข้ก็สำคัญยิ่งสำหรับการทำงานในตำแหน่งนี้เช่นกัน
การปฏิบัติงานจริงในการเจาะเลือดคนไข้ Source: Pixabay
“หากคนปฏิบัติหน้าที่เครียดหรือประหม่า คนไข้ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ของเราจะสามารถรู้สึกได้ ฉะนั้น เราต้องควบคุมสติตนเอง งานนี้เป็นงานที่ต้องนิ่งและควบคุมสติสัมปชัญญะตลอดเวลา ถึงแม้เราอาจจะประหม่า แต่เราก็แสดงให้คนไข้เห็นไม่ได้ เพราะคนไข้อาจประหม่าหรือตกใจไปด้วย ซึ่งตอนปฏิบัติงานแรกๆ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ตรงนี้เป็นทักษะที่เราสามารถฝึกฝนและเก็บเกี่ยวจากการทำงานได้”
คุณโซเฟีย กล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญที่ผู้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างด้านการแพทย์ต้องมีโดยสังเขป คือ
“ต้องเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบ เพราะในการอ่านใบส่งตัว ในการเก็บตัวอย่างทุกอย่างหรือเจาะเลือด จะต้องมีความถูกต้อง หากเราใส่ข้อมูลผิดหรือทำอะไรผิดไปนิดเดียว ผลเลือดที่ออกมาอาจส่งผลต่อการรักษาหรือการคำนวณยาของคนไข้ได้ และต้องมีใจรักและมีความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ มีความเห็นอกเห็นใจ”
เธออยากฝากถึงคนไทยในออสเตรเลียให้กล้าที่จะทำตามความฝันของตนเอง
“อยากบอกคนไทยว่า อย่ากลัว เพราะทุกอย่างมันมีการเริ่มต้นเสมอ อย่าท้อเวลาที่อยากจะทำอะไร ขอให้ลองทำไปและตั้งใจทำ เพราะมันไม่มีอะไรที่ยากเกินไปค่ะ” คุณโซเฟีย คนไทยในควีนส์แลนด์ กล่าวทิ้งท้าย
ฟังคุณโซเฟีย ดุจแสงดาว จามจุรี อธิบายการทำงานอย่างละเอียด พร้อมเล่าประสบการณ์ฉุกเฉินในการทำงาน ที่พบคนไข้หมดสติ หรือเมื่อเจาะเลือดคนไข้แต่ไม่เจอเส้นเลือด คนไข้ไม่พอใจอย่างมาก เธอแก้ไขสถานการณ์อย่างไร พร้อมให้ข้อมูลคอร์สเรียนและค่าเรียน ที่รัฐบาลอาจช่วยออกค่าเรียนให้ส่วนหนึ่งได้สำหรับผู้มีสิทธิ์บางคน
กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
ก้าวสู่งานด้านสุขภาพกับงานเจ้าหน้าที่เจาะเลือด
SBS Thai
30/04/202120:13
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จากความฝันสู่อาชีพนางพยาบาล ณ มหานครซิดนีย์
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
อย่าปล่อยให้หนี้พอกพูนมีสายด่วนช่วยเหลือฟรี