ผู้คนหลายล้านในทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว และขณะนี้การฉีดวัคซีนเช่นเดียวกันได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในออสเตรเลีย
แต่ยังคงมีข้อมูลไม่มากนักด้านการทดลองวัคซีนโควิดในหมู่ประชาชนที่มีอาการป่วยบางอย่าง หรือในหมู่ประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และผู้สูงอายุ
ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียน และจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (เอทีเอจีไอ หรือ ATAGI)
ฉันตั้งครรภ์อยู่ ฉันควรได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่?
ข้อมูลล่าสุดจากเอทีเอจีไอสำหรับสตรีมีครรภ์ในการรับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค คือ องค์กร “ไม่แนะนำวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ควรฉีดระหว่างตั้งครรภ์”
นั่นหมายความว่า หากคุณไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะป่วยจากเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง หรือไม่มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสเชื้อ คุณอาจเลือกที่จะรอจนหลังการตั้งครรภ์ศ.จูเลีย ลีสค์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัคซีนของประชาชน กล่าวว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตก เนื่องจากทางการเพียงแค่ต้องการดำเนินการ “อย่างรอบคอบเป็นพิเศษ” เท่านั้น
The vaccines haven't been tested on pregnant women. Source: Getty Images
“เหตุผลที่พวกเขายังไม่แนะนำให้ฉีด เพราะยังไม่มีการทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของวัคซีนในสตรีมีครรภ์” ศ.ลีสค์ กล่าว
เป็นความจริงที่สตรีมีครรภ์ไม่ได้รวมอยู่ในการทดลองวัคซีนในมนุษย์ครั้งสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับวัคซีนที่ออสเตรเลียสั่งซื้อ ดังนั้น ข้อมูลสำหรับคนกลุ่มนี้จึงมีน้อย แต่มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าตนกำลังตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ระหว่างการทดลองวัคซีนที่เกิดขึ้นในสหรัฐและสหราชอาณาจักร และนักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้าจับตาดูพวกเธออย่างใกล้ชิด จนถึงขณะนี้ ไม่มีรายงานใดๆ ว่าวัคซีนส่งผลที่เป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์เหล่านั้น
ศ.ลีสต์ กล่าวว่า เธอคาดว่าคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับสตรีมีครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปและมีการประเมินข้อมูลมากขึ้น
หากคุณมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักจากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือคุณมีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสเชื้อ ก็มีคำแนะนำให้คุณควรฉีดวัคซีน แม้คุณจะตั้งครรภ์ เอทีเอจีไอ กล่าวว่า “จากความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวัคซีน เราไม่คาดว่ามันจะก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงในหมู่สตรีมีครรภ์หรือต่อทารกในครรภ์”
วัคซีนจะกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ หรือการให้นมทารกของฉันหรือไม่?
ศ.ลีสค์ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า สตรีในวัย 20 ปีเศษและ 30 ปีเศษ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะรู้สึกลังเลใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ
“มีความลังเลใจมากกว่าคนกลุ่มอื่นเล็กน้อยในหมู่ผู้หญิงในวัยที่มีบุตรได้ เราสงสัยว่า อาจเป็นเพราะพวกเธอต้องการให้แน่ใจอย่างที่สุดว่า วัคซีนจะปลอดภัยสำหรับพวกเธอและสำหรับทารกในครรภ์”เช่นเดียวกัน มีการส่งเสริมให้แม่ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมทารกไปรับการฉีดวัคซีนด้วย คำแนะนำระบุว่า คุณไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมทารกก่อนหรือหลังการฉีดวัคซีน บางคนวิตกว่า วัคซีนอาจถูกส่งผ่านไปยังทารกผ่านน้ำนมแม่ แต่เอทีเอจีไอ ยืนยันว่า ไม่มีอันตรายใดๆ แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม
Professor Julie Leask from the University of Sydney. Source: SBS News
“เราไม่คิดว่ามันจะถูกส่งผ่านการให้นมบุตร แต่ถึงแม้มันจะเกิดขึ้น มันจะถูกทำลายไปในกระเพาะของทารก ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อทารกของคุณ” เอทีเอจีไอ กล่าว
ฉันเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนัก ฉันควรไปรับการฉีดวัคซีนหรือไม่?
คำแนะนำของเอทีเอจีไอ ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค สามารถฉีดอย่างปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ทั้งแพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อย และแพ้ยา
คนกลุ่มเดียวที่อาจไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนตัวนี้ได้คือ ผู้ที่เกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงเฉียบพลันที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ (anaphylaxis) หลังฉีดวัคซีนครั้งก่อนๆ หรือมีประวัติการเกิดอาการดังกล่าวจากสารองค์ประกอบของวัคซีน รวมทั้ง โพลีเอธิลีน ไกคอล (polyethylene glycol หรือ PEG)ศ.แกรี โกรห์แมนน์ นักไวรัสวิทยา ที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นสมาชิกของสัมพันธมิตรการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ปฏิกิริยาภูมิแพ้นั้นพบได้ไม่บ่อยนัก
Allergic reactions to the Pfizer/BioNtech vaccine are said to be incredibly rare. Source: Photonews
“อัตราต่ำมาก ซึ่งถือว่าโชคดี คือราว 11 คนต่อ 1 ล้านคน” ศ.โกรห์แมนน์ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม มันเป็นการเตือนว่า ผู้ใดที่มีอาการภูมิแพ้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และผู้ที่ฉีดวัคซีนให้จำเป็นต้องคอยจับตาดูผู้ที่รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 15-30 นาที (หลังฉีดวัคซีนเสร็จแล้ว)”
เอทีเอจีไอ แนะนำให้ผู้ใดที่มีประวัติเคยเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงเฉียบพลันที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ (anaphylaxis) หรือผู้ที่แพทย์แนะนำให้พก อีพิเพน (EpiPen) ให้ต้องคอยดูอาการ 30 นาที (แทนที่จะเป็น 15 นาทีตามปกติ) หลังได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย
ฉันมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีอาการทางสุขภาพ จะปลอดภัยหรือไม่?
วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค นั้นแนะนำให้ฉีดสำหรับประชาชนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเนื่องจากพวกเขามีความเสี่ยงมากกว่าใครที่จะป่วยหนักเพราะเชื้อโควิด แม้เอทีเอจีไอจะกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลในขณะนี้เรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในคนกลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการทดลองวัคซีนในมนุษย์ที่เคยเกิดขึ้น
ศ.โกรห์แมนน์ กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในคนกลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19“ขณะที่ชุดข้อมูลยังคงไม่สมบูรณ์ แต่จากการประเมินด้านความเสี่ยงแล้ว อาจยังคงคุ้มค่าที่คุณจะได้รับการฉีดวัคซีน แต่ขอให้คุณต้องปรึกษาแพทย์จีพีของคุณ หรือเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพก่อนเสมอ” ศ.โกรห์แมนน์ กล่าว
“ประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำน่าจะต่ำลง รวมทั้งประสิทธิผลด้วย” เขากล่าว
“แต่มันไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่ได้รับการปกป้องจากการป่วยหนักจนทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน หรือแม้แต่เสียชีวิต”
มันปลอดภัยสำหรับคนอายุมากที่ร่างกายอ่อนแอและผู้สูงอายุหรือไม่?
เอทีเอจีไอ ยังไม่ได้มีคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ แต่แนะนำให้แต่ละบุคคล “ควรได้รับการประเมินอย่างระมัดระวังเป็นรายบุคคลไป”
ศ.โกรห์แมนน์ กล่าวว่า สำหรับคนกลุ่มนี้ เนื่องจากผลข้างเคียงของวัคซีน แม้จะมีน้อยมาก แต่สำคัญที่จะต้องไตร่ตรองประโยชน์ของวัคซีนกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
“สำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง บางทีการฉีดวัคซีนให้พวกเขาอาจไม่ใช่ความคิดที่ดี ดังนั้น เอทีเอจีไอ และองค์กรอื่นๆ จึงแนะนำให้ควรมีการประเมินเป็นรายบุคคลไป”
เมื่อเดือนที่แล้ว มีรายงานว่า โดยเฉพาะวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซนากา อาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ หลังประเทศในยุโรปหลายประเทศรับรองวัคซีนนี้สำหรับฉีดให้คนอายุต่ำกว่า 65 ปีเท่านั้น
แต่ ศ.โกรห์แมนน์ กล่าวว่า “เราไม่ควรตระหนกตกใจกับเรื่องนี้ นั่นเป็นเพียงมาตรการป้องกันล่วงหน้าด้านความปลอดภัยเท่านั้น เพราะยังคงไม่มีข้อมูล”
“เราจำเป็นต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ในการประเมินผลของวัคซีนเหล่านั้น ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้สูงอายุ และโดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ”
Experts say the Covid-19 vaccine will be similar to getting the annual flu jab. Source: Press Association
ฉันเกรงว่า ฉันจะติดเชื้อจากการฉีดวัคซีน มันเป็นไปได้หรือไม่?
ศ.เอเดรียน แอสเตอร์แมน นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากการฉีดวัคซีนนั้นเป็นไปไม่ได้
“ไม่มีวัคซีนเหล่านี้ใดๆ ที่มีเชื้อไวรัสที่ยังเป็นๆ อยู่ ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสเลยที่คนจะติดเชื้อไวรัสผ่านการฉีดวัคซีน”
เช่นเดียวกับโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 จากศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งประชาชนไม่ควรวิตก เพราะมีมาตรการด้านสุขภาพที่ใช้บังคับอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
แล้วข้อมูลส่วนตัวของฉันล่ะ มันจะถูกเก็บไว้โดยรัฐบาลใช่หรือไม่?
รัฐบาลจะจัดรักษาข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับคุณเมื่อคุณได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อจะได้รู้ว่าใครที่ฉีดวัคซีนแล้วบ้าง
“มีฐานข้อมูลส่วนกลางแห่งชาติสำหรับการฉีดวัคซีน ซึ่งระบุว่าวัคซีนใดบ้างที่คุณเคยฉีดแล้ว วันที่ฉีด วันเกิดของคุณ และปฏิกิริยาแพ้วัคซีนใดๆ ที่คุณอาจเคยมีในอดีต” ศ. แอสเตอร์แมน กล่าว
มันสำคัญที่รัฐบาลต้องมีข้อมูลบางอย่างเหล่านี้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนของคุณ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถติดตามดูอาการที่คุณอาจมีหลังฉีดวัคซีนแล้ว
Just like with Australia's Covid-19 testing clinics, there will be strict public health measures in place to keep everyone safe. Source: Getty
ฉันจะสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยได้หรือไม่?
เอทีเอจีไอ แนะนำว่า ประชาชนควรรอ 14 วันหลังฉีดวัคซีนโควิดแล้ว สำหรับทั้งวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคและวัคซีนของแอสตราเซเนกา จึงจะสามารถรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ องค์กรกล่าวว่า วัคซีนทั้งสองตัวนี้ “บางครั้งอาจทำให้พบปฏิกิริยาข้างเคียงที่เล็กน้อยถึงปานกลางได้บ่อยขึ้น” ดังนั้น จึงจะปลอดภัยกว่า ที่ควรจะรอ
ศ.โกรห์แมนน์ เห็นด้วยว่า “เพื่อเป็นการป้องกัน จึงควรทิ้งระยะห่างกัน 2 สัปดาห์ ซึ่งผมคิดว่านั่นสมเหตุสมผลดี”
ขณะที่ เอทีเอจีไอ ไม่แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในวันเดียวกัน แต่อาจมีบางสถานการณ์ที่อาจสามารถฉีดวัคซีนทั้งสองร่วมกันได้
ฉันยังคงบริจาคเลือดได้หรือไม่?
สภากาชาดแห่งออสเตรเลีย แนะนำให้ผู้บริจาคเลือดรอ 7 วันหลังจากได้รับวัคซีนแล้ว จึงจะบริจาคเลือดได้
ศ.โกรห์แมนน์ กล่าวว่า นี่น่าจะเพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า บุคคลนั้นไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ จากการฉีดวัคซีน
“หากผู้ที่ได้รับวัคซีนจะเกิดปฏิกิริยาต่อวัคซีน หรือเกิดเจ็บป่วย หรือเกิดผลข้างเคียง นั่นมักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วันถึงหนึ่งสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีน”
“ผมคิดว่า เพราะเหตุผลดังกล่าว จึงควรมีการเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนกับการบริจาคเลือด” ศ.โกรห์แมนน์ กล่าว
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
คุณอาจสังเกตว่า เอสบีเอส ไทย ไม่มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก แต่คุณยังสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเรา ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด
นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เราจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร? :การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของออสเตรเลียเริ่มขึ้นแล้ว
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
Settlement Guide: จะรับมือกับหนี้สินจากสถานการณ์โควิดอย่างไร