หลายปีแล้วที่เฟซบุ๊กถูกกดดันอย่างหนักให้ปราบปรามข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
แต่ขณะนี้ ข่าวที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้วจากสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย ไม่สามารถได้รับการโพสต์ลงเฟซบุ๊กได้อีกต่อไป จึงมีความวิตกว่า สื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่แห่งนี้กำลังกลายแห่งบ่มเพาะและแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและข่าวปลอม
“เมื่อขาดลิงก์ที่จะนำไปยังข้อมูลที่ผ่านตรวจสอบข้อเท็จจริง สิ่งที่เราจะเห็นคือ การคาดเดาและการคาดคะเนที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย” ดร.เบลินดา บาร์เนต อาจารย์อาวุโสด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยสวินเบิร์น กล่าว
“การที่เฟซบุ๊กออกมาทำเช่นนี้ และเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็นข่าวนั้น ฉันคิดว่าเป็นการโจมตีประชาธิปไตยโดยตรง”
โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ในเช้าวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) เฟซบุ๊กได้ยับยั้งการแชร์เนื้อหาของสำนักข่าวในออสเตรเลีย การปิดกั้นข่าว ซึ่งเฟซบุ๊กเคยขู่ว่าจะทำก่อนหน้านี้ เป็นการโต้ตอบร่างประมวลกฎหมายด้านอำนาจการต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining Code) ของรัฐบาลออสเตรเลีย
จากความเห็นขององค์กรกำกับดูแลด้านการแข่งขันในตลาดของออสเตรเลีย ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจระหว่างธุรกิจผู้ผลิตข่าวในออสเตรเลียกับแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะ กูเกิลและเฟซบุ๊ก
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการปิดกั้นดังกล่าวเริ่มขึ้น ผลกระทบต่อสำนักข่าวต่างๆ นั้นชัดเจน
โพสต์ข่าวเป็นโพสต์ประเภทหนึ่งที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่างๆ ในออสเตรเลียมากที่สุดในวันพุธ แต่ในวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) โพสต์ยอดนิยม 10 อันดับแรกกลายเป็นโพสต์ขององค์กรกีฬา นักการเมือง และตำรวจ
ดร.ทิม แกรห์ม เป็นอาจารย์อาวุโสด้านสื่อดิจิทัล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT) กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่การตัดสินใจของเฟซบุ๊กอาจให้ความน่าเชื่อถือแก่เพจต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ
“มันจะเปลี่ยนทิศทางให้ไปยังแหล่งข้อมูลนอกกฎหมาย หรืออกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีความน่าสงสัย” ดร. แกรห์ม บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
ตัวอย่างเช่น หนึ่งในเพจของกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในออสเตรเลีย ยังคงสามารถเข้าถึงได้
“นี่เป็นเนื้อหาข้อมูลประเภทที่ผมคิดว่าจะถูกเลือกให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นได้มากขึ้น เพราะมันยังคงอยู่ (บนเฟซบุ๊ก)ขณะที่สำนักข่าวกระแสหลักและสื่อต่างๆ ไม่อยู่แล้ว”
ชุมชนชายขอบ
หนึ่งในผลกระทบซึ่งน่าวิตกที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดกั้นข่าวในออสเตรเลียคือ มันจะส่งผลกระทบต่อชุมชนชายขอบ และชุมชนหลากวัฒนธรรมต่างๆ ในออสเตรเลียอย่างไร
คุณแมรี พาเทตซอส ประธานสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า สำคัญอย่างยิ่งที่ข้อมูลต่างๆ ที่ให้แก่กลุ่มชุมชนหลากวัฒนธรรมบนเฟซบุ๊กต้องถูกต้อง เนื่องจากหลายชุมชนพึ่งพาเฟซบุ๊กอย่างมากในด้านข่าวสาร
“เพราะเราต้องพึ่งพาเฟซบุ๊ก ตอนนี้เราจึงต้องพยายามหาทางออกอื่นๆ หากเฟซบุ๊กไม่สามารถให้เราทำได้อีกต่อไป”
“มันเป็นความเสี่ยงอย่างแท้จริง หากข้อมูลใดๆ ที่ออกไปนั้นไม่ถูกต้อง เราต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อแก้ไข”
ในคำแถลงจาก เอสบีเอส ออสเตรเลีย ซึ่งเพจข่าวของเอสบีเอสหลายเพจถูกเฟซบุ๊กปิดกั้น กล่าวว่า เอสบีเอส ผิดหวังอย่างยิ่ง ที่เฟซบุ๊กจะไม่แชร์ข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ที่เอสบีเอส นำเสนอเป็นภาษาต่างๆ กว่า 60 ภาษาให้แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก
“สำหรับหลายๆ คนแล้ว เฟซบุ๊กเป็นแหล่งข้อมูลหลัก และการปิดกั้นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างเอสบีเอส ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” โฆษกเอสบีเอส ระบุในคำแถลง
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
'เฟซบุ๊ก' แบนการโพสต์-แชร์ข่าวสารในออสเตรเลีย
คุณอาจสังเกตว่า เอสบีเอส ไทย ไม่มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก แต่คุณยังสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเรา ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด
นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
นักวิทย์เฝ้าตรวจหาโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร