วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา จากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) กำลังจะมาถึงออสเตรเลียในไม่ช้า สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในประเทศไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเชื่อผิด ๆ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมากมายเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา
เราได้พูดคุยกับ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอลิญอง (Peter Collignon) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดชั้นนำ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) เพื่อเปิดโปงความเชื่อผิด ๆ ยอดนิยม 6 ข้อ เกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา
ข้อที่ 1: ความเชื่อที่ว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ
ความเชื่อที่ผิดนี้ มาจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 33 รายที่ประเทศนอร์เวย์ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โดสแรก
โดยในเรื่องนี้ สถาบันสาธารณสุขของนอร์เวย์ (Institute of Public Health) ยืนยันว่า ไม่พบความเชื่อมโยงโดยตรง ระหว่างการเสียชีวิตของพวกเขา และวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาไปแล้ว
ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ขณะที่วัคซีนโควิดจะทำให้เกิดอาการมีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในบรรดาผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ความเป็นจริงนั้นก็คือ ผู้คนเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตในระดับสูง
“สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับวัคซีนนั้นก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันจะมีผลข้างเคียงที่บางครั้งอาจเป็นอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการที่รุนแรง แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และคุณต้องเปรียบเทียบกับอาการที่เกิดจากโรคด้วย” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“หากคุณเป็นโรคอย่างโควิด-19 ขณะที่มีอายุมากกว่า 85 ปี และอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ คุณมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 1 ใน 3 และถึงแม้ว่าคุณจะมีความเสี่ยงในระดับสูงที่จะเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก ประโยชน์ของวัคซีนก็ยังคงมากกว่าข้อเสียของมันอยู่ดี”
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายงานที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุเริ่มมีการเผยแพร่ หลังมีเพียงประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสเท่านั้น ที่อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวสำหรับประชาชนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำอะไรได้/ไม่ได้หลังฉีดวัคซีนโควิดแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า การตัดสินใจเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนนั้น จะพิจารณาในส่วนของข้อมูลสนับสนุนว่ามีมากแค่ไหน มากกว่าในเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย
“จนถึงตอนนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ยังคงไม่ได้รับการอนุมัติในหลายประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) และเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การศึกษาวิจัยหลายอย่างนั้นเสร็จสิ้นภายหลัง” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลได้กล่าวก็คือ ‘จนถึงตอนนี้ เรามีข้อมูลที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี’ มันไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ผลสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพียงแต่ว่าเรามีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่ามันได้ผล”
ข้อที่ 2: ฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เป็นโควิด-19
ศาสตราจารย์คอลิญอนได้คำตอบง่าย ๆ สำหรับความเชื่อนี้ว่า เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
“วัคซีนนี้จะไม่ทำให้คุณเป็นโควิด-19 เนื่องจากมันไม่ได้บรรจุไวรัสที่มีชีวิตเอาไว้” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“ไม่มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใด ๆ ที่มีไวรัสซึ่งมีชีวิต หรือไวรัสโควิด-19 ชนิดใดก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะติดโควิดจากการฉีดวัคซีน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำไมชุมชนพหุวัฒนธรรมจึงต้องการข้อมูลวัคซีนโควิดในภาษาของตนเอง
ข้อที่ 3: วัคซีนโควิด-19 ถูกสร้างเร็วเกินไป มันอาจไม่มีประสิทธิภาพ
วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่กำลังจะมีการใช้งานในออสเตรเลียนั้น เป็นวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่สุด โดยหวังผลระยะยาว ขณะที่วัคซีนรักษาโรคอื่น ๆ นั้น ใช้เวลาในการพัฒนานับสิบปี
แต่จากการเสียชีวิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการที่ทุกสิ่งต้องหยุดชะงักจากไวรัสโควิด-19 นั้น นักวิทยาศาสตร์กลับสามารถพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสดังกล่าวให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาน้อยกว่า 12 เดือน
ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ระหว่างที่กระบวนการเก็บข้อมูลนั้นยังคงดำเนินต่อไป วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาเหล่านี้นั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างไม่มีข้อสงสัย
“เราได้ก้าวไปข้างหน้า และทำได้สำเร็จอย่างรวดเร็วกว่าปกติ แต่เรายังคงต้องเก็บข้อมูลความปลอดภัยอย่างเพียงพอ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และจากข้อมูลที่เราเก็บได้ในตอนนี้ถึอว่าอยู่ในจุดที่ดี” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“แต่หากถามว่าเราต้องการข้อมูลมากกว่านี้หรือไม่ ใช่ เราต้องการข้อมูลเพิ่ม เนื่องจากยังมีกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเราต้องการข้อมูลในส่วนนี้เป็นอย่างมาก และในส่วนของเด็กด้วยเช่นกัน ซึ่งเราไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เลย”
ข้อที่ 4: ถ้าวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ผลแค่ 60-70% มันจะป้องกันโควิดไม่ได้
วัคซีนต้านไวรัสจากอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซเนก้า ได้เป็นฐานรากของโครงการวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาของออสเตรเลีย จากการทำข้อตกลงระหว่างบริษัทผลิตวัคซีน CSL ในการผลิดวัคซีนภายในประเทศจำนวน 50 ล้านโดส
ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นของวัคซีนจากไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสถึง 95% วัคซีนจากอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซเนก้านั้น มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 60-70%
แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า แม้วัคซีนจากอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซเนก้า จะไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อทั้งหมดได้ มันก็ยังสามารถป้องกันผู้คนจากอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง รวมถึงสามารถเก็บรักษาและขนส่งได้ง่ายกว่าวัคซีนของไฟเซอร์
“วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้านั้นไม่สามารถป้องกันโควิดได้ดีเท่ากับวัคซีนของไฟเซอร์ แต่ดูเหมือนว่ามันจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง และการเสียชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งคุณต้องจำเอาไว้ว่านั่นเป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“ดังนั้น ในส่วนของการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิต ผมคิดว่ามันสามารถทำได้ดีกว่า 60% อาจจะเป็น 80 – 90% ก็ว่าได้”
ข้อมูลล่าสุดจากสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าสามารถหยุดยั้งการติดเชื้อได้ 82% เมื่อฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 12 สัปดาห์ แทนที่จะเป็นระยะห่าง 4 สัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการหยุดการติดเชื้อเพียง 62%
แต่ ศาสตราจารย์คอลิญอน กล่าวว่า หากวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาได้ การติดเชื้อในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกังวล
โควิด-19 นั้น มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 5 – 10 เท่า ดังนั้น หากเรามีสิ่งใดก็ตามที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ที่ 80 - 90% ซึ่งเป็นสิ่งที่วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าจะสามารถทำได้ ก็คือว่าคุ้มค่าที่เรามีมัน” ศาสตราขารย์คอลิญอน กล่าว
“หน้ากากอนามัยก็เป็นอีกเครื่องมือที่ดี หากเกิดการแพร่เชื้อในชุมชนในระดับสูง แต่นั่นจะลดโอกาสในการเสียชีวิตของคุณได้เพียง 15 – 20% ดังนั้น หากคุณมีสิ่งที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 60 - 90% คุณคงโง่เขลาหากไม่ใช้สิ่งนั้นด้วย เพราะมันจะสามารปกป้องคุณได้มากกว่าการพึ่งพาหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว”
ข้อที่ 5: หากเคยเป็นโควิด-19 แล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีน
ในจุดนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดซะทีเดียว จริงอยู่ที่ว่า หากคุณหายป่วยจากไวรัสโควิด-19 ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะพัฒนาแอนติบอดีที่จำเป็นในการป้องกันร่างกายของคุณจากการติดเชื้อในอนาคต ซึ่งเป็นแอนติบอดีชนิดเดียวกับที่วัคซีนจะสร้างให้กับร่างกายคุณ
แต่ปัญหาก็คือ เรายังไม่รู้ว่าแอนติบอดีเหล่านั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับแอนติบอดีจนถึงในตอนนี้ ระบุว่ามันจะสามารถอยู่ในร่างกายได้อย่างน้อย 1 ปี และวัคซีนจะเป็นสิ่งที่ขยายเวลาของมันออกไปให้นานขึ้นเท่านั้น
“หากคุณมั่นใจว่าเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีผลการตรวจหาปฏิกิริยาที่ใช้ในการเพิ่มปริมาณของ DNA (PCR test) เป็นบวก คุณอาจไม่ต้องไปรับวัคซีนโควิดเป็นคนแรก ๆ ก็ได้” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
“และจนถึงขณะนี้ ก็ยังคงไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการไปรับวัคซีนซ้ำอีกครั้ง และตามทฤษฎี มันสามารถขยายเวลาในการปกป้องของแอนติบอดีให้นานขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากคุณไปรับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 2 - 3 ปี”
ข้อที่ 6: วัคซีนโควิดจะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ระบุว่า วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่มีการใช้งานอยู่ หรืออยู่ในระหว่างการพัฒนานั้นจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์
ความเชื่อผิด ๆ นี้ มีที่มาจากข้อเท็จจริงที่หลายประเทศต่างแนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้รับการทดสอบกับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากการในทดลองวัคซีนส่วนมากในประวัติศาสตร์นั้น จะไม่ทำการทดลองในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา จะได้รับการเปิดเผยในอีกไม่เดือนหรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเขาคาดว่าผลลัพธ์นั้นคงไม่มีอะไรที่ต้องประหลาดใจ
ผมไม่คิดว่าจะมีเหตุผลใด ๆ ที่วัคซีนโควิดจะส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ในอนาคต อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าโควิด-19 ต่างหากที่จะส่งผลในส่วนนี้ หากคุณมีอาการป่วยที่รุนแรง จนระดับออกซิเจนในเลือดของคุณต่ำลง รวมถึงทำให้ไตของคุณมีปัญหา” ศาสตราจารย์คอลิญอง กล่าว
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
อนาคตไกลกับงาน จนท.ล้างเครื่องมือแพทย์