โรเบิร์ต ลอว์ลาช ย้ายถิ่นฐานจากประเทศเลบานอน มาอยู่ในออสเตรเลียในปี 1992 เขาเชื่อว่า การทำงานหนักในที่สุดจะให้ผลตอบแทนอย่างที่หวังในประเทศใหม่
แต่สิ่งที่เขาไม่ได้คาดหวังคือ การพบเจอคนสองคนในช่วงปีแรกที่เขามาอยู่ในประเทศใหม่ ซึ่งทำให้ชีวิตของเขาไม่ต้องลำบากอีกต่อไป
โรเบิร์ต ที่เป็นชาวเลบานอน ให้สัมภาษณ์กับ เอสบีเอส อาราบิก 24 ว่า การได้พบบุคคลสองคนที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล เกิดขึ้นขณะที่เขากำลังเข้ากะขับรถแท็กซี่อยู่ในนครซิดนีย์
วันนั้น เขาได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่า มีผู้โดยสารคนหนึ่งเรียกรถให้ไปรับที่สถานที่แห่งหนึ่งในย่านกิลด์ฟอร์ด ทางซิดนีย์ตะวันตก ให้ไปส่งยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในย่านเดียวกัน ซึ่งค่าโดยสารรวมแล้วเพียง 5 ดอลลาร์
ขณะที่ยอมรับว่า คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการขับไปส่งผู้โดยสารในระยะทางสั้นๆ เช่นนั้น เพราะค่าโดยสารที่ต่ำ แต่เขาตัดสินใจไปรับงานนี้ เพราะเขาได้รับแจ้งว่าผู้โดยสารคนดังกล่าวนั่งเก้าอี้เข็นสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ทุพพลภาพ
“ผมเห็นการเรียกใช้บริการเข้ามาที่ค่ารถไม่เกิน 5 ดอลลาร์ และมันถึงตาผม ผมรู้เลยว่าคนขับแท็กซี่คนอื่นๆ คงหัวเราะเยาะผมแน่ๆ”
“แต่ผมเห็นว่าการเรียกรถครั้งนี้สำหรับผู้ที่ใช้เก้าอี้เข็น ผมจึงตัดสินใจไปรับทันที ผมคิดกับตัวเองว่า พวกเขาคงหารถได้ไม่ง่ายนัก”
แม้ว่าเขาจะต้องใจช่วยเหลือผู้โดยสารคนดังกล่าวและเพื่อนชายของเธอ แต่พวกเขาก็เปลี่ยนแผน
“พวกเขาเปลี่ยนใจและตัดสินใจไปย่านออเบิร์น นั่นหมายความว่า ค่าโดยสารจะเพิ่มเป็น 30 ดอลลาร์ ซึ่งผมคิดว่า ได้เงินดี”
จากพวกเขาขอให้โรเบิร์ตรอที่จุดเดิมที่ไปส่ง และให้พาพวกเขากลับไปที่ย่านกิลฟอร์ดอีก
“หลังจากพาพวกเขาไปส่งบ้านแล้ว พวกเขาให้เงินผม 160 ดอลลาร์ แทนที่จะให้ 60 ดอลลาร์สำหรับค่าโดยสาร”
เป็นปกติที่จากนั้น โรเบิร์ตจะให้เบอร์โทรศัพท์ของเขาแก่ผู้สูงอายุทั้งสองคนไว้ เผื่อพวกเขาต้องการใช้บริการรถแท็กซี่อีกในอนาคต
“ตอนนั้น พวกเขาได้โทรศัพท์ติดต่อมาเป็นประจำให้ผมไปรับไปส่ง”
ในช่วงปีต่อมา เขาได้รู้จักผู้สูงอายุทั้งสองคน คือเจน* และจอห์น* ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนและเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานที่ทำงานเดียวกัน
“พวกเขาเคยทำงานด้วยกัน และเมื่อแก่ตัวลง เธอได้ขอให้เขาย้ายมาอยู่กับเธอ”
“เขาคอยทำสวนให้เธอและช่วยซ่อมบำรุงบ้าน ขณะที่เธอทำงานบ้านต่างๆ”
โรเบิร์ต ยังได้รู้ว่าทั้งสองเป็นผู้รับเงินเบี้ยบำนาญ เขาจึงปฏิเสธไม่ยอมรับเงินค่าทิปที่ผู้สูงอายุทั้งสองเสนอให้
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง โรเบิร์ต กล่าวว่า พ่อแม่ของเขาได้พบกับผู้สูงอายุทั้งสองขณะที่เดินทางมาเยี่ยมเขาจากเลบานอน
“ผมกำลังขับรถไปส่งพวกเขา แต่ผมขอแวะที่บ้านของผมระหว่างทางเพื่อไปเอาของ พ่อแม่ของผมจึงได้พบพวกเขาด้วย”
“พ่อของผมบอกกับผมหลังจากนั้นว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ผมสามารถทำได้คือ ช่วยดูแลผู้ที่ไม่มีใครดูแลพวกเขา”
หลังจากพ่อแม่ของเขากลับเลบานอนไปแล้ว แต่โรเบิร์ตยังคงไม่เคยลืมคำของพ่อ
โรเบิร์ต ลอว์ลาช และครอบครัว ซึ่งย้ายถิ่นฐานจากประเทศเลบานอน มาอยู่ในออสเตรเลียในปี 1992 Source: Robert Lawlache
“พวกเขายื่นซองจดหมายให้ผม”
ในปี 1995 สองปีหลังจากที่โรเบิร์ตได้พบเจนและจอห์นครั้งแรก ทั้งคู่ของให้เขาขับรถไปส่งที่สำนักงานทนายความ
“ผมไม่ได้ถามเหตุผลและผมทำไปตามคำสั่ง”
“หลังจากนั้นสองสามเดือน พวกเขาขอให้ผมขับรถไปส่งที่สำนักงานทนายความอีกครั้ง แต่คราวนี้ พวกเขายื่นซองจดหมายให้ผม”
เพราะคิดว่าคือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เขาจึงขอบคุณทั้งสองและเก็บซองดังกล่าวไว้เปิดดูทีหลังในวันนั้น
“เมื่อพวกเขายืนกรานให้ผมเปิดซองที่นั่น ผมก็พบว่า เธอมอบบ้านของพวกเขาให้ผมในพินัยกรรมของเธอ”
โรเบิร์ต จำได้ว่า เขารู้สึก “ยินดีอย่างตกใจ” คำพูดของพ่อเริ่มดังก้องในหัวของเขาอีกครั้ง
“ผมรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ตามมาอย่างมาก ในหัวของผม ผมพูดกับพระเจ้าว่า ผมรู้สึกว่าพระเจ้ากำลังบอกว่า ตอนนี้ ผมต้องดูแลพวกเขาแล้ว”
“ผมไปหาทนายความ และบอกเขาว่า ผมไม่สมควรได้รับบ้าน เขาบอกผมว่า มันเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องทำตามความต้องการของลูกความ และพวกเขาทำเช่นนั้นขณะมีร่างกายและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์”
ไม่นานหลังจากนั้น เจนได้เสียชีวิตลง และสุขภาพของจอห์นเริ่มย่ำแย่
“จอห์นอายุราว 75-77 ปี และราวกับว่าพระเจ้ามอบพลังให้เขาได้ดูแลผู้หญิงที่เขารัก ทันทีที่เธอเสียชีวิตลง สุขภาพของเขาเริ่มแย่ลง”
ความเอื้อเฟื้อสุดท้าย
แม้ว่าจะมีไมตรีต่อกัน แต่ปัญหาต่างๆ เริ่มผุดขึ้นมาในงานศพของเจน เมื่อเพื่อนบ้านต่างๆ สงสัยถึงบทบาทของโรเบิร์ต ที่มีต่อชีวิตของเจนและจอห์น
“ผมเริ่มรู้สึกเหมือนผมถูกกล่าวหา พวกเขาจะบอกจอห์นให้ระวัง เพราะผมเป็นชาวเลบานอน และบอกว่า ‘เขากำลังหลอกคุณอยู่’ ”
“ผมเริ่มได้รับโทรศัพท์ที่เกรี้ยวกราดจากจอห์น ซึ่งตะเบ็งเสียงใส่ผม”
“หลังจากนั้นสองชั่วโมง เขาก็จะโทรหาผมอีกครั้งแล้วขอโทษ ขอให้ผมยกโทษให้เขา บอกว่าเขาไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น”
“เป็นอย่างนี้อยู่หกเดือน และทุกครั้งที่ผมบอกว่า พอแล้ว ผมจะเอากุญแจสำรองคืนคุณไป เขาจะไม่ปฏิเสธที่จะรับมันคืนและบอกผมว่า คนอื่นๆ ได้กรอกหูเขา”
โรเบิร์ต กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ยากลำบากดังกล่าวได้ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแข็งแกร่งขึ้น
จอห์นเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากนั้น โรเบิร์ตจึงแสดงความเอื้อเฟื้อครั้งสุดท้าย ด้วยการฝังศพเพื่อของเขาที่สุสานรูกวูด (Rookwood) ซึ่งเขาได้ซื้อที่ในสุสานไว้สำหรับตนเองและภรรยา
“เราไปที่นั่นและฝังร่างของเขา แล้วใส่ชื่อเขาลงที่แผ่นจารึกหน้าหลุมฝังศพ”
จนถึงวันนี้ โรเบิร์ต กล่าวว่า เมื่อมีคนจากชุมชนชาวเลบานอนไปยังสุสานดังกล่าว และเห็นชื่อของผู้ที่ไม่ใช่ชาวเลบานอนอยู่บนหลุมฝังศพ พวกเขามักถามว่าเพราะเหตุใด และมักได้รับการบอกเล่าถึงเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อนี้
“ที่ตลกคือ ผู้คนยังคงมาพูดกับผมว่า ขอให้พระเจ้าอวยพรให้คุณในสิ่งที่คุณได้ทำให้เขา (จอห์น)”
เมื่อมองย้อนหลังกลับไป โรเบิร์ต กล่าวว่า เขาเป็นหนี้บุญคุณเจนและจอห์นไปตลอดชีวิต ที่ได้ช่วยเปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้น และช่วยให้ครอบครัวของเขาได้มีอนาคตที่สดใสกว่าเดิม
*ไม่ใช่ชื่อจริงของบุคคลทั้งสอง ตามการร้องขอของโรเบิร์ต
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
พอดคาสต์ ซีรีส์: สงครามชีวิตคนไทยในออสเตรเลีย