แรงงานที่มีอายุมากในออสเตรเลียเผชิญกับความลำเอียงเรื่องอายุในที่ทำงานมาก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
ซึ่งในประเด็นนี้สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Australian Human Resources Institute) ได้ทำการสำรวจตลาดแรงงานของออสเตรเลียและพบว่าร้อยละ 68 ของนายจ้างไม่ต้องการจ้างแรงงานที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
ฟังรายงาน
LISTEN TO
Viva: คิดอยากจะเปลี่ยนงานช่วงโควิดต้องทำอย่างไร
SBS Thai
08/02/202112:02
คุณ อดัม แฟร์ริเออร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทโฆษณา ติงเกอร์เบล (Thinkerbell) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่นายจ้างไม่เต็มใจที่จะจ้างแรงงานอายุมากส่วนใหญ่เป็นเพราะเรื่องงบประมาณ จากสถิติของรัฐบาลออสเตรเลียพบว่าในวงการอุตสาหกรรมโฆษณาที่เขาทำงานอยู่นั้นอายุเฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 38 ปี
"ความลำเอียงในเรื่องอายุในวงการโฆษณานั้นเป็นเรื่องที่พบโดยทั่วไปและผมคิดว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวเนื่องมากจากเรื่องเศรษฐกิจ เพราะว่าคนที่อายุมากและมีประสบการณ์การทำงานย่อมจะต้องการเงินเดือนที่สูงกว่าคนอายุน้อย แต่การมีประสบการณ์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้เปรียบมากนักในวงการโฆษณาดังนั้นนายจ้างจึงเลือกจ้างคนอายุน้อยที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์มากเท่าเพื่อที่จะได้จ่ายค่าแรงถูกลงแทน"
ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา องค์กรการกุศล บราเทอร์ฮูด ออฟ เซนท์ลอเรนซ์ (The Brotherhood of St Laurence ) มีรายงานว่าพลเมืองออสเตรเลียราว 400,000 คนที่มีอายุระหว่าง 51-65 ปี ได้รับผลกระทบเรื่องชั่วโมงการทำงานหรือการจ้างงานเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
คุณ รอน แมกซ์เวลล์ ประธานบริหารขององค์กร เวอร์โต (VERTO) ซึ่งเป็นองค์กรให้บริการการอบรมและการจ้างงานที่ไม่หวังผลกำไร เปิดเผยว่าองค์กรของเขาได้ทำการอบรมแรงงานที่มีอายุมากจำนวนมากที่มองหางานในสายงานอื่นผ่านโครงการ Skills Checkpoint ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลออสเตรเลีย
"แรงงานจำนวนมากเหล่านี้ยังมีคุณค่าและยังคงมีทักษะสูงในสายงานของพวกเขา ในขณะทึ่วุฒิการศึกษาของพวกเขาอาจจะโบราณไปแล้วแต่ทักษะและความรู้ที่พวกเขามียังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากต่อนายจ้าง"
โครงการ Skills Checkpoint ขององค์กร เวอร์โต ได้เปิดดำเนินการใน 3 รัฐคือ รัฐออสเตรเลียน แคปิตอล เทร์ริทอรี รัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิกตอเรีย ซึ่งโครงการนี้มุ่งเป้าในการอบรมแรงงานที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ตกงานหรือตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง
ผู้สมัครงานที่มีอายุอาจต้องทำการอบรมฟื้นฟูทักษะความรู้ก่อนเปลี่ยนงานใหม่ Source: Igor Alecsander
คุณ แมกซ์เวลส์ยอมรับว่าผู้ที่มองหางานอายุมากที่มาจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมมีปัจจัยเรื่องอุปสรรคด้านภาษาเข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากประเด็นเรื่องความลำเอียงเรื่องอายุในตลาดแรงงานด้วย
"ในขณะที่แรงงานเหล่านี้มีทักษะสูงจากประเทศเกิดของพวกเขาแต่โชคไม่ดีที่เมื่อพวกเขาสมัครงานในออสเตรเลีย นายจ้างบางส่วนอาจไม่ยอมรับวุฒิการศึกษาของพวกเขา แต่ก็ยังมีโอกาสที่พวกเขาอาจจะสามารถย้ายโอนหน่วยกิตที่พวกเขาเรียนมากับมหาวิทยาลัยบางแห่งในออสเตรเลีย หรือพวกเขาอาจจะต้องมาเรียนเพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อให้วุฒิการศึกษาของพวกเขาเป็นที่ยอมรับในออสเตรเลีย"
ในกรณีของคุณ เรย์มอนด์ ฮาน อายุ 57 ปีผู้ที่เคยเป็นฝ่ายบริหารของบริษัทยานยนต์เปิดเผยว่า การหางานในช่วงโควิด-19 กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นานาชาติต่างปิดพรมแดนในตอนที่เขากำลังจะบินกลับบ้านจากประเทศญี่ปุ่น
และสถานการณ์โควิด- 19 ทำให้คุณเรย์มอนด์มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเดินทางไปสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัวในออสเตรเลียได้ ซึ่งตรงนี้เองผลักดันให้เขาต้องคิดหาหนทางอื่น ซึ่งเขาตัดสินใจที่จะเรียนออนไลน์เพื่อที่จะเป็นนักฝึกอบรมด้านธุรกิจและความเป็นผู้นำแทน
"ผมไม่เคยคิดเลยว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นไปอย่างยาวนานที่เราเราไม่สามารถจะเดินทางกลับออสเตรเลียได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมต้องคิดหาแผนการสำรองซึ่งเมื่อผมไตร่ตรองดูแล้วก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำธุรกิจส่วนตัวล่ะ"
ประสบการณ์ของคุณ เรย์มอนด์ ตรงกับคำแนะนำของคุณ แมกซ์เวลล์ด้วยในประเด็นที่ว่าผู้มองหางานที่มีอายุมากอาจจะหางานในลักษณะที่เป็นลูกจ้างแบบพนักงานสัญญาจ้าง (contractor) ไปก่อนในขณะที่มองหาโอกาสงานใหม่ๆ เขาแนะนำว่า
"ปกติแล้วมันง่ายกว่าที่จะเปลี่ยนผ่านงานในขณะที่คุณยังมีอะไรทำอยู่แม้ว่าอาจเป็นแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ก็ตาม อย่างน้อยคุณก็ได้แสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถในการทำงาน คุณมีความเต็มใจและมีแรงกระตุ้นในการทำงาน"
ผู้สมัครงานต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาให้เป็นประโยชน์กับนายจ้างใหม่เช่นไร Source: Getty Image
คุณ ฮาน ได้ทำการศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่เขาวางแผนจะทำอย่างจริงจังและได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ธุรกิจที่มีความท้าทายในช่วงการแพร่ระบาดทั่วโลกเช่นนี้
"เราต้องมีการปรับเปลี่ยนพลวัตรของเราให้พ้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เราไม่สามารถทำในสิ่งเดิมๆ และหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า"
การปรับตัวและการสร้างกำลังใจที่จะปรับปรุงตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ คุณ อดัม แฟร์ริเออร์ ได้พบเห็นในตัวลูกจ้างที่มีอายุมากหลายราย เขาชี้ว่าสิ่งที่บริษัทพิจารณาเป็นอย่างแรกคือประโยชน์ที่ผู้สมัครและบริษัทจะได้รับร่วมกัน
"เราจึงต้องพิจารณาในเรื่องของทักษะต่างๆ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและเรื่องประสบการณ์ที่พวกเขามีและหลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทของเรามีหรือไม่ และขั้นตอนสุดท้ายคือการสัมภาษณ์ผู้สมัตรงานแบบตัวต่อตัวเพื่อที่จะดูว่าเราจะทำงานร่วมกับเขาเหล่านั้นได้ไหม"
จากผลกระทบของโควิด-19 โครงการรับผู้ฝึกงานของบริษัทติงเกอร์เบลต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้าแทน
คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Skills Checkpoint ในพื้นที่ที่คุณอาศัยได้ที่เว็บไซต์
หากคุณต้องการความช่วยเหลือด้านอารมณ์ คุณสามารถโทรศัพท์ไปที่ ที่ให้บริการการช่วยเหลือด้านจิตใจและอารมณ์ในช่วงไวรัสโคโรนาได้ที่ 1800 512 348
หากคุณต้องการความช่วยเหลือด้านภาษา คุณสามารถใช้บริการล่ามและนักแปลแห่งชาติได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ 13 14 50 และสามารถขอความช่วยเหลือในการติดต่อองค์กรที่คุณต้องการได้
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ผลสำรวจพบอคติต่อชาวเอเชียยังสูงในออสเตรเลีย