'เฟซบุ๊ก' แบนการโพสต์-แชร์ข่าวสารในออสเตรเลีย

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในออสเตรเลียพบกับหน้าเปล่าในเพจข่าวสารทุกช่องทุกฉบับ หลังเฟซบุ๊กประกาศตอบโต้ร่างกฎหมายบีบแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องจ่ายเงินเพื่อแสดงข่าวสารจากออสเตรเลีย

gettyimages-85595131.jpg
18 ก.พ. “เฟซบุ๊ก” เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า จะจำกัดห้ามผู้ใช้งาน และผู้เผยแพร่เนื้อหาภายในออสเตรเลีย จากการเข้าชมเนื้อหาข่าวภายในออสเตรเลียและจากต่างประเทศ

สื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ได้ระบุในเว็บบล็อกของตนว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการตอบโต้ต่อร่างกฎหมายของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่บีบบังคับให้โซเชียลมีเดียต้องจ่ายเงินเพื่อแสดงเนื้อหาข่าวของออสเตรเลีย

การตัดสินใจแบนเนื้อหาข่าวทั้งหมดของเฟซบุ๊กในวันนี้ หมายความว่า ผู้เผยแพร่เนื้อหาในออสเตรเลีย จะไม่สามารถแชร์หรือโพสต์คอนเทนต์ต่าง ๆ บนเพจเฟซบุ๊กของตนได้ ขณะที่เนื้อหาข่าวทั้งหมดจากผู้เผยแพร่ในต่างประเทศ ก็ไม่สามารถเข้าชมหรือแชร์ได้ภายในออสเตรเลียได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่อยู่นอกออสเตรเลีย จะไม่สามารถอ่านหรือรับชมเนื้อหาโพสต์ต่าง ๆ จากเพจของสำนักข่าวในออสเตรเลียได้
“ร่างกฎหมายที่ได้มีการเสนอ (โดยรัฐบาลออสเตรเลีย) นั้น ไม่มีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มของเรา และผู้เผยแพร่ซึ่งใช้แพลตฟอร์มของเราในการแชร์เนื้อหาข่าว”

“นั่นทำให้เราเหลือเพียงทางเลือกที่สุดโต่ง คือการยอมรับตามร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเพิกเฉยต่อความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและผู้เผยแพร่ หรือเลือกที่จะระงับบริการข่าวสารของเราในออสเตรเลีย เราได้เลือกตัวเลือกข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่หนักมาก”

นายแคมป์เบลล์ บราวน์ รองประธานความร่วมมือด้านข่าวระดับโลก กล่าวว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก

“ในวันนี้ เราได้ทำการตัดสินใจที่ยากลำบากในการจำกัดบริการข่าวสารบนเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย” นายบราวน์กล่าวในแถลงการณ์

“เฟซบุ๊กไม่ได้ขโมยเนื้อหาข่าว ซึ่งต่างกับสิ่งที่บางส่วนกล่าวอ้าง ผู้เผยแพร่เลือกที่จะแชร์เรื่องราวของพวกเขาทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่การมีผู้อ่านใหม่เข้ามา ไปจนถึงการมีผู้ติดตามคนใหม่ ๆ และการเพิ่มรายได้ องค์กรข่าวจะไม่ใช้เฟซบุ๊กเลย หากมันไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาในสิ่งสำคัญเหล่านั้น”
ด้าน “กูเกิล (Google)” บริการสืบค้นข้อมูลรายใหญ่จากสหรัฐ ฯ ได้ข่มขู่จะกระทำในลักษณะเดียวกับเฟซบุ๊ก โดยระงับบริการสืบค้นข้อมูลในออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้การเสนอร่างกฎหมายเสริมอำนาจต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining regulation) แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กูเกิลได้ลงนามในข้อตกลงที่จะจ่ายเงินให้กับธุรกิจสื่อในออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงสัญญาระยะเวลา 3 ปีกับบริษัท นิวส์ คอร์ป (News Corp) ที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ซึ่งครอบคลุมการเผยแพร่เนื้อหาข่าวในออสเตรเลีย และในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ทั่วโลก

ร่างกฎหมายเสริมอำนาจต่อรองของธุรกิจสื่อดังกล่าว จะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายด้านการแข่งขันและผู้บริโภค ปี 2010 (Competition and Consumer Act 2010) ที่กำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ จะต้องเจรจาข้อตกลงในสัญญาอนุญาตกับธุรกิจสื่อที่จดทะเบียนในออสเตรเลีย และจะต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อระงับข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ หากไม่สามารถตกลงกันได้

นายวิลเลียม อีสตัน (William Easton) กรรมการบริหารของเฟซบุ๊กออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระบุในเว็บบล็อกว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว “เป็นความพยายามในการลงโทษเฟซบุ๊ก จากเนื้อหาที่ไม่ได้นำมาเป็นของตัวเอง และไม่ได้ร้องขอ”

นอกจากนี้ นายอีสตัน ยังได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างเฟซบุ๊ก และกูเกิล โดยระบุว่า บริการสืบค้นของกูเกิลมีความเกี่ยวพันกับเนื้อหาข่าวสารและผู้เผยแพร่อย่างแยกไม่ออก ซึ่งผู้เผยแพร่ไม่ได้แบ่งปันเนื้อหาให้โดยสมัครใจ ในขณะเดียวกัน ผู้เผยแพร่สามารถเลือกที่จะโพสต์เนื้อหาข่าวบนเฟซบุ๊กได้โดยสมัครใจ ขณะที่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างฐานผู้รับสื่อ และสร้างรายได้จากโฆษณา

นายอีสตันยังระบุอีกว่า “มูลค่าในการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เผยแพร่ข่าวสารและเฟซบุ๊กนั้น ประโยชน์ของผู้เผยแพร่ข่าวสารนั้นเป็นสำคัญ” โดยเขาได้กล่าวอ้างว่า เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้สร้างการอ้างอิงถึงผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในออสเตรเลียโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (free referral) อยู่ที่ประมาณ 5,100 ล้านครั้ง ซึ่งสามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้ราว $407 ล้านดอลลาร์

“ผลประโยชน์ทางธุรกิจจากข่าวสารของเฟซบุ๊กนั้นเป็นส่วนน้อย” นายอีสตัน ระบุในเว็บบล็อก โดยเสริมว่า เนื้อหาข่าวสารต่าง ๆ ที่ปรากฎสู่สายตาผู้ใช้งานในนิวส์ฟีด (News Feed) น้อยกว่า 4% ของเนื้อหาทั้งหมด
เช้าวันนี้ ชาวออสเตรเลียตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เมื่อพบว่าโพสต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข่าวสารจากเพจสื่อมวลชนถูกลบออกไป ขณะที่หลายเว็บไซต์ได้ระบุว่าพวกเขาไม่สามารถโพสต์ข่าวบนเฟซบุ๊กได้อีกต่อไป  

นายพอล เฟลทเชอร์ (Paul Fletcher) รัฐมนตรีด้านการสื่อสารของออสเตรเลีย กล่าวกับวิทยุแห่งชาติเอบีซีเมื่อเช้าวันนี้ว่า แม้เฟซบุ๊ก จะตอบโต้ด้วยการจำกัดห้ามบริการข้อมูลข่าวสาร แต่รัฐบาลจะไม่อ่อนข้อในการสนับสนุนร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจต่อรองกับธุรกิจสื่อ

“ถ้าคุณทำธุรกิจในออสเตรเลีย คุณก็จะต้องต่อรองกับกฎหมายบนแผ่นดินของออสเตรเลีย” นายเฟลทเชอร์ กล่าว

“และสิ่งที่สำคัญก็คือ เฟซบุ๊กกำลังบอกกับชาวออสเตรเลียว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นบนแพลตฟอร์มนี้ ไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และไม่ใช่วารสารศาสตร์ที่มีความรับผิดชอบ ในระหว่างที่เรามีคำถามถึงความน่าเชื่อถือของเฟซบุ๊กอยู่ในตอนนี้ พวกเขาจำเป็นจะต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วย”

นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีการคลังออสเตรเลีย ได้โพสข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อเช้านี้ โดยระบุว่า เขาได้มีการเจรจา “อย่างเป็นขั้นเป็นตอน” กับนายมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก

“เขาได้ระบุถึงข้อกังขาที่เหลือ เกี่ยวกับร่างกฎหมายของรัฐบาลในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับธุรกิจสื่อ และเราตกลงที่จะดำเนินการเจรจาต่อไป เพื่อหาทางออกในอนาคต” นายฟรายเดนเบิร์ก กล่าว
นายปีเตอร์ เลวิส (Peter Lewis) จากสถาบันศูนย์เพื่อความรับผิดชอบทางเทคโนโลยี (Australia Institute’s Centre for Responsible Technology) กล่าวว่า หากไม่มีวารสารศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว เฟซบุ๊กจะเป็น “เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีความอ่อนแอ”

“เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้กำลังดำเนินธุรกิจด้วยการทำลายความไว้วางใจจากผู้คน การกระทำของเฟซบุ๊กในครั้งนี้หมายความว่า บริษัทได้ทำความผิดพลาดในเรื่องความเป็นส่วนตัว การป้องกันการบิดเบือนข้อมูล และการปกป้องข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งจะต้องได้รับแรงผลักดันจากมาตรการของรัฐบาลที่มีความแข็งแรงกว่า” นายเลวิส กล่าว
“หากไม่มีข่าวสารบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเหนี่ยวรั้งเอาไว้ เฟซบุ๊กก็คงเป็นได้แค่แหล่งรวมภาพแมวเหมียว และทฤษฎีสมคบคิด”

“ในขณะที่การรับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขเป็นข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญในตอนนี้ การตัดสินใจของเฟซบุ๊กนั้นเป็นเรื่องเย่อหยิ่ง สะเพร่า และอันตราย” นายเลวิส กล่าวเสริม

รายงานเพิ่มเติมโดย จาร์นี แบลกคาร์ลี (Jarni Blakkarly) 


คุณอาจสังเกตว่า เอสบีเอส ไทย ไม่มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก แต่คุณยังสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเรา ได้ที่เว็บไซต์ และบันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio



Share
Published 18 February 2021 12:07pm
Updated 18 February 2021 5:08pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AAP, Reuters, SBS


Share this with family and friends