LISTEN TO
หลายฝ่ายไม่พอใจกรณีเฟซบุ๊กแบนข่าวในออสฯ
SBS Thai
22/02/202109:24
ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้ปิดกั้นผู้เผยแพร่ข่าวสารและผู้ใช้งานในออสเตรเลีย จากการเข้าชม และแชร์เนื้อหาข่าวทั้งในออสเตรเลียและต่างประเทศ
นอกจากข่าวสารแล้ว บริการข้อมูลสำคัญ การแจ้งเตือนจากหน่วยงานสาธารณสุขและบริการฉุกเฉิน องค์กรด้านสวัสดิการสังคม องค์กรไม่แสวงผลกำไร และสหภาพต่าง ๆ ยังได้ถูกลบออกจากเว็บไซต์ของเฟซบุ๊กไปด้วย
ขณะที่ผู้ให้บริการฉุกเฉิน และองค์กรด้านสวัสดิการสังคมบางส่วน สามารถกลับมาใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กของตนได้ตามปกติ แต่ก็มีความกังวลว่า องค์กรอื่น ๆ อาจหลุดหายไปจากแพลตฟอร์มนี้ โดยเฉพาะองค์กรสื่อขนาดเล็ก
คุณปีเตอร์ เลวิส (Peter Lewis) ผู้อำนวยการสถาบันศูนย์เพื่อความรับผิดชอบทางเทคโนโลยี (The Australia Institute’s Centre for Responsible Technology) ได้อธิบายถึงการเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ว่า “เป็นการกระทำโดยไม่ยั้งคิด”
“มันคือการกระทำอันเย่อหยิ่งและไม่ยั้งคิดโดยเฟซบุ๊ก 30% ของชาวออสเตรเลียทั้งประเทศบอกว่า เฟซบุ๊กเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลักของพวกเขา ซึ่งตอนนี้พวกเขาเหล่านั้นกำลังอยู่ในพื้นที่ของการผลิตซ้ำภาพแมวน่ารักและทฤษฎีสมคบคิด เฟซบุ๊กจำเป็นต้องไตร่ตรองอีกครั้งถึงทิศทางที่พวกเขากำลังก้าวไป” นายเลวิส กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานจำนวนมากยังได้ชี้ว่า องค์กรสื่อเพื่อชนพื้นถิ่นหลายองค์กรได้รับผลกระทบจากการแบนข่าวสารของเฟซบุ๊กในครั้งนี้
มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรเหล่านี้ ในการแผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา คำเตือนฉุกเฉิน และข่าวสำคัญต่าง ๆ ไปยังสมาชิกภายในชุมชน
คุณเนโอมี โมแรน (Naomi Moran) ผู้จัดการทั่วไปจากหนังสือพิมพ์คูรี เมล์ (Koori Mail) มีความกังวลว่า กระบอกเสียงสำคัญของชาวพื้นเมืองออสเตรเลียจะถูกปิดกั้น
“เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่มีการโต้ตอบและมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้คนของเราได้ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน และทำให้สารที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลที่เราได้ส่งออกไปยังชุมชนนั้น เป็นไปในรูปแบบของการมีส่วนร่วม มีความเหมาะสม และมีความปลอดภัยทางวัฒนธรรม ภาคส่วนของเราได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับองค์กรสื่อเพื่อคนผิวสี ซึ่งความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดายกับชุมชนนั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย” คุณโมแรน กล่าว
คุณโซฟี แมกนีล (Sophie McNeill) จากฮิวแมน ไรตส์ วอตช์ (Human Rights Watch) ได้อธิบายถึงการกระทำของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ว่า “เป็นเรื่องเลยเถิด”
เธอกล่าวว่าบริษัทควรพิจารณาถึงเรื่องจริยธรรมที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของพวกเขา โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งอยู่ท่ามกลางฤดูกาลไฟป่า และการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาในทั่วโลก
เราคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่เฟซบุ๊กจะพิจารณาถึงผลกระทบจากสิ่งที่พวกเขาทำลงไปในวันนี้ และโดยเฉพาะผลกระทบต่อชุมชนซึ่งมีความเปราะบาง ซึ่งเข้าถึงข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊ก นี่คือสิ่งที่เป็นไปในออสเตรเลียทุกวันนี้” คุณแมกนีล กล่าว
“มันช่างน่าประหลาดใจว่าบริษัทหนึ่งจะมีพลังอำนาจได้ถึงขนาดนี้ เราทุกคนกำลังอยู่ในจุดเดียวกัน และหวังว่าบริษัทนี้จะทำอะไรที่มีจริยธรรมมากกว่าที่เกิดขึ้นในวันนี้”
คุณแอนนา ดราฟฟิน (Anna Draffin) ประธานบริหาร องค์กรวารสารศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest Journalism Initiative) กล่าวว่า การประเมินความเสียหายของภูมิทัศน์สื่อออสเตรเลียจะได้รับการตระหนักอย่างเต็มที่เมื่อเวลาผ่านไป
“สิ่งสำคัญที่ต้องพึ่งระลึกเสมอก็คือ แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมันเป็นเรื่องที่น่าวิตกเสมอ เมื่อผู้เล่นเดี่ยวรายใดก็ตามเลือกที่จะไม่สนับสนุนอีกต่อไป”
“เรามีความสนใจในประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับ ภายใต้วารสารศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงทำงานอยู่”
“ตราบใดที่มีผู้เล่นรายเดียวซึ่งปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นั่นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของการไหลเวียนข่าวสารไปยังพลเมืองออสเตรเลีย” คุณดราฟฟิน กล่าว
ขณะที่บางส่วนกล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิธีการของผู้คน ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์
ดร.สุรันกา เสเนวิรัตเน (Dr Suranga Seneviratne) อาจารย์ผู้สอนวิชาความปลอดภัย จากสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า สิ่งมีค่าที่ใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊กคือฐานผู้ใช้งาน (user base) แต่เขาได้กล่าวว่า เฟซบุ๊กอาจตัดสินใจว่า เนื้อหาข่าวของออสเตรเลีย และการโต้ตอบกับเนื้อหาดังกล่าวไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากพอ ซึ่งหมายความว่า ทางเฟซบุ๊กจึงสามารถยกเลิกการเข้าถึงข่าวสารสำหรับชาวออสเตรเลียได้
ดร.เสเนวิรัตเน กล่าวว่า แม้ธุรกิจสื่อจำนวนมากจะประสบปัญหา สำหรับผู้ใช้งานงานเฟซบุ๊กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเพจและลิงก์ข่าวต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กได้นั้น เขาคิดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย
“ในบริการพื้นฐานที่สำคัญที่เราใช้อยู่บน Facebook นั้น ส่วนมากจะเป็นการติดต่อทางสังคม เพราะเราต้องการติดต่อกับเพื่อน เราต้องการติดต่อกับครอบครัว” ดร.เสเนวิรัตเน กล่าว
“สิ่งที่ผมคิดก็คือ การใช้งาน Facebook ขั้นพื้นฐานจะไม่เปลี่ยนไปเพราะสิ่งนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเพียงความยากลำบากเล็กน้อยสำหรับผู้ใช้งาน ผมไม่คิดว่าจะมีใครตกข่าวบนเฟซบุ๊กที่ไม่มีเนื้อหาข่าวสาร”
ร่างกฎหมายด้านอำนาจการต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining Code) มีจุดประสงค์ในการบังคับให้บริษัทดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต้องเจรจาข้อตกลงกับธุรกิจสื่อในออสเตรเลีย เพื่อจ่ายค่าแสดงผลเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์ม ใช้เวลาในการร่างกฎหมายกว่า 3 ปี โดยขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะได้รับการประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้
ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ได้สร้างข้อพิพาทระหว่างบริษัทดิจิทัลแพลตฟอร์มรายใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก ที่ได้ตัดสินใจปิดกั้นเนื้อหาข่าวสารทั้งหมดสำหรับชาวออสเตรเลีย เพื่อเป็นการตอบโต้ร่างกฎหมายดังกล่าว
นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขายืนกรานที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
“ผมเพียงต้องการจะกล่าวไปยังเฟซบุ๊กว่า ที่นี่คือออสเตรเลีย ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจที่นี่ คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายของเรา นี่เป็นข้อเสนอที่มีเหตุผล เราดีที่จะรับฟังพวกเขาในแง่ของปัญหาเชิงเทคนิคจากร่างกฎหมายนี้ เช่นเดียวกับที่เรารับฟังกูเกิล และนำไปสู่การทำข้อตกลงที่มีเหตุผล” นายมอร์ริสัน กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา
“แต่แนวคิดในการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวสารที่พวกเขาได้ทำไปเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการข่มขู่ ผมรู้ว่าชาวออสเตรเลียมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร และผมคิดว่านั่นไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีในส่วนของพวกเขาเลย พวกเขาควรก้าวข้ามสิ่งนี้ไป กลับมาที่โต๊ะเจรจา และเราจะร่วมหาทางออกกันในเรื่องนี้”
คุณอาจสังเกตว่า เอสบีเอส ไทย ไม่มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก แต่คุณยังสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเรา ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด
นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
นักวิทย์เฝ้าตรวจหาโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร