กด ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
เภสัชกรคนไทยแนะนำบริการสำคัญที่ร้านขายยาใกล้บ้านคุณ
SBS Thai
15/04/202216:47
คุณ พรรณรภี ควอง หรือ คุณปุ๊ก เป็นเภสัชกรที่ทำงานในออสเตรเลียมานานเกือบ 20 ปี และขณะนี้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล Knox Private Hospital และร้านขายยา Advantage Pharmacy Elsternwick เธออธิบายถึงใบสั่งยาแบบอีเล็กโทรนิกส์ (E-script) ที่แพทย์ส่วนหนึ่งในออสเตรเลียเริ่มใช้มาได้สักระยะแล้ว
“อี-สคริปต์ (E-script) ที่หมอส่วนมากใช้ จะเป็นการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) ให้คนไข้ เพื่อที่ว่าคนไข้จะได้ไปซื้อยาที่ร้านเภสัชไหนก็ได้ แล้วพอเราคลิกเปิด SMS มันก็จะเป็นคิวอาร์โค้ด (QR Code) ซึ่งที่ร้านเภสัชก็จะสแกนคิวอาร์โค้ดและจ่ายยาจากคิวอาร์โค้ดนั้น” คุณ พรรณรภี เภสัชกรในเมลเบิร์น อธิบาย
นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถส่งอี-สคริปต์ ไปยังร้านขายยาให้เราโดยตรงได้เช่นกัน ซึ่งเราจะสามารถเลือกได้ว่าจะให้ส่งไปที่ร้านไหนใกล้บ้านเราได้เช่นกัน แต่คุณพรรณรภี ย้ำว่า “เราจะต้องตรวจสอบกับร้านเสียก่อน ถ้าง่ายที่สุดคือให้แพทย์จีพีส่งอี-สคริปต์ มาให้ทางเอสเอ็มเอสในโทรศัพท์มือถือเรา”
ในกรณี ถ้าเราติดโควิดและยาที่ใช้ประจำหมด แต่เราต้องกักตัว คุณพรรณรภี แนะนำว่า ร้านขายยาใกล้บ้านก็สามารถส่งยามาให้ถึงบ้านได้ โดยใช้อี-สคริปต์ (E-script)
“สิ่งที่ดีสำหรับอี-สคริปต์พวกนี้คือเราจะส่งไปยังร้านเภสัชไหนก็ได้ เราส่งเอสเอ็มเอสให้เขาแล้วเขาสามารถเปิดได้ ถ้าเราติดโควิด ก็ควรติดต่อร้านเภสัชที่ใกล้บ้านเราที่สุด เขาจะได้จัดส่งให้ได้ใกล้ๆ หรือติดต่อร้านที่เราไปประจำเพราะเขาจะมีประวัติเราอยู่ ซึ่งจะทำให้ติดต่อกันง่ายกว่า แต่ถ้าฉุกเฉินจริงๆ และไม่ได้อยู่ใกล้ร้านเภสัชไหนเลย ก็สามารถติดต่อแพทย์จีพีทางเทเลเฮล์ท (Telehealth) แล้วเขาจะช่วยประสานงานเรื่องยาให้ได้ค่ะ” คุณพรรณรภี แนะนำเธอกล่าวต่อไปว่า ปัญหาหนึ่งที่คนไข้มักประสบคือ การที่คนไข้ไม่รู้ว่ายาตัวไหนที่จะได้รับการชดเชยค่ายาให้จากรัฐบาลบ้าง หรือยาตัวไหนที่เอาไปเบิกประกันสุขภาพได้ ซึ่งคุณพรรณรภีชี้ว่า คนไข้ควรสอบถามข้อมูลเรื่องนี้ได้เมื่อได้รับใบสั่งยา เพื่อจะได้ไม่เสียประโยชน์
ปัญหาหนึ่งที่คนไข้มักประสบคือ การที่คนไข้ไม่รู้ว่ายาตัวไหนที่จะได้รับการชดเชยค่ายาให้จากรัฐบาลบ้าง Source: Pixabay
“สิ่งแรกคือ ให้เช็คกับหมอก่อนว่า เมดิแคร์ครอบคลุมยาตัวนั้นไหม ถ้าครอบคลุมโดยเมดิแคร์และเรามีบัตรคอนเซสชัน คาร์ด (concession card บัตรสิทธิส่วนลด) เราก็จะจ่ายมากที่สุดเพียง 6.80 เหรียญ ถ้าไม่มีคอนเซสชัน คาร์ด เราก็จะจ่ายมากที่สุด 42.50 เหรียญ แต่ถ้าเมดิแคร์ไม่ครอบคลุมถึงยานั้น เราก็จะต้องจ่ายเต็มราคา แล้วเราก็สามารถเอาใบเสร็จไปเบิกคืนได้จากประกันสุขภาพส่วนบุคคลของเราเองได้ ซึ่งแพทย์จีพีสามารถเช็คให้ได้ และสามารถเช็คกับเภสัชกรก็ได้เช่นกัน”
สำหรับบริการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น นอกจากจะทำได้ที่คลินิกแพทย์จีพีและที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็สามารถรับการฉีดได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน โดยสามารถฉีดพร้อมกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีของคุณได้ ซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนของทุกปี
“สามารถฉีดพร้อมกันได้ แต่ถ้าจะฉีดพร้อมกัน ผลข้างเคียงอาจจะรุนแรงขึ้นเล็กน้อย เราต้องเตรียมตัวไว้ แต่สามารถไปฉีดพร้อมกันได้ค่ะ สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น เขามีคำแนะนำให้เริ่มฉีดได้เลยตั้งแต่เดือนนี้ (เดือนเมษายน) คือเดือนสี่ พอเดือนหก (มิถุนายน) เดือนเจ็ด (กรกฎาคม) ร่างกายจะได้มีภูมิต้านทานพอ” คุณพรรณรภี เภสัชกรคนไทยในเมลเบิร์น แนะนำ
เธอยังบอกอีกว่า สำหรับผู้ที่มีบัตร คอนเซสชัน คาร์ด (concession card หรือบัตรสิทธิส่วนลด) ยังสามารถขอรับชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว (rapid antigen tests) ได้ฟรีจากร้านขายยาต่างๆ ในชุมชนอีกด้วย
“ชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็ว ที่แจกให้เฉพาะคนที่มีคอนเซสชัน คาร์ด (concession card) เท่านั้น ที่จะสามารถรับแจกฟรีได้จากร้านเภสัช ซึ่งรัฐบาลขยายเวลาแจกฟรีให้จนอีกสามเดือน (จนถึงเดือนมิถุนายน) โดยแต่ละคนจะขอได้ 10 อัน แต่มากที่สุดคือ 5 อันต่อเดือน ประมาณหนึ่งกล่อง (ภายในกล่องมี 5 อัน) ต่อเดือน แต่ภายในสามเดือน จะได้แค่ 10 อัน” คุณพรรณรภี ย้ำ
คุณสามารถติดตามฟังการพูดคุยกับ คุณ พรรณรภี ควอง หรือ คุณปุ๊ก เกี่ยวกับประเด็นข้างต้นอย่างละเอียด พร้อมฟังคำแนะนำความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการลดค่ายาสำหรับผู้ที่ต้องกินยาเป็นประจำ และคำแนะนำในการกินยาให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันผลเสียต่อร่างกายได้ จากบทสัมภาษณ์เต็มๆ ซึ่งกดฟังได้ที่นี่ กด ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
เภสัชกรคนไทยแนะนำบริการสำคัญที่ร้านขายยาใกล้บ้านคุณ
SBS Thai
15/04/202216:47
ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ