รู้อาการสมองขาดเลือด:ช่วยชีวิตคนได้ทันการณ์

Stroke

Female physical therapist helps a senior man walk following a stroke. The man is using parallel bars in a rehab center. Source: Getty Images/SDI Productions

ภาวะสมองขาดเลือดเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในหมู่ผู้คน และเกิดอย่างกระทันหัน ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไปจากเมลเบิร์น จะมาอธิบายว่าภาวะสมองขาดเลือดมีอาการอย่างไร ผู้พบเห็นควรให้ความช่วยเหลืออย่างไร และอะไรคือปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด


อาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือ stroke  คือ ภาวะที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอและทำให้เนื้อเยื่อสมองในจุดนั้นตายได้ และถ้าไม่ได้รับการักษาอย่างทันท่วงทีก็เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการ ในแต่ละปีมีผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้มีจำนวนมากทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก หรือ  WHO ชี้ว่าในจำนวนคน 6 คนจะมี 1 คนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ในออสเตรเลียอาการสมองขาดเลือดเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองมาจากโรคหัวใจเลยทีเดียว แพทย์หญิง ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไปจากนครเมลเบิร์นอธิบายอาการของภาวะสมองขาดเลือด การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยโรคนี้อย่างไร และอะไรคือปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด

ฟังการพูดคุยกับ พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิดทั้งหมดได้ที่นี่
LISTEN TO
Recognizing signs of stroke image

รู้อาการสมองขาดเลือด:ช่วยชีวิตคนได้ทันการณ์

SBS Thai

30/10/202015:39
พญ. ศิราภรณ์อธิบายว่า ภาวะการเกิดอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยงโดยปกติจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน คือ เส้นเลือดในสมองแตก และเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งนำไปสู่โอกาสการเสียชีวิตและภาวะพิการได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

“อาการสมองขาดเลือดมี 2 ประเภทคือ หนึ่ง อาการเส้นเลือดในสมองแตก  ซึ่งเป็นอาการที่เกิดแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีจะมีโอกาสการเสียชีวิตค่อนข้างสูง และ สอง อาการเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งเป็นอาการที่มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าประเภทแรก แต่มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีภาวะพิการสูง”

“อีกประเภทหนึ่งคืออาการที่เรียกว่า mini stroke (TIA) ซึ่งจะมีอาการทุกอย่างเหมือน stroke แต่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมงแต่ถ้ามีอาการเกิน 24 ชั่วโมงโอกาสที่จะกลับมาเป็นปกติค่อนข้างน้อย”

อาการเตือนว่าคุณอาจมีภาวะสมองขาดเลือด

อาการสมองขาดเลือดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (medical emergency)  ซึ่ง พญ. ศิราภรณ์ ได้ให้วิธีสังเกตอาการของตนเองหรือคนใกล้ชิดว่าถ้ามีอาการที่เรียกสั้นๆว่า “FAST”  ก็ให้โทรศัพท์ไปที่หน่วยฉุกเฉิน 000 ทันที อาการและวิธีปฏิบัติที่ต้องจำไว้เพื่อสังเกตอาการคนเป็น stroke คือ

F (face) กล้ามเนื้อบนใบหน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว ปิดตาไม่ได้ ขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่ได้

A (Arms) ยกแขน ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างไม่ได้

S (Speech) ผู้ป่วยพูดจาไม่ชัด ออกเสียงไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจ

T (Time) เมื่อสังเกตตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการดังนี้ให้โทร 000 ทันที เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วย
“ไม่ต้องโทรหา GPถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น อย่างแรกที่ต้องทำคือโทรเรียก 000 แล้วไปโรงพยาบาลทันที”
หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันจะสามารถทำให้เกิดความพิการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดถูกทำลายจากการขาดเลือด พญ. ศิราภรณ์อธิบายในเรื่องนี้ว่าถ้าเกิดอาการสมองขาดเลือดจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือมีภาวะพิการ แต่หากได้รับการรักษาแล้วผู้ป่วยก็ยังจะมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอีก

“ถ้าเส้นเลือดในสมองแตกโอกาสรอดน้อยมาก ถ้าเส้นเลือดตีบก็ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เห็นกันบ่อยๆคือ มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก อาจเป็นใบหน้า แขน ขา แต่ก็มีอาการอื่นๆ ที่ตามมาคือความจำไม่ดี อ่อนเพลีย เดินไม่ถนัด การควบคุมสมดุลร่างกายไม่ดี ปัสสาวะกะปริบกะปรอย  การควบคุมการขับถ่ายไม่ค่อยดี”  

 “หรือถ้ารักษาแล้วอาการที่หลงเหลืออยู่คือ อาจมีอาการกลืนลำบาก กลืนยาก ทานอาหารลำบาก หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดถูกทำลาย”

พญ. ศิราภรณ์เตือนว่าผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดสามารถมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ซ้ำได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่ได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ดีพอ และเพศชายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากกว่าเพศหญิง
“ถ้าคนไข้ที่เคยมีอาการ stroke แล้วครั้งหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 20 โดยที่เพศชายเป็นเพศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเพราะว่าผู้ชายอาจมีการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เช่น เรื่องการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า”

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองขาดเลือด

พญ. ศิราภรณ์อธิบายว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้บุคคลนั้นๆ มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสองขาดเลือด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตและการทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการที่บุคคลนั้นมีโรคประจำตัวอื่นๆ มาก่อน

“ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้เช่น การที่บุคคลนั้นมีโรคภัยอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการใช้ชีวิตที่ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่เยอะ หรือดื่มเหล้า ก็เป็นความเสี่ยง หรือการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เค็มมาก หวานมาก หรือมีไขมันสูง”

การป้องกันการเกิดโรคภาวะสมองขาดเลือด

พญ. ศิราภรณ์แนะนำว่าเราสามารถป้องกันหรือลดความเสียงในการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การไปตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำก็จะลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้คุณเกิดภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้

“ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารเค็ม หวาน มัน หยุดสูบบุหรี่ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ ถ้าเป็นคนที่มีโรคอื่นอยู่แล้วให้ทานยาสม่ำเสมอ ตรวจร่างกายเป็นประจำ ไม่มีอาการ ไม่ต้องป่วยก็สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้”

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 

 

 

 

 

 

 

 


Share