อาหารต่าง ๆ ประกอบด้วยวัตถุดิบมากมายจากทั่วสารทิศ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าวัตถุดิบเหล่านั้นต้องผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงจานของคุณ
แม้ผักและผลไม้ที่คุณรับประทานจะมีสีสันสดใสและดูสดใหม่ แต่เบื้องหลังอาจเต็มไปด้วยสารเคมีหลายชนิด ที่ผู้เพาะปลูกไม่น้อยเลือกใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้ทนโรคและศัตรูพืช โดยแลกกับคุณภาพและรสชาติแท้จริงตามธรรมชาติที่สูญหายไป
ฟังสัมภาษณ์ "เลี้ยงปลาแถมผักที่ฟาร์มรักในควีนส์แลนด์" โดยเอสบีเอส ไทย
LISTEN TO
เลี้ยงปลาแถมผักที่ฟาร์มรักในควีนส์แลนด์
SBS Thai
17/09/202018:11
คุณ ณัฐพล ชุ่มชูจันทร์ อดีตคนทำงานด้านไอทีชาวไทย ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านอาหาร That Thai และสวนผักปลอดสาร “ฟาร์มรัก (Farm Rak) ในรัฐควีนส์แลนด์ บอกเล่ากับ เอสบีเอส ไทย ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบในร้านของเขาให้เป็นผักปลอดสาร จากแรงบัลดาลใจในรายการอาหารทางโทรทัศน์โดย เจมี โอลิเวอร์ เชฟชื่อดังระดับโลก ที่มุ่งให้ผู้คนตระหนักถึงที่มาของอาหารต่าง ๆ ที่แท้จริง และการใช้วัตถุดิบปรุงอาหารที่ปลูกเอง ที่เขาดูเป็นประจำหลังเลิกงาน
เขาสังเกตถึงคุณภาพที่ลดลงของผักและผลไม้ ทั้งที่วางขายในร้านค้าและที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร ที่แม้จะดูสดใหม่ แต่จากประสบการณ์ของการเป็นเชฟของเขานั้น เขาบอกว่า รสชาติต่างกันโดยสิ้นเชิงกับพืชผักสด ๆ ที่มาจากสวนโดยตรง
ผักที่เขามาวางขาย ก็หน้าตาดูดี จับดูมันก็แข็ง ดูสด แต่เมื่อเราลองชิมรสชาติ เรารู้เลย อย่างมะเขือเทศ ซื้อมากินปุ๊บ ลูกสวย สีแดงสดจริง แต่กินเข้าไปเป็นอย่างไร รสชาติไม่มี แล้วให้เด็กมาทาน เรากินเองเรายังไม่ชอบเลย แล้วเราจะไปคาดหวังกับเด็กให้ชอบได้อย่างไร
จากความตั้งใจในการปลูกผักสดปลอดสาร คุณณัฐพลเล่าว่า เขาตัดสินใจทดลองทำแปลงผักสวนครัวแบบไม่ใช้สารเคมีครั้งแรก ทันทีที่เขาซื้อบ้านหลังใหม่เมื่อปี 2010
แต่ต่อมาก็ได้พบกับอุปสรรค เมื่อพืชผักในแปลงของเราเริ่มมีวัชพืช แมลง และไม่สามารถปลูกซ้ำได้ จากการสูญเสียแร่ธาตุในดิน
ผมรู้สึกว่า เราใช้เงินไปกับการปลูกผักมากกว่าที่เราไปซื้อผักออแกนิกส์มากินเอง
แม้จะพบอุปสรรค แต่คุณณัฐพลก็ยังคงทดลองปลูกผักปลอดสารมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณณัฐพลได้รู้จักกับวิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ที่เรียกว่า “อควาโปนิกส์ (Aquaponics)” ซึ่งเป็นที่มาของ “ฟาร์มรัก” สวนผักสดปลอดสารในรัฐควีนส์แลนด์ของเขา
การปลูกพืชด้วยระบบอควาโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชคู่กับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ในลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางระบบนิเวศที่สามารถควบคุมได้ โดยพืชจะใช้ของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาในน้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุที่จำเป็นในการเจริญเติบโต โดยให้ผลลัพธ์เป็นน้ำที่สะอาดสำหรับปลาที่เลี้ยงไว้
คุณณัฐพลเล่าว่า เขาได้ทดลองวิธีการปลูกผักดังกล่าวด้วยตนเองโดยใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตรที่บ้าน เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ด้วยผลผลิตที่สูงขึ้น และรสชาติที่ดี
เราเป็นเชฟ เรากินเอง เทียบกับผักที่เราหาได้ รู้สึกได้ว่ามันใช่กว่าเยอะเลย ผลผลิตที่เราได้ เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกและแรงงานที่ใช้ ผมว่าคือมันมหาศาลมาก อย่างปีที่แล้วทดลองปลูกกระเจี๊ยบ แค่แปลงเดียวประมาณ 2 ตารางเมตร ผมเก็บได้เป็นร้อยกิโลฯ
นอกจากนี้ วิธีการปลูกพืชดังกล่าวยังไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่สูญเสียแร่ธาตุ และประหยัดน้ำ เพราะเป็นระบบปลูกพืชแบบใช้น้ำหมุนเวียน ซึ่งตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาที่คุณณัฐพลพบเจอ ตั้งแต่เริ่มทดลองปลูกผักปลอดสารในแปลงครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
ในตอนนี้ คุณณัฐพลได้ใช้ระบบอควาโปนิกส์ ในการปลูกผักสำหรับใช้ประกอบอาหารในร้านของเขาเองหลายชนิด ทั้งผักสลัด มะเขือเทศ แตงกวา และทดลองปลูกผักอีก 15 สายพันธุ์ เลี้ยงปลาสายพันธุ์ปลากะพงแดง (Perch) และได้ทดลองปลูกพืชผักสวนครัวไทย เช่น ใบยอ ใบชะพลู ดอกขจร และฟักทองไทย เนื่องจากเรือนกระจกสามารถปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับพืชหลายชนิด
จากความสำเร็จของการปลูกพืชด้วยระบบอควาโปนิกส์ คุณณัฐพลมีแผนที่จะขยายระบบดังกล่าวในอนาคต เพื่อสร้างผลผลิตผักปลอดสารที่มีความสดให้ให้มากขึ้น เพื่อใช้ในกิจการร้านอาหารของตนเอง ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นโอกาสในการมอบอาหารที่ความสดใหม่และปลอดสารให้กับลูกค้าในราคาที่ย่อมเยาว์
ชมวิดีโอเลี้ยงปลาแถมผักที่ฟาร์มรักในควีนส์แลนด์ที่นี่
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
จากแนวปะการังสู่เทือกเขาน้ำแข็ง