แม้จะโลว์เทคแต่กล้าขายผ่านไลฟ์สด

คุณเชอรี่ เจ้าของธุรกิจในซิดนีย์

คุณเชอรี่ เจ้าของธุรกิจในซิดนีย์ Source: Supplied

คุณเชอรี่ เจ้าของธุรกิจคนไทยในซิดนีย์ที่ยอมรับตัวเองเป็นคนโลว์เทค เล่าถึงการปรับเปลี่ยนช่องทางการขายหันไปหาออนไลน์ของร้าน ที่เธอมองว่าเป็นทางรอดเดียวของธุรกิจยุคโควิด พร้อมฝากคำแนะนำถึงเจ้าของธุรกิจคนอื่นๆ ที่คิดว่าตัวเองเป็นคนโลว์เทคเหมือนกัน จะก้าวเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้อย่างไร


ผลกระทบจากวิกฤตโควิดกำลังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงไป การขายของแค่ที่หน้าร้านอาจไม่พอสร้างรายได้ให้ธุรกิจอยู่รอดได้ คุณเชอรี่ เจ้าของร้าน Cherry@Sydney ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นคน “โลว์เทค” แต่ต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยหันมาขายของผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อหารายได้เข้าร้าน เธอมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นทางรอดเดียวของธุรกิจยุคโควิด

ฟังการพูดคุยกับคุณเชอรี่ทั้งหมดที่นี่
LISTEN TO
Businesses need to turn to online to survive amid COVID image

แม้จะโลว์เทคแต่กล้าขายผ่านไลฟ์สด

SBS Thai

15/10/202015:11
คุณเชอรี่ เจ้าของร้านจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ความงามของออสเตรเลีย ที่ตั้งอยู่ในไชน่าทาวน์ ของนครซิดนีย์ สังเกตว่า ผู้บริโภคในออสเตรเลียกำลังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป เพราะวิกฤตโตวิด “คนไม่กล้าใช้เงิน เงินทองตอนนี้หายาก ทุกคนจะเลือกใช้เงินกับของที่จำเป็นก่อน ของทางเราจัดอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย เลยจะเป็นทางเลือกรองลงมา” คุณเชอรี่ เล่า

ขณะเดียวกัน การขาดนักท่องเที่ยวและผู้คนท้องถิ่นที่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะการปิดพรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลีย ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่ขึ้นๆ ลงๆ ในซิดนีย์ ทำให้ลูกค้าที่เคยออกมาจับจ่ายซื้อของที่ร้าน หดหายไปด้วย
โดยเฉพาะในย่านไชน่าทาวน์ในซิดนีย์ ซึ่งปกติจะมีคนเดินไปมาเยอะมาก เพราะมีทั้งอาหารการกิน มีสิ่งของให้จับจ่ายใช้สอย แต่เดี๋ยวนี้มีผู้คนบางตาลงไปมากๆ ค่ะ
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ร้านค้าของคุณเชอรี่ต้องคิดหาช่องทางการขายเพิ่มขึ้น และทำให้ตัวคุณเชอรี่เองต้องหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเธอยอมรับว่าตนไม่คุ้นเคยมาก่อน

“ทางร้านเปลี่ยนรูปแบบไปขายออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก เพราะพี่เริ่มรู้ว่าลูกค้าคงไม่เดินมาหาเราแน่ๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดในช่วงของโควิด จึงคิดว่าเราจำเป็นต้องมาเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีทั้งๆ ที่ไม่ใช่รุ่นของเรา แล้วก็เริ่มมีการเปิดเพจ เริ่มไลฟ์สด (การถ่ายทอดสดเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ก) โดยให้ลูกจ้างที่เด็กๆ ในร้านช่วย” คุณเชอรี่ เผย
ตอนนี้ ออนไลน์เป็นทางรอดทางเดียวที่เราจะหารายได้เข้ามาเพื่อมาหมุนเวียนในธุรกิจ เพื่อมาจ่ายค่าจ้างให้พนักงานและจ่ายค่าเช่าร้าน การขายออนไลน์จึงเป็นทางรอดทางเดียวที่เราต้องลุกขึ้นมาทำค่ะ
คุณเชอรี่ ยอมรับว่าตัวเองเป็นคน “โลว์เทค” แต่สำหรับเธอนั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการทำธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดีย เธอเล่าให้เอสบีเอส ไทย ฟังถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของร้านและของตัวเธอเองว่า
คุณเชอรี่และลูกค้าที่ร้านในซิดนีย์
คุณเชอรี่และลูกค้าที่ร้านในซิดนีย์ Source: Supplied
“แรกๆ ก็ใช้ภาษาไม่เป็นเลยค่ะ เช่น การแคปหน้าจอ (การสั่งเก็บภาพที่แสดงอยู่บนจอโทรศัพท์มือถือทั้งหมดหรือบางส่วน) การให้คนกดไลค์ (กดปุ่มแสดงความถูกใจ) กดแชร์ (กดปุ่มเพื่อแบ่งปันเรื่องราวกับเพื่อนๆ บนเฟซบุ๊ก) แรกๆ เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วจะต้องพูดตอนไหนในการไลฟ์สด ก็ต้องเข้ามาเรียนรู้ ทุกวันต้องมาคิดหัวข้อว่าเราจะพูดเรื่องอะไรในไลฟ์สด เสนอสินค้าตัวไหนดี ทำยังไงให้ลูกค้าไม่เบื่อ เราจะต้องมาพัฒนาบุคลิกตัวเองยังไง หรือจะแต่งหน้า จะใส่ชุดอะไรดี ลำบากอยู่นะคะ เพราะอายุเราก็เยอะ แต่ก็ต้องสู้ค่ะ” คุณเชอรี่ เล่าอย่างกระตือรือร้น

เธอฝากข้อคิดถึงเจ้าของธุรกิจที่เป็นคนโลว์เทค ให้เปิดใจเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาเจาะตลาดออนไลน์ได้

“ขอให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของตัวเองก่อน เริ่มตรงนี้ก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นอย่างไร"
แต่แรกๆ ขอให้ทุกท่านอย่าเขิน อย่าอาย อย่ากลัว ให้ลุกขึ้นมาทำและมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ทีละขั้นตอนไป
โปรดติดตามฟังบทสัมภาษณ์คุณเชอรี่ทั้งหมด เพื่อฟังเธอเล่าถึงความท้าทายและอธิบายความแตกต่างของการขายของหน้าร้านกับการขายของออนไลน์ ที่เจ้าของร้านและพนักงานต้องปรับตัวและใส่ใจจึงจะทำให้ธุรกิจออนไลน์เป็นไปได้อย่างดี รวมทั้งการพูดคุยในประเด็นว่าการมีหน้าร้านยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ใ นยุคที่ค่าเช่าแพงแต่รายได้ของร้านไม่ได้มากอย่างเมื่อก่อนและธุรกิจสามารถขายออนไลน์ได้

เทศบาลนครซิดนีย์กำลังเปิดรับธุรกิจในซิดนีย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาช่องทางการขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ โดยให้การอบรมและให้คำปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์ฟรี ผ่านโครงการ Retail Innovation Program ที่กำลังเปิดรับใบสมัครจากธุรกิจรุ่นต่อไปเข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เจ้าของธุรกิจที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของเทศบาลนครซิดนีย์

ในรัฐวิกตอเรีย เจ้าของธุรกิจที่ต้องการขยายธุรกิจสู่การขายออนไลน์ และต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมออนไลน์จาก

เจ้าของธุรกิจในรัฐอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามเรื่องความช่วยเหลือให้ธุรกิจขยายตลาดออนไลน์ได้จากองค์กรที่ดูแลด้านธุรกิจขนาดเล็กของรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐของคุณ
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


Share