จำนวนผู้อพยพในโครงการอพยพย้ายถิ่นถาวร ปีงบประมาณ 2019-20 นั้น อยู่ที่ 140,366 คน โดย 95,843 คนนั้นคิดเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นในช่องทางของวีซ่าแรงงานมีทักษะ
เช่นเดียวกับทุกปี มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับโครงการอพยพย้ายถิ่น เช่น การประกาศวีซ่าส่วนภูมิภาคแบบใหม่ รายชื่ออาชีพใหม่สำหรับวีซ่าส่วนภูมิภาค และการลดโควตาสำหรับวีซ่าประเภททักษะอิสระ (Skilled Independent visa)
มาดูกันว่าอาชีพใดกำลังเป็นที่ต้องการ และมีโอกาสในการได้รับอนุมัติสถานะผู้อาศัยถาวรได้มากที่สุด
การอนุมัติวีซ่าในช่องทางประเภททักษะ 95,843 คน ส่วนมากได้รับการอนุมัติในหมวดนายจ้างเป็นผู้สปอนเซอร์ (employer-sponsored) จำนวน 29,261 คน
3 อาชีพยอดนิยมในช่องทางวีซ่าประเภททักษะ (Skilled stream) ได้แก่
- อาชีพชำนาญการ (56.9%) ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสาระสนเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ศิลปะ และสื่อ
- ช่างเทคนิค ผู้รับเหมา และอาชีพงานฝีมือ (17%) ได้แก่ วิศวกร ช่างเทคนิคระบบสารสนเทศ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และคนทำงานฝีมือเกี่ยวกับสัตว์และพืชสวน
- ผู้จัดการ (9%) เช่น ประธานบริหาร ผู้จัดการในรธุรกิจบริการและร้านค้าปลีก
อาชีพยอดนิยมในช่องทางวีซ่าประเภททักษะ (Skilled stream) ปีงบประมาณ 2019-20 Source: Department of Home Affairs
- วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software engineer)
- นักการบัญชี (Accountants)
- นักพัฒนาซอฟท์แวร์ (Developer programmer)
- วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย (Computer network and systems engineer)
- วิศวกรเครื่องกล (Mechanical engineer)
แต่จุดมุ่งเน้นในโครงการผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ปีงบประมาณ 2019-20 นั้น อยู่ที่วีซ่าส่วนภูมิภาค หลังจากได้มีการประกาศให้วีซ่าใหม่ 2 ชนิดในกลุ่มนี้ ได้แก่ วีซ่าทำงานทักษะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค (Skilled Work Regional Visa – subclass 491) และวีซ่าทำงานทักษะในพื้นที่ส่วนภูมิภาคแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์ (Skilled Employer-Sponsored Regional visa – subclass 494) มีผลในวันที่ 16 พ.ย.นี้
วีซ่าในหมวดพื้นที่ส่วนภูมิภาคนั้น ได้รับการพิจารณาอนุมัติสถานะผู้อาศัยถาวรสูงเป็นอันดับ 2 ในปีงบประมาณ 2019-20 คิดเป็น 24.4% ของการอพยพย้ายถิ่นในช่องทางทักษะ
จากการพิจารณาอนุมัติวีซ่าภายในหมวดพื้นที่ส่วนภูมิภาค 23,372 ตำแหน่ง คิดเป็นวีซ่าทำงานทักษะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค (Skilled Work Regional Visa – subclass 491) 15,000 ตำแหน่ง และวีซ่าทักษะในพื้นที่ส่วนภูมิภาคแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์ (Skilled Employer-Sponsored Regional visa – subclass 494) 8,372 ตำแหน่ง
โดยมี 5 อาชีพยอดนิยม คือ นักการบัญชี พยาบาลวิชาชีพ กุ๊ก เชฟ และผู้จัดการร้านอาหาร
อาชีพยอดนิยมในช่องทางวีซ่าหมวดพื้นที่ส่วนภูมิภาค (Regional category) ในปีงบประมาณ 2019-20 Source: Department of Home Affairs
ผู้อพยพย้ายถิ่นในปีงบประมาณ 2019–20 นั้น มาจากประเทศอินเดียมากที่สุด 25,698 คน และตามมาด้วยจีน 18,587 คน และสหราชอาณาจักร 10,681 คน
Source: Getty Images
แม้โควตารับผู้อพยพย้ายถิ่นสูงสุดอยู่ที่ 160,000 คนต่อปี รัฐบาลได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างของโครงการในปีงบประมาณ 2020-21
จะมีการจัดสรรโควตาให้มากขึ้น สำหรับวีซ่าครอบครัว โดยจะพิจารณาผู้ยื่นสมัครที่อยู่ในออสเตรเลียอยู่แล้ว และจะมีการมุ่งเน้นไปที่ผู้สมัครที่มีนายจ้างเป็นสปอนเซอร์ให้มากขึ้น
จะมีการลดโควตาในการอนุมัติวีซ่าช่องทางทักษะลงเหลือ 79,600 คน ในปีงบประมาณ 2020-21 ขณะที่เพิ่มโควตาสำหรับการอพยพย้ายถิ่นในช่องทางวีซ่าครอบครัวเป็น 77,300 คน
“แม้ว่าจะเป็นวีซ่าในช่องทางทักษะ ก็จะมีการมุ่งเน้นเพื่อคัดเลือกผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีอาชีพตามรายชื่ออาชีพสำคัญ สำหรับการอพยพย้ายถิ่นของผู้มีทักษะ (Priority Migration Skilled Occupations List)” นายโรฮิต โมฮัน ตัวแทนด้านการอพยพย้ายถิ่นลงทะเบียนในนครเมลเบิร์น กล่าวกับเอสบีเอส ฮินดี
“สำหรับผู้ที่อยู่ในออสเตรเลียอยู่แล้ว และมีอาชีพอยู่ในรายชื่อดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีอาชีพอยู่ในรายชื่อนี้ เช่น นักการบัญชี เชฟ และช่างยนต์ โอกาสของพวกเขานั้นริบหรี่”
อย่างไรก็ตาม นายโมฮันกล่าวว่า นักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ส่วนภูมิภาค และทำงานอยู่ในอาชีพการได้รับการกำหนดให้เป็นอาชีพสำคัญ จะมีข้อได้เปรียบในการได้รับอนุมัติวีซ่าอย่างแน่นอน
หมายเหตุ: ข้อมูลที่อยู่ในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลทั่วไปและไม่ใช่คำแนะนำที่มีความเฉพาะเจาะจง หากคุณต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและมีความเกี่ยวข้องกับคุณ โปรดปรึกษาตัวแทนด้านการอพยพย้ายถิ่นที่ได้รับการจดทะเบียน
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ธุรกิจรัฐวิกตอเรียยังเปิดไม่ได้แม้มาตรการสกัดโควิดคลาย