การวิจัยแบบสุ่มที่มีการควบคุมเกี่ยวกับการรับประทานไข่นี้ ได้รับการเผยแพร่ในวารสารโภชนาการทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Journal of Clinical Nutrition) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 พฤษภาคม) โดยพบว่า การกินไข่เป็นจำนวน 12 ฟองต่อสัปดาห์ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แม้ว่าคนที่รับประทานจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงก็ตาม
ที่ผ่านมา มีการถกเถียงเกี่ยวกับการรับประทานไข่ว่า จะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
มูลนิธิหัวใจแห่งชาติออสเตรเลีย (National Heart Foundation) แนะนำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูง รับประทานไข่เป็นจำนวน 6 ฟองต่อสัปดาห์ แต่นายแพทย์นิค ฟูลเลอร์ (Dr.Nick Fuller) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์บอกว่า คำแนะนำนี้มีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ที่ล้าสมัย และควรที่จะเปลี่ยน เขายังบอกอีกว่า สิ่งที่เป็นอันตรายกว่า น่าจะเป็นอาหารไขมันอิ่มตัวสูงที่เสิร์ฟพร้อมกับไข่ อย่างเช่น เนย หรือเบคอน
“ผู้คนสามารถรับประทานไข่ให้มากกว่าระดับที่แนะนำในออสเตรเลียเท่าไหร่ก็ได้” นายแพทย์ฟูลเลอร์กล่าว
มีการทดลองแบบเดียวกันในออสเตรเลียที่ Royal Prince Alfred Hospital ในนครซิดนีย์ โดยใช้บุคคล 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรับประทานไข่ 12 ฟองต่อสัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มรับประทานน้อยกว่า 2 ฟองต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักด้วยการกินไขมันที่เป็นประโยชน์ อย่างน้ำมันมะกอก และอะโวคาโด โดยมีการติดตามตรวจเลือดหาปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ระดับคอเลสเตอรรอล น้ำตาลในเลือด และความดัน ซึ่งพวกเขาพบว่า ปัจจัยที่ได้รับการตรวจของคนทั้งสองกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่นำไปสู่โรคหัวใจ
“ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ และการกินไข่สัปดาห์ละ 12 ฟอง จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้เป็นโรคหัวใจและเบาหวาน” นายแพทย์ฟูลเลอร์กล่าว
ติดตามเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มีอะไรที่น่าสนใจในร่างงบประมาณแผ่นดินปีนี้