คุณ สุ ซุลิแวน คนไทยในเมลเบิร์น ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะด้านความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวที่เดินออกมาจากความสัมพันธ์แล้ว ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการรักษาบาดแผลทางจิตใจที่อาจตกค้างอยู่
“อยากให้นึกถึงภาพพีรามิดนะคะ ฐานพีรามิดคือจำนวนผู้ที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว ตรงกลางคือจำนวนผู้ที่เข้ามาหาความช่วยเหลือให้ก้าวออกจากความรุนแรงได้ และจำนวนผู้ที่มารับการรักษาบาดแผลทางจิตใจคือยอดพีรามิด เพราะฉะนั้น จำนวนสัดส่วนของผู้ประความรุนแรงในครอบครัว กับจำนวนผู้ที่ผ่านพ้นประสบการณ์อันเลวร้ายนี้มาแล้วและเข้ามารับการรักษาจิตใจนั้น ยังน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้มา” คุณสุ อธิบาย
จำนวนผู้ที่ผ่านพ้นประสบการณ์อันเลวร้ายนี้มาแล้วและเข้ามารับการรักษาจิตใจนั้น ยังน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้มาสุ ซุลิแวน ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
เธอกล่าวต่อไปว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่เดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงแล้ว ละเลยเรื่องการบำบัดดูแลสภาพจิตใจของตน
“บางส่วนอาจไม่ทราบว่ามีความช่วยเหลือประเภทนี้อยู่ ซึ่งเป็นการรักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แค่เพียงติดต่อหน่วยงาน เขาก็จะสามารถส่งต่อเราไปให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรักษาเหล่านี้ บางส่วนก็อาจไม่พร้อมที่จะพูดถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะยังรู้สึกว่าบาดแผลยังสดอยู่ ยังทำใจไม่ได้ บางคนก็ยังไม่มีเวลามากพอที่จะให้กับตัวเองในการเยียวยาบำบัด บางส่วนก็รู้สึกว่าเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องรักษา หรือบางส่วนก็อาจไม่รู้เลยว่าตัวเองโดยกระทบอย่างไรบ้าง เลยไม่รู้ว่าจำเป็นต้องรักษา”
บางส่วนอาจไม่ทราบว่ามีความช่วยเหลือประเภทนี้อยู่ ซึ่งเป็นการรักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายสุ ซุลิแวน ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
คุณสุ กล่าวว่า การรักษาบำบัดจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีความจำเป็น แม้ว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายเหล่านั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว
“ให้ลองนึกถึงบาดแผลนะคะ การที่เรามีแผลแล้วเราไม่รักษา มันก็อาจทำให้แผลรุนแรงขึ้น พี่อยากให้สนับสนุนให้ทุกคนเข้ามารับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นน้อยหรือมาก เพราะเราอาจจะคิดว่าแค่ขีดข่วน แต่ก็ขอให้เข้ามาเถอะค่ะ เพราะเราอาจไม่รู้ว่าแผลที่ขีดข่วนนั้นมันลึกขนาดไหน พอมีการเปิดแผล มาฟัง มาพูด มาคุย ได้เอาสิ่งที่ลึก ๆ ข้างในออกมา พี่เชื่อว่าเราทุกคนจะได้ประโยชน์จากตรงนี้”
คุณ สุ ซุลิแวน Source: Supplied / Su Sulivan
เราอาจคิดว่าแค่ขีดข่วน แต่ขอให้เข้ามารับการบำบัดเถอะค่ะ เพราะเราไม่รู้ว่าแผลที่ขีดข่วนนั้นลึกขนาดไหนสุ ซุลิแวน ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
“คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง มันเป็นสิ่งที่เกิดต่อเนื่อง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงเป็น 10 ปี เป็น 20 ปี ลองคิดถึงความเครียดสะสมที่มีสิคะ เราจึงใช้คำศัพท์สำหรับอาการของผู้อยู่ในความรุนแรงในครอบครัวว่า complex post-traumatic stress disorder ซึ่งเป็นความเครียดสะสมที่จะก่อผลในระยะยาวอย่างแน่นอน” คุณสุ ยกตัวอย่าง
เธอยังได้ฝากกำลังใจให้ผู้ที่ก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการดูแลจิตใจตนเอง เพื่อก้าวสู่อนาคตที่สดใสกว่าเดิม
“อะไรที่มันเกิดขึ้น มันก็ผ่านไปแล้ว ถ้าคุณผ่านมันมาได้แล้ว คุณสุดยอดมาก ๆ ค่ะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกมาจากความสัมพันธ์นั้นได้ เพราะฉะนั้นลำดับต่อไปที่เราจะทำ คือการหันมาดูแลรักษาสภาพจิตใจของเรา แล้วก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต ฟ้าหลังพายุ ย่อมดีกว่าเสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ”
ติดต่อ 1800respect ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 737 732 สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
ติดต่อ TIS ที่หมายเลข 131 450 สำหรับบริการล่ามเพื่อช่วยพูดคุยกับหน่วยงานด้านความรุนแรงในครอบครัว
อาการทางจิตใจที่หลงเหลือมาจากความรุนแรงในครอบครัวเป็นอย่างไร จะไปรับการบำบัดได้อย่างไรในออสเตรเลีย ถ้ายังไม่พร้อมจะดูแลจิตใจตนเองไปพลาง ๆ ก่อนได้อย่างไร ฟังการพูดคุยกับคุณสุ ซุลิแวน ได้ในสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่นี่
คลิก ▶ เพื่อฟังสัมภาษณ์
อย่าละเลยการรักษาแผลใจแม้จะพ้นจากความรุนแรงในครอบครัวแล้ว
SBS Thai
15/02/202419:18
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อีกที่พึ่งสำหรับผู้หญิงไทยในออสเตรเลียที่พบความรุนแรงในครอบครัว