คุณจะช่วยเด็กที่มีความบอบช้ำทางจิตใจได้อย่างไร?

Caucasian mother comforting son

คุณแม่กำลังปลอบลูก Credit: Getty Images/Jose Luis Pelaez Inc

ไม่ว่าเด็กจะเคยมีบาดแผลทางจิตใจจากที่ไหน เวลาใด ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเด็กสามารถช่วยให้เด็กฟื้นฟูสภาพจิตใจให้รู้สึกปลอดภัยและมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้อีกครั้ง ฟังหรืออ่านวิธีช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก


ประเด็นสำคัญ
  • การบอบช้ำทางใจอาจกระทบโครงสร้างและการทำงานของสมองของเด็กได้
  • เด็กสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจจากบาดแผลในอดีตได้ด้วยความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
  • ในบางครั้งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็น

กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

นายแพทย์เดฟ ปาซาลิช (Dr Dave Pasalich) ศาสตราจารย์และนักจิตวิทยาจากภาควิชาแพทยศาสตร์และจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (School of Medicine and Psychology at ANU) กล่าวว่ามีหลายสิ่งที่สามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่เด็กได้

“เด็กๆ ประสบความบอบช้ำทางจิตใจเมื่อพวกเขาเผชิญเหตุอันตรายหรือถูกคุกคาม ทำให้พวกเขารู้สึกหนักใจ เป็นทุกข์ หรือทำอะไรไม่ถูก เหตุการณ์เหล่านี้รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุรถยนต์ สงคราม ความรุนแรง หรือการที่ผู้ปกครองแยกทางกัน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สิทธิ์ของเด็กในออสเตรเลีย

คุณนอร์มา บูลส์ (Norma Boules) เจ้าหน้าที่โครงการแทรกแซงระยะเริ่มต้นจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่น (Community Migrant Resource Centre หรือ CMRC) ที่เมืองพารามัตตา (Parramatta) ในเขตเกรทเทอร์ ซิดนีย์ (Greater Sydney) ทำงานดูแลเด็กตามแต่ละเคสและดูแลโปรแกรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง รวมถึงโครงการเซอร์เคิล ออฟ ซิเคียวริตี้ (Circle of Security) ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจอารมณ์ของเด็กๆ ได้ดีขึ้น

ตลอดการทำงาน 17 ปีที่ CMRC ของเธอ คุณบูลส์ย้ำว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือการช่วยให้ผู้ปกครองทราบว่าลูกกำลังมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ

“ฉันทำงานกับผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพที่มาจากประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาเจอเหตุการณ์รุนแรงมามากมาย ในตอนแรกครอบครัวจะไม่ยอมรับว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ฉันรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเด็กอายุ 3-4 ขวบก้าวร้าวเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่น บางคนมีความต้องการเฉพาะสิ่ง บางคนมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม”

นพ. ปาซาลิชอธิบายว่าการบอบช้ำทางจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อประสบในช่วงที่กำลังพัฒนา สามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองได้
เมื่อเด็กเผชิญเหตุการณ์รุนแรง โลกทั้งใบก็พลิกผันไป สิ่งที่เคยปลอดภัยกลับกลายเป็นสิ่งอันตรายและน่ากลัว
"เรารู้ว่าบาดแผลทางใจสามารถกระทบต่อสมองและพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ได้ รวมถึงสุขภาวะโดยรวมในระยะยาว บาดแผลทางใจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก วิธีคิด ความรู้สึก และวิธีที่พวกเขาสานความสัมพันธ์กับผู้อื่น สิ่งนี้จึงกระทบต่อความประพฤติที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น บาดแผลทางใจอาจทำให้เด็กรู้สึกเครียดตลอดเวลา มองเห็นทุกสิ่งเป็นภัยคุกคามมากกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยและหวาดกลัว”
mother with 2 children on playground
Circle of Security เป็นโปรแกรมช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจอารมณ์ของลูก Credit: Mikael Vaisanen/Getty Images
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าระบบสมองอาจไวต่อภัยคุกคามมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและความกลัว

“เด็กๆ ที่ต้องเจอเหตุสะเทือนใจเป็นเวลานาน สมองและร่างกายจะเข้าสู่โหมดเอาตัวรอด พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อปรับตัวกับความวุ่นวายและอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
หากเด็กเผชิญความรุนแรงที่บ้านบ่อยๆ พวกเขาจะตื่นตัวมากและร่างกายจะตื่นตัวมากไปเกือบทั้งวัน แม้ว่าจะไม่เกิดความรุนแรงก็ตาม
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กจะช่วยได้อย่างไร?

คุณเมลานี ดีฟโฮลท์ส (Melanie Deefholts) ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนในออสเตรเลียเป็นเวลา 14 ปี เน้นถึงความสำคัญของผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในการดูแลสภาพจิตใจและอารมณ์ของตนเองก่อน

“ตระหนักถึงอารมณ์ที่ตอบสนองหรือเมื่อคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของคุณได้ นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่คุณจะสามารถเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ เพราะคุณควบคุมตัวเองไม่ได้ และหากคุณควบคุมตัวเองไม่ได้ เด็กจะควบคุมพวกเขาเองได้อย่างไร”
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับความรู้สึกและความต้องการของเด็ก

“อันดับแรกสิ่งที่สำคัญมากคือใช้สิ่งที่เราเรียกว่าการเลี้ยงดูแบบละเอียดอ่อน การทราบว่าพฤติกรรมของลูกของคุณอาจกำลังบอกถึงความต้องการลึกๆ ของพวกเขา เช่น หากเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยและโลกเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ พวกเขาอาจแสดงพฤติกรรมที่ชอบควบคุมหรือก้าวร้าว แต่แทนที่จะเลือกตอบสนองกับพฤติกรรมเหล่านี้ เราควรพยายามถอยออกมาหรือพยายามตอบสนองต่อความต้องการความปลอดภัยลึกๆ ของเด็ก”

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคงที่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ
การเป็นพื้นที่ปลอดภัยและการสานความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญของผู้ปกครอง
"การแน่ใจว่าทุกคนในครอบครัวสามารถดำเนินกิจวัตรตามปกติสามารถสร้างโครงสร้างในชีวิตของเด็กและช่วยให้รู้สึกคาดเดาได้และปลอดภัยมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือการใช้เวลากับลูกและให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น รักษาความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับลูกก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญหลังมีเหตุสะเทือนใจเกิดขึ้น ลูกของคุณต้องการเห็นคุณสงบและให้ความรัก เพื่อที่จะสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้”
Father and daughter wearing robot costumes at home
การมีสมาธิสั้น ตื่นตัวมากเกินไป ตื่นตกใจ หรือสะดุ้งง่าย หรือเด็กอาจมีอาการตื่นตัวน้อยได้เช่นกัน เด็กอาจเคลื่อนไหวช้าหรือเฉื่อยชา ไม่สามารถตั้งสมาธิได้ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือมีส่วนรวมน้อยลง Credit: MoMo Productions/Getty Images
นพ. ปาซาลิซกล่าวว่าเด็กหลายคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ตามธรรมชาติ แต่บางครั้งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นสิ่งจำเป็น

“หากลูกของคุณไม่มีท่าทีที่จะฟื้นฟูได้หรือปัญหาอาจบานปลายและกลายเป็นกระทบกับชีวิตประจำวัน ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ความช่วยเหลือที่มาจากนักบำบัดที่ผ่านการอบรมและมีการรับรอง เช่น นักจิตวิทยาหรือที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต ใครก็ตามที่มีประสบการณ์ในการทำงานบำบัดการบอบช้ำทางจิตใจของเด็ก”

คุณบรี เดอ ลา ฮาร์ป (Bree De La Harpe) เป็นนักบำบัดที่มูลนิธิ บี เซ็นเตอร์ (Be Centre) ที่เมืองวาร์รีวูด (Warriewood) กล่าวว่าการเล่นบำบัด (play therapy) เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานกับเด็ก

“หากผู้ใหญ่มีบาดแผลทางใจ พวกเขาจะไปพบที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อพูดคุยถึงความรู้สึกและพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องที่พวกเขาประสบ แต่สมองของเด็กยังไม่พัฒนา ส่วนหน้าของสมองซึ่งดูแลเรื่องนี้ยังไม่พัฒนา การเล่นบำบัดเป็นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ พวกเขาจะใช้การเล่นเพื่อบรรเทาเรื่องราวและสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาเผชิญ โดยของเล่นคือคำพูดของพวกเขา”
Child Psychotherapy
หากผู้ปกครองสามารถมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลแก่เด็กๆ ได้ เด็กๆ จะสามารถฟื้นตัวจากความบอบช้ำทางใจได้ Credit: aquaArts studio/Getty Images
คุณเทียน่า วิลสัน (Tiana Wilson) นักจิตวิทยาและนักเล่นบำบัดที่บี เซ็นเตอร์อธิบายว่าการเล่นบำบัดอาจเป็นวิธีจัดการกับบาดแผลในอดีตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความบอบช้ำทางใจหลายครั้งเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ หรือถูกกระตุ้น ความบอบช้ำทางใจเป็นเรื่องที่สามารถให้ความช่วยเหลือและรักษาได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขในทันที แต่หากสามารถให้ความช่วยเหลือได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี”

เด็กสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจจากบาดแผลทางใจที่ซับซ้อนได้ด้วยความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
ผมคิดว่ามีความหวังสำหรับเด็กที่จะฟื้นฟูจากบาดแผลทางใจที่ซับซ้อนได้เสมอ ตราบใดที่พวกเราให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับพวกเขา
"และความช่วยเหลือเหล่านี้ต้องเน้นที่ความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและเหนียวแน่นระหว่างผู้ดูแลเด็ก ครู นักสังคมสงเคราะห์และผู้ใหญ่คนอื่นในชีวิตของเด็ก หากเด็กได้รับความช่วยเหลือที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน เราจะเห็นเด็กฟื้นตัวจากความบอบช้ำทางใจในชีวิตของพวกเขาได้”

ข้อมูลความช่วยเหลือที่ออสเตรเลีย

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share