ประเด็นสำคัญ
- มิเชลล์ บูลล็อก ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ยอมลดลงง่าย ๆ นี้ ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ (demand) ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าที่คาดจึงจะควบคุมได้
- เธอกล่าวว่า ความต้องการบริการที่เพิ่มขึ้น เช่น ทันตกรรมและการตัดผม กำลังผลักดันราคาให้สูงขึ้น
- อัตราดอกเบี้ยอาจคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลาสองปีเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้คนในออสเตรเลียตลอดปี 2023 และดูเหมือนว่าความกดดันดังกล่าวจะไม่ผ่อนคลายลงในเร็วๆ นี้
ตามความเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย (RBA) การไปตัดผมและการไปหาหมอฟันกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหานี้
ในคำแถลงเมื่อคืนวันพุธ (22 พ.ย. 2023) มิเชลล์ บูลล็อก กล่าวว่า ความท้าทายด้านเงินเฟ้อที่คงอยู่จนถึงขณะนี้ เป็นความท้าทายที่ "เกิดจากปัจจัยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และถูกผลักดันจากอุปสงค์"
“การไปทำผมและไปพบทันตแพทย์ การรับประทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ นั้น ราคาของบริการเหล่านี้ทั้งหมดได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก” ผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าว
ความคิดเห็นของมิลเชลล์ บูลล็อก ถูกนำไปกล่าวเป็นเรื่องขำขัน และกลายเป็นประเด็นสนทนากันบนโซเชียลมีเดีย แต่การนัดไปตัดผมหรือไปทำฟันของคุณอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้จริงหรือ?
นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้
เงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศคืออะไร?
ประเด็นสำคัญของสิ่งที่ มิเชลล์ บูลล็อก ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย กล่าวคือ แนวคิดเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศ
คุณ เชน โอลิเวอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ เอเอ็มพี (AMP) กล่าวว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศมาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ มากกว่าจะมาจากปัจจัยในต่างประเทศ เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย หรือผลกระทบต่อเนื่องของการระบาดของโควิด-19
เขากล่าวว่ามีความต้องการบริการเพิ่มขึ้นในออสเตรเลีย ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการขึ้นราคาบริการเหล่านั้น
“จริงๆ แล้วมันคืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับอุปทานที่มีในออสเตรเลีย และสภาวะในเศรษฐกิจออสเตรเลีย ซึ่งแตกต่างจากการเพิ่มขึ้นของราคาแก๊สหรือน้ำมัน ซึ่งอาจเนื่องมาจากปัจจัยระดับโลก” คุณโอลิเวอร์ กล่าว
“สภาวะที่แข็งแกร่งในเศรษฐกิจออสเตรเลียกำลังผลักดันให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและบริการ และสร้างสภาวะที่บริษัทและธุรกิจต่าง ๆ สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการของตนได้”
คุณ โอลิเวอร์ กล่าวว่า ความต้องการสินค้าและบริการ (อุปสงค์) ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน รวมทั้ง "ความเฟื่องฟูด้านการใช้จ่าย" ช่วงหลังโควิด-19 และการเติบโตของจำนวนประชากร
“เราเริ่มเห็นการใช้จ่ายต่อคนชะลอตัวลง แต่เราได้เห็นการพุ่งสูงขึ้นของจำนวนผู้คนในออสเตรเลียจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของจำนวนประชากร”
“นั่นหมายความว่าในขณะที่บุคคลทั่วไปมีการใช้จ่ายน้อยลง แต่จำนวนการใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นและมีความต้องการบริการและที่อยู่อาศัยมากขึ้น”
มิเชลล์ บูลล็อก ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ต้องใช้เวลากว่าที่ภาวะเงินเฟ้อจะลดลง Source: AAP / Mick Tsikas
“มีความยากลำบากและความกดดันต่ออุปทานสำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย คุณเห็นป้าย 'กำลังต้องการลูกจ้าง' ทุกที่ และแรงงานที่มีทักษะก็ขาดแคลน ... ธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาให้ตลาดได้ตามจำนวนที่ตลาดต้องการ” ศ.ฟอสเตอร์ กล่าว
"เมื่อซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดหาบริการต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดได้ ราคาก็จะสูงขึ้น เนื่องจากเรามีการขาดแคลนอุปทาน (supply) และมีอุปสงค์ (demand) ที่แข็งแกร่ง"
ทั้งหมดนี้หมายความอย่างไรสำหรับอัตราดอกเบี้ย?
อาร์บีเอ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (ดอกเบี้ยนโยบาย) 0.25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ที่ 4.35 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤศจิกายน (2023)
โดยเป็นการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีกครั้ง หลังจากคงที่มาหลายเดือน
รายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางในเดือนพฤศจิกายนแสดงให้เห็นว่า มีการหารือกันเรื่องการระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอีกเดือนหนึ่ง
แต่โอกาสที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยยังคงมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
คุณโอลิเวอร์กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านี้อาจเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่อาร์บีเอจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานการอีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะมีเข้ามา
“เราคิดว่า อาร์บีเอได้ทำเพียงพอแล้ว แต่ความเสี่ยงที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งยังคงสูงอยู่” คุณโอลิเวอร์ กล่าว
"หลายสิ่งหลายอย่างที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจบางอย่างที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์หน้า ตัวเลขยอดค้าปลีกและดัชนี CPI ดังนั้นหากข้อมูลเหล่านี้อยู่ในระดับสูง ก็อาจจะส่งผลให้อาร์บีเอต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม แต่ผมคิดว่ามีแนวโน้มมากกว่าที่สถิติเหล่านั้นจะอ่อนตัวและนั่นจะทำให้อาร์บีเอคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ที่เดิม”
แรงกดดันด้านค่าครองชีพจะบรรเทาลงเมื่อใด?
เมื่อปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานเป็นแรงกดดันหลักด้านราคาที่อยู่เบื้องหลังภาวะเงินเฟ้อ ที่ผ่านมาใช้เวลาเพียงราวเก้าเดือนเท่านั้นที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงจาก 8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5.5 เปอร์เซ็นต์
การผลักดันให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ภายในระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองปี
“เราคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกสองปีกว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงมากเช่นนั้นอีกครั้ง และเคลื่อนตัวอยู่ในอัตราต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์” ศ.ฟอสเตอร์ กล่าว
"นี่เป็นเพราะงานที่เหลือส่วนใหญ่ในการนำอัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับเป้าหมายนั้น จะต้องอาศัยการนำอุปสงค์รวมและอุปทานรวมให้มาอยู่ในระดับเดียวกันมากกว่านี้”
“นั่นคือสิ่งที่คณะกรรมการธนาคารกลางตั้งเป้าที่จะทำสำหรับนโยบายการเงินคือ ชะลอการเติบโตของอุปสงค์ให้มากพอที่จะนำอัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็รักษาการจ้างงานให้เติบโต”
ศ.ฟอสเตอร์กล่าวว่า เธอคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีเพื่อทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าครองชีพคลี่คลายลง
“ปัญหาเหล่านี้ที่เราเห็นในระบบเศรษฐกิจเรื่องการหยุดชะงักของอุปทาน อุปสงค์ที่มีเข้ามา และนิสัยความเคยชินของลูกจ้าง เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ฝังรากลึก และใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น” ศ.ฟอสเตอร์ กล่าว
“ฉันไม่อยากจะพูดแบบนี้ แต่ฉันไม่คิดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ภายในปีหน้า”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าครองชีพทำครึ่งหนึ่งของประชากรในออสฯ วิตกไม่มีอาหารพอกิน