A composite image of the back of a woman in a coat and a bed
A composite image of the back of a woman in a coat and a bed
This article is more than 1 year old

Investigation

นร.ต่างชาติสลับกับคนแปลกหน้าใช้ห้องนอน เพราะไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่า

นักเรียนต่างชาติผู้หนึ่งในเมลเบิร์นบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่าเธอกับผู้เช่าบ้านอีกคนหนึ่งสลับกันใช้ห้องนอน (hot-bedding) เพื่อจะได้มีเงินพอจ่ายค่าเช่าที่พัก สถานการณ์จะแย่ลงเมื่อการจำกัดชั่วโมงทำงานสำหรับนักเรียนต่างชาติกลับมาใช้บังคับอีกครั้งตั้งแต่ 1 กรกฎาคม

Published 3 July 2023 12:56pm
By Sandra Fulloon
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS
Image: ปริยานคา และเตียงที่เธอกลับกันใช้กับคนอื่นในบ้านแชร์เฮาส์แห่งหนึ่งในเมลเบิร์น (SBS)
ปริยานคา (ชื่อสมมุติ) เป็นนักเรียนต่างชาติอายุ 19 ปี ผู้ซึ่งในตอนกลางคืนนอนหลับอยู่บนเตียงในบ้านแชร์เฮาส์ หลังหนึ่งในย่านชานเมืองเมลเบิร์น

แต่ในเวลากลางวัน เตียงนั้นมีคนอื่นใช้นอน โดยเป็นชายผู้หนึ่งที่ทำงานกะกลางคืนเป็นคนขับรถบรรทุก

การสลับกันใช้ห้องนอนแบบนี้ เรียกกันว่า 'hot-bedding'

คนแปลกหน้าสองคนซึ่งมาจากอินเดียทั้งคู่ หารครึ่งค่าเช่า 550 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับห้องนอน 1 ห้องในบ้านแชร์เฮาส์หลังนั้น

ขณะที่ผู้เช่าคนอื่น ๆ เป็นชายจากอินเดียและทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกเช่นกัน

“มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันคาดไว้เมื่อมาถึงออสเตรเลียครั้งแรก” ปริยานคา กล่าว

“ค่าครองชีพที่นี่นั้นน่าตกใจอย่างมาก และเอเจนต์วีซ่าในอินเดียก็ไม่เคยบอกเราเลย”
A double bed covered in a blue blanket.
เตียงที่ปริยานคาสลับกันใช้กับชายผู้หนึ่ง Source: Supplied / 'Priyanka'
ซึ่งประเมินรายเดือนโดยดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2023 ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย

ค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ทั่วประเทศในปีที่ผ่านมา ในเมลเบิร์นนั้น ค่าเช่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์สำหรับอะพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน ขนาด 85 ตร.ม.ในย่านทั่วไป อยู่ที่ 425 ดอลลาร์ ส่วนผู้คนในซิดนีย์คาดว่าจะจ่ายมากกว่านั้น 36 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 578 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันคาดไว้เมื่อมาถึงออสเตรเลียครั้งแรก
ปริยานคา นักเรียนต่างชาติ
ปริยานคากล่าวว่า นอกจากค่าเช่าแล้ว เธอยังต้องดิ้นรนเพื่อจ่ายค่าอาหารและค่ารถ แถมบางครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ เตียงที่เธอสลับกันใช้กับผู้เช่าบ้านคนอื่นก็ไม่ว่าง

“เมื่อเขาว่างจากการขับรถ เนื่องจากที่นี่เป็นบ้านผู้ชายล้วน ฉันก็จะเข้าไปอยู่ในห้องเก็บของ ซึ่งมีพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับวางที่นอนและฉันนอนในนั้น”

ตอนแรกนั้น ปริยานคาลงเรียนในหลักสูตรพยาบาลเต็มเวลาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมลเบิร์น และทำงานเป็นพนักงานแคชวลเป็นกะในคลังสินค้าแห่งหนึ่ง แต่เธอบอกว่าเธอถูกเลิกจ้างไปในเดือนมีนาคมหลังจากมีการประกาศการจำกัดชั่วโมงทำงานของนักศึกษาต่างชาติ

เธอจึงเลิกเรียนไป ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเครียดเรื่องที่อยู่อาศัย
Priyanka looking in a real estate agent window.
ปริยานคา กล่าวว่า เธอพบความยากลำบากในการจ่ายค่าเช่าที่พัก Source: SBS / Scott Cardwell
ตอนนี้เธอกำลังจะเริ่มเรียนปริญญาสาขาใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าและมองหางานที่มั่นคงทำ แต่ภายใต้การจำกัดชั่วโมงทำงานดังกล่าวซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เธอจะสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับ 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น (ราว 3 กะ)

ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้ว นักเรียนต่างชาติถูกจำกัดชั่วโมงทำงานไว้ที่ 40 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ในช่วงเปิดภาคเรียน แต่ข้อจำกัดดังกล่าวถูกพักใช้ชั่วคราวในช่วงการระบาดใหญ่โควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

รัฐบาลพรรคแรงงานได้นำการจำกัดชั่วโมงทำงานมาใช้บังคับอีกครั้ง แต่อนุญาตให้ทำงานได้มากขึ้นเล็กน้อยเป็น 48 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ แต่ไม่มีการจำกัดชั่วโมงทำงานสำหรับนักเรียนท้องถิ่น (domestic students)

ระหว่างการประกาศเรื่องนี้เมื่อต้นปี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของออสเตรเลียกล่าวว่า การจำกัดชั่วโมงทำงานนี้ช่วยให้นักเรียนต่างชาติสามารถทำงานและเรียนได้อย่างสมดุล

“นักเรียนต่างชาติมาที่ออสเตรเลียเพื่อเรียน” รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน แคลร์ โอนีล กล่าวก่อนหน้านี้

“พวกเขามาที่นี่ด้วยวีซ่านักเรียน และมาเพื่อรับการศึกษาที่มีคุณภาพดีในประเทศของเรา และพวกเขาจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้หากพวกเขาทำงานเต็มเวลา”

"นั่นคือเหตุผลที่มีกฎนี้ก่อนหน้านี้"

จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 600,000 คนที่ลงทะเบียนเรียนในปีนี้ เกือบ 90,000 คนมาจากอินเดีย เพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว อีกหลายพันคนคาดว่าจะมาถึงในเดือนกรกฎาคมสำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปริยานคาได้สลับกันใช้ห้องนอนกับชายคนขับรถบรรทุกผู้นั้นมาหลายเดือนแล้ว และเธอบอกว่ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตของเธอ

“ฉันเครียดตลอดเวลาและวิตกกังวลมาก การไม่มีแม้แต่ที่สงบ ๆ ให้ได้เอนตัวลงนอนและผ่อนคลายในขณะที่เรียนด้วย เป็นความรู้สึกที่แย่มาก”

เธอไม่ได้บอกกับครอบครัวของเธอที่อินเดียว่าเธอลำบากมากแค่ไหน เนื่องจากพวกเขาได้เสียสละมากมายเพื่อให้เธอได้รับการศึกษาในออสเตรเลีย

“พ่อแม่ของฉันจำนองบ้านและกู้เงินก้อนโต แล้วยังตัดลดค่าสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เพื่อส่งฉันมาที่นี่” ปริยานคากล่าว

ในช่วงปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นได้สูงเกินกว่างบประมาณที่ครอบครัวตั้งไว้เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของเธอ

“ถ้าฉันบอกแม่ว่ามันยากลำบากแค่ไหน แม่ก็จะร้องไห้ไปหลายวัน ฉันยังไม่ได้บอกเธอด้วยซ้ำว่าฉันกับคนอื่นสลับกันใช้ห้องนอน เพราะเธอไม่เข้มแข็งพอที่จะทนรับความทุกข์เช่นนี้ได้”
 Manorani Guy wearing a black and white jacket with a red scarf standing on a Melbourne street.
คุณมาโนรานี กาย ผู้ก่อตั้ง VicWise ในเมลเบิร์น Source: SBS / Scott Cardwell
คุณมาโนรานี กาย ผู้เป็นกระบอกเสียงให้นักเรียน กำลังช่วยหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้กับปริยานคา คุณกาย เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกลุ่ม Victorian Working Group for International Student Employability หรือที่รู้จักกันในชื่อ VicWise

เธอบอกว่า ไม่ใช่แค่ปริยานคาเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้

“ผู้มาใหม่จำนวนมากตกใจกับค่าครองชีพในออสเตรเลีย” คุณกาย กล่าว

“เราให้สัญญาว่านักเรียนทั่วโลก เพื่อจะนำพวกเขามาที่นี่ แต่ไม่มีใครพูดถึงอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าบ้านที่สูง ค่าครองชีพที่สูงลิ่ว และตอนนี้ก็มีข้อจำกัดในการทำงาน”

การสำรวจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปี 2021 จากนักศึกษาต่างชาติ 7,000 คนในซิดนีย์และเมลเบิร์นพบว่า มากกว่าร้อยละ 3 เคยใช้วิธีสลับกันใช้ห้องนอนกับคนอื่น (hot-bedding) และร้อยละ 40 เคยต้องอดมื้อกินมื้อ การสำรวจนี้จัดทำขึ้นก่อนที่นักศึกษาต่างชาติในออสเตรเลียเกือบ 2 ใน 3 จะตกงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ผู้มาใหม่จำนวนมากตกใจกับค่าครองชีพในออสเตรเลีย
มาโนรานี กาย ผู้เป็นกระบอกเสียงให้นักศึกษา
คุณกายคาดการณ์ว่า การกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานอีกครั้งจะทำให้สถานการณ์เรื่องที่พักเลวร้ายลงไปอีกสำหรับนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก

“เงื่อนไขสำหรับนักเรียนต่างชาตินั้นโหดอยู่แล้วและจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่ไม่มีความยืดหยุ่นจะต้องลำบาก” คุณกายกล่าว

“เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอดจากการทำงานแค่ 3 กะต่อสัปดาห์ และนั่นหมายถึงการอยู่ในแชร์เฮาส์อย่างแออัด และปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น”

คุณฟิล ฮันนีวูด ซีอีโอของสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย สนับสนุนการกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานอีกครั้ง แต่กล่าวว่าจำเป็นต้องมีที่พักสำหรับนักเรียนในราคาที่ย่อมเยามากขึ้น

"เรากำลังดำเนินการผ่านเวทีเสวนาด้านนโยบายต่างๆ เพื่อเปลี่ยนอาคารสำนักงานและโรงแรมขนาดเล็กบางแห่งให้กลายเป็นอะพาร์ตเมนต์สำหรับนักศึกษา รวมถึงนำโครงการที่พร้อมก่อสร้างไปสู่วิทยาเขตหรือพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด"

เขายังฝากคำเตือนถึงครอบครัวของนักเรียนที่หวังจะมาเรียนที่นี่ว่า "ก่อนที่คุณจะได้รับวีซ่านักเรียนเพื่อมาออสเตรเลียหรือประเทศอื่น ๆ คุณต้องพิสูจน์ว่าคุณมีเงินในธนาคารเพียงพอสำหรับ ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหารและค่าครองชีพอื่นๆ"

เสียงเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงที่นร.ต่างชาติจะทำงานได้

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการจำกัดชั่วโมงทำงานของนักเรียนต่างชาติคือ ภาคอุตสาหกรรมการบริการ (hospitality) ซึ่งจ้างงานนักเรียนหลายพันคน

คุณสุเรช มานิกแคม ซีอีโอของสมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและการจัดเลี้ยงแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่าภาคส่วนนี้กำลังดิ้นรนเพื่อรับมือกับต้นทุนด้านพลังงาน การผลิต และค่าเช่าที่สูงขึ้น

“วันที่ 1 กรกฎาคมเร็วเกินไปที่จะกลับมาจำกัดชั่วโมงทำงานของนักเรียนต่างชาติ” คุณมานิกแคมกล่าว “และเหตุผลหลักก็คือเรายังขาดแคลนแรงงานอยู่ทั่วประเทศ”

“การหลั่งไหลเข้ามาของนักเรียนที่มายังออสเตรเลียจะไม่สามารถเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้ได้ เนื่องจากจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนจะสามารถทำงานได้ถูกจำกัด”

“และเรากังวลมากว่าสิ่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้นในแง่ของชั่วโมงการทำงาน”
เรากังวลมากว่าสิ่งนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซ่อนเร้น
สุเรช มานิกแคม สมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและการจัดเลี้ยง
เพื่อลดแรงกดดันต่อเจ้าของร้านอาหาร คุณสุเรช มานิกแคม เรียกร้องให้รัฐบาลจัดชั่วโมงการทำงานของนักเรียนต่างชาติที่เป็นลูกจ้างภาคบริการให้สอดคล้องกับนักเรียนที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถทำงานได้โดยไม่จำกัดชั่วโมงจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้

“เรายังขอให้ใน 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลกลางต้องตรวจสอบทบทวนการจำกัดชั่วโมงทำงานภาคบริการ” คุณมานิกแคมกล่าว

ในแถลงการณ์ถึง เอสบีเอส ฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนที่แล้ว โฆษกของกระทรวงกิจการภายในกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงคุณูปการสำคัญที่นักศึกษาต่างชาติทำเพื่อสังคมออสเตรเลีย

โฆษกให้ความเห็นที่สอดคล้องกับรัฐมนตรีโอนีล โดยกล่าวว่า “รัฐบาลเห็นว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการทำงานและการเรียน”

“ส่วนหนึ่งของข้อกำหนดสำหรับวีซ่านักเรียนคือ นักเรียนต้องแจ้งว่าพวกเขามีเงินทุนเพียงพอที่สำหรับการพำนักในออสเตรเลีย รวมถึงค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียน และค่าเดินทาง”

“การเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานขึ้นเล็กน้อยนี้จะช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การทำงานอันมีค่าและช่วยเหลือด้านความต้องการแรงงานในออสเตรเลียในขณะที่เรียนอยู่”
Manorani Guy sitting in a Melbourne cafe with Priyanka.
คุณกายกับปริยานคาในเมลเบิร์น Source: SBS / Scott Cardwell
ปริยานคาหวังว่า สถานการณ์การสลับกันใช้ห้องนอนที่เธอประสบอยู่ในปัจจุบันจะสิ้นสุดลง

“มันรู้สึกแย่มากที่มาถึงจุด ๆ หนึ่งในชีวิต ฉันต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้”

“ฉันไม่อยากให้ใครต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนฉัน ดังนั้นฉันจะไม่แนะนำให้ใครมาออสเตรเลีย เว้นแต่ว่าพวกเขาจะมีเครือข่ายความช่วยเหลือที่แข็งแกร่ง”

“ผู้คนพร้อมที่จะฉวยโอกาสเอาเปรียบนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่น”

“บางครั้งฉันก็รู้สึกเหมือนถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วฉันกำลังทำอะไรอยู่กันแน่? นี่คือวิธีที่เราควรดำรงชีวิตอยู่เหรอ?”

ให้คำแนะนำและบริการช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาต่างชาติ

สำหรับข้อมูลด้านสิทธิในที่ทำงานและข้อมูลสำหรับลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น เป็นภาษาต่าง ๆ คุณสามารถดูได้ที่

ผู้อ่านที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ Beyond Blue ที่หมายเลข 1300 22 4636 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ผู้คนจากภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share