แบรนด์ร้านกาแฟถูกสั่งจ่ายค่าปรับ $475,000 ฐานเอาเปรียบลูกจ้างเวิร์กกิง-ฮอลิเดย์

นักเรียน 8 คนเดินทางมายังออสเตรเลียจากไต้หวันด้วยวีซ่าเวิร์กกิง-ฮอลิเดย์ (Working-holiday visa) ภายใต้ข้อตกลง 'ฝึกงาน' และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดราว 50,213-58,248 ดอลลาร์ต่อคน

Barista pouring black coffee into cup

The Federal Court has imposed a $475,200 penalty against 85 Degrees Coffee Australia Pty Ltd for exploiting Taiwanese students. Credit: Guillermo Legaria

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • 85 Degrees แบรนด์ร้านกาแฟหลากสาขาได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าปรับ 475,200 ดอลลาร์ ฐานเอารัดเอาเปรียบเด็กนักเรียนชาวไต้หวัน
  • นักเรียนเหล่านั้นมาทำงานที่ออสเตรเลียในฐานะนักศึกษาฝึกงาน และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดราว 50,213-58,248 ดอลลาร์ต่อคน
  • นี่เป็นบทลงโทษสูงสุดอันดับ 5 จากกรณีทั้งหมดที่ได้ดำเนินการโดยแฟร์ เวิร์ก (Fair Work)
แบรนด์ร้านกาแฟหลากสาขาแห่งหนึ่งในออสเตรเลียได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าปรับ 475,200 ดอลลาร์ จากการจงใจเอารัดเอาเปรียบเด็กนักเรียนชาวไต้หวันในซิดนีย์โดยใช้ข้อตกลงฝึกงานบังหน้า

นี่เป็นบทลงโทษสูงสุดอันดับ 5 จากกรณีทั้งหมดที่ได้ดำเนินการโดยผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือแฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน (Fair Work Ombudsman) และเป็นคำตัดสินลงโทษจากศาลต่อบริษัทผู้ทำผิดแห่งเดียว ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากที่สุดอันดับสองจากคดีทั้งหมดที่แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน (FWO) ได้เคยดำเนินการมา

ศาลสหพันธรัฐ (Federal Court) กำหนดบทลงโทษดังกล่าว หลังจาก 85 Degrees Coffee Australia Pty Ltd ยอมรับว่าละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับสถานที่ทำงานของออสเตรเลีย โดยจ่ายเงินให้กับนักเรียนชาวไต้หวัน 8 คนต่ำกว่ากฎหมายกำหนด 429,393 ดอลลาร์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2016 ถึงมิถุนายน 2017

นักเรียนเหล่านั้น ที่มีอายุ 20-22 ปีและมีความยากลำบากในการใช้ภาษาอังกฤษ ได้เดินทางมายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าเวิร์กกิง-ฮอลิเดย์ (Working-holiday visa) ภายใต้ข้อตกลง 'ฝึกงาน'

ด้วยข้อตกลง 'ฝึกงาน' 85 Degrees จึงจ่ายเงินให้นักเรียนเหล่านั้น 1,650-1,750 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการทำงานสูงสุด 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในโรงงานและร้านค้าปลีกต่างๆ ของบริษัทในนครซิดนีย์
นักเรียนแต่ละคนได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดราว 50,213-58,248 ดอลลาร์ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่ถึง 12 เดือน 85 Degrees ได้จ่ายเงินค่าจ้างที่ขาดไปคืนให้กับลูกจ้างเหล่านั้นหลังจากที่ แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน เริ่มดำเนินการทางกฎหมายในปี 2021

ผู้พิพากษา โรเบิร์ต บรอมวิช พบว่าเงินค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดของ 85 Degrees เป็นความจงใจ

“ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ของบริษัทต้องรู้ หรืออย่างน้อยก็ควรตระหนักอย่างชัดแจ้งว่า กฎหมายของออสเตรเลียมีผลบังคับต่อการจ้างงานที่นี่” ผู้พิพากษาบรอมวิชกล่าว

“ผลลัพธ์สุดท้ายคือการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่ต้องสงสัย และพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเป็นการจงใจอย่างชัดแจ้ง” ผู้พิพากษาบรอมวิชกล่าว

นางแซนดรา พาร์กเกอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) กล่าวว่า นายจ้างคนใดก็ตามในออสเตรเลียที่จงใจจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ถือวีซ่าจะต้องเผชิญกับบทลงโทษที่ร้ายแรง

“บทลงโทษที่เป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ส่งสัญญาณออกไปอย่างชัดเจนว่า การเอารัดเอาเปรียบที่เราเห็นในเรื่องนี้จะไม่มีการปล่อยให้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานใดๆ ในออสเตรเลีย” นางพาร์กเกอร์ กล่าว

“นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติต่อพนักงานทุกคน สำหรับชั่วโมงทำงานทั้งหมดที่ลูกจ้างทำ โดยไม่เกี่ยงเรื่องสัญชาติหรือสถานะวีซ่าของลูกจ้าง”
85 Degrees ยังฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระราชบัญญัติด้านการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Act) ที่เกี่ยวข้องกับการออกสลิปเงินเดือน การเก็บบันทึกหลักฐานการค่าจ้าง และการจัดทำรายงานสรุปข้อมูลให้แก่แฟร์ เวิร์ก

นักเรียนเหล่านั้นมีสิทธิ์ได้รับเงินจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายและมีสิทธิ์ตามข้อกำหนดด้านค่าจ้างของอุตสาหกรรม รวมทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าทำงานล่วงเวลา อัตราค่าปรับสำหรับการทำงานนอกเวลาปกติ สิทธิการลาพักผ่อนประจำปีและเงินเก็บหลังเกษียณ (superannuation)

ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) ได้สอบสวนเรื่องนี้หลังจากได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนักเรียนกลุ่มนี้

ผู้พิพากษา บรอมวิช ปฏิเสธข้อโต้แย้งจาก 85 Degrees ว่านักเรียนเหล่านี้ไม่ได้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกเอาเปรียบภายใต้ข้อตกลงฝึกงานดังกล่าว

“ผมไม่สามารถยอมรับสิ่งอื่นใดนอกจากความจริงที่ว่า ลูกจ้างเด็กฝึกงานเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ในแง่ที่พวกเขาไม่อยู่ในจุดที่จะสามารถทำได้อย่างแท้จริงที่จะไม่ยอมทำงานหนักจนเกินไปและได้ค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด” ผู้พิพากษาบรอมวิชกล่าว

“ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาหรืออัตราค่าปรับการทำงานนอกเวลาปกติ ทำงานนานกว่าพนักงานคนอื่น ๆ ซึ่งเลวร้ายมากขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาไม่สามารถมีเงินจ่ายสำหรับที่พักที่เหมาะสมได้”

ในปี 2015 บริษัท 85 Degrees ได้ลงนามในข้อผูกพันภายใต้การบังคับของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) หลังจากจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ถือวีซ่ารายอื่น ๆ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 8 November 2022 1:06pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends