อัตราค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลียเพิ่ม 5.2%

Pay rise coming for low paid workers

Source: Getty Images/Asadanz

อีกเพียงแค่สองสัปดาห์ ลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำราว 2.7 ล้านคนทั่วออสเตรเลียจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น หลังจากคณะกรรมการแฟร์ เวิร์ก (Fair Work Commission) ตัดสินว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 โดยชี้ถึงเหตุผลของแรงกดดันในปัจจุบันจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้


พวกเขาเป็นลูกจ้างที่ทำงานจำเป็นที่ช่วยให้ออสเตรเลียผ่านพ้นสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 มาได้

พวกเขาเป็นผู้จัดวางสินค้าบนชั้นวางในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ทำความสะอาดโรงแรม และดูแลผู้สูงอายุ

แต่ลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมากกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ

ดังนั้นสำหรับพนักงานขายปลีกอย่างเลียมแล้ว เขายินดีที่จะได้เงินเพิ่มในกระเป๋า

"โดยเฉพาะเราไม่ได้มีรายได้มากมาย ดังนั้นแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการก้าวไปในอนาคต โดยที่ผมรู้ว่าผมจะสามารถซื้อสิ่งของที่จำเป็นได้" คุณเลียม ลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำผู้หนึ่ง กล่าว

ความยากลำบากที่จะมีเงินพอซื้อหาสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเป็นสาเหตุสำคัญของการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ โดยนายเอียน รอสส์ ประธานคณะกรรมการแฟร์ เวิร์ก ได้ประกาศว่า

"เราตระหนักดีว่าผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมีความเปราะบางเป็นพิเศษในบริบทของภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เราได้สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงในบริบททางเศรษฐกิจส่งผลให้ควรมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติ (national minimum wage)" นายรอสส์ ประธานคณะกรรมการแฟร์ เวิร์ก กล่าว

ค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นคือ ร้อยละ 5.2 หรือราว 1 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

นั่นหมายความว่าค่าจ้างใหม่จะอยู่ที่ 21.38 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ 812 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งก็คือเพิ่มขึ้น 40 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลต่อลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำกว่า 180,000 คนทั่วประเทศ

และสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในอัตราเฉพาะอุตสาหกรรม หรือ award rate ค่าจ้างของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6
ไม่น่าแปลกใจที่นายแอนโทนี อัลบานีซี นายกรัฐมนตรีจะยินดีกับการตัดสินใจอย่างอิสระของคณะกรรมการแฟร์ เวิร์ก ครั้งนี้ เนื่องจากเขาได้ชูประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายสำคัญหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งของเขา

"ความจริงก็คือหลายคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวีรบุรุษที่ช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิดมาได้ พนักงานเหล่านี้สมควรได้รับมากกว่าคำขอบคุณจากเรา พวกเขาสมควรได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และวันนี้พวกเขาได้รับสิ่งนี้แล้ว" นายอัลบานีซี กล่าว

ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำและที่ได้รับค่าแรงตามอัตราเฉพาะอุตสาหกรรม (award rate) หลายล้านคนจะได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006

สภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions) ซึ่งผลักดันการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ยินดีที่จะประนีประนอม

นาง แซลลี แมคมานัส เลขาธิการสภา กล่าวเรื่องนี้ว่า

"เราคิดว่านี่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างมีนัยสำคัญต่อแรงกดดันที่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเผชิญจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คนเหล่านี้คือผู้ที่พยุงให้เศรษฐกิจและสังคมของเราผ่านพ้นสองปีที่ยากลำบากได้ พวกเขาสมควรได้รับการขึ้นค่าจ้าง ซึ่งจะหมายความว่าพวกเขาจะสามารถจ่ายบิลๆ ได้" นางแมคมานัส กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวแทนภาคธุรกิจต่างโต้แย้งว่าการปรับขึ้นค่าจ้างนี้อาจสร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาคส่วน

หอการค้าและอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย ซึ่งได้ล็อบบี้ให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำร้อย 3 เตือนว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายรวม 7.9 พันล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจต่างๆ ทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ

นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานกรรมการบริหารของหอการค้า กล่าวว่า นี่จะเพิ่มความกดดันที่ธุรกิจต่างๆ ประสบอยู่แล้วจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และราคาน้ำมัน

"ในบางกรณี พวกเขาจะต้องส่งต่อต้นทุนเหล่านั้นให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้นแน่นอนว่าอาจหมายความว่าบางธุรกิจต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากในการปิดกิจการไป" นายแมคเคลลาร์ กล่าว

ด้านนาย ปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำฝ่ายค้าน มีข้อกังขาว่าตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กอย่างไร โดยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า

"พรรคแรงงานไม่เคยเป็นมิตรกับธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งด้านนโยบายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ นโยบายด้านภาษี พรรคแรงงานมักเก็บภาษีและใช้จ่าย นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเป็น" นายดัตตัน กล่าว

นายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของออสเตรเลีย ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้ออาจสูงถึงร้อยละ 7 ก่อนถึงช่วงคริสต์มาส

"นั่นเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเราจำเป็นต้องทำให้กลับไปอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2-3 ผมมั่นใจว่าเราจะทำได้แต่ต้องใช้เวลา" นายโลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของออสเตรเลีย กล่าว

แต่ในระยะสั้น คาดว่าวิกฤตค่าครองชีพจะยังคงส่งผลให้รู้สึกสะดุ้งกันต่อไป


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

NSW-VIC เพิ่มชั้นเรียนก่อนเข้าอนุบาลให้เด็กเรียนฟรี


Share