ประเด็นสำคัญ
- ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) จากที่ขยับครั้งแรกในรอบ 22 ปีเมื่อเดือนก่อน 0.35% เป็น 0.85% และปรับอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมรับฝากและให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน (Exchange Settlement) เป็น 0.75% (เพิ่มขึ้น 0.50%)
- ธนาคารเวสแพ็ค (Westpac) เป็นธนาคารแรกที่ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยใหม่ถึงลูกค้าสินเชื่อเงินกู้อย่างเต็มอัตรา
- นอกจากวิกฤตเงินเฟ้อ ยังมีวิกฤตราคาพลังงานที่จะส่งผลกับค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาน้ำมันแม้จะคงที่และมีมาตรการรัฐเยียวยา แต่ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นแล้ว และจะส่งผลต่อผู้บริโภคในไม่ช้า
เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีกร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบหลายเดือน หลังคงอยู่ในอัตราต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020 – เมษายน 2022 ที่ผ่านมา
คณะกรรมการธนาคาร ฯ ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว “เป็นอีกก้าวในการดำเนินการเพื่อเพิกถอนการสนับสนุนทางการเงินพิเศษที่ประกาศใช้เพื่อช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลียในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่” และส่งสัญญาณว่าธนาคารสำรองฯ อาจ “ดำเนินการอีกขั้น” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อปรับเงื่อนไขในนโยบายทางการเงินในออสเตรเลียให้เป็นปกติ
จิม ชาลเมอส์ (Jim Chalmers) รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียได้อธิบายถึงการตัดสินใจของธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นร้อยละ 0.85 ว่า “เป็นเรื่องลำบากใจอย่างมาก” ขณะที่เจ้าของบ้านในออสเตรเลียต้องเผชิญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000
นอกจากนี้ ธนาคารสำรอง ฯ ยังเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในส่วนธุรกรรมรับฝากและให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน (Exchange Settlement) ขึ้นไปอีกร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75
โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เมื่อรวมกับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Cash rate) คือกลไกส่วนหนึ่งในนโยบายทางการเงินของธนาคารสำรอง ฯ
ธนาคารเวสแพ็ค (Westpac) เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ส่งผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของธนาคารสำรอง ฯ ไปยังลูกค้า โดยปรับขึ้นในส่วนของสินเชื่อดอกเบี้ยแปรผัน (variable interest rates) เพิ่มจากอัตราปัจจุบันขึ้นอีกร้อยละ 0.5 เต็มอัตรา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เงินเฟ้อออสฯ สูงสุดรอบ 20 ปี สะเทือนปากท้อง คนเริ่มกินนอนในรถ
‘สถานการณ์เงินเฟื้อจะหนักขึ้นก่อนกลับมาทุเลาลง’
“สำหรับผู้ถือสินเชื่อบ้านทั่วไปที่วงเงิน $330,000 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่าเจ้าของบ้านจะต้องหา (ค่างวด) เพิ่มอีก $87 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนผู้ถือสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งอยู่ที่ราว $157 ดอลลาร์ต่อเดือน” นายชาลเมอส์ กล่าว
นี่จะเป็นข่าวที่สร้างความลำบากใจให้กับชาวออสเตรเลียเหล่านั้นที่กำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงในประเทศนี้อยู่แล้ว จิม ชาลเมอส์ - รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย
“มันเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ รัฐบาล และธนาคารสำรอง ฯ ต่างมีความคาดหวังร่วมกันว่าความท้าทายจากเงินเฟ้อครั้งนี้จะหนักขึ้นก่อนที่จะกลับมาทุเลาลง”
นายชาลเมอส์ รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะทำ “สิ่งที่ทำได้” เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันต่อราคาค่าครองชีพมีต่อประชาชนในออสเตรเลีย
“มีมาตรการเยียวยาค่าครองชีพบางส่วนอยู่ในร่างงบประมาณแผ่นดิน และความรับผิดชอบของเราในฐานะรัฐบาลใหม่ ก็คือการทำให้แน่ใจว่าร่างงบประมาณในเดือนตุลาคมนี้จะมีงบประมาณสนับสนุนที่รวมไปถึงนโยบายในส่วนการดูแลเด็กเล็ก ยาและเวชภัณฑ์ อีกทั้งมาตรการกดราคาพลังงานระยะยาว และการขับเคลื่อนค่าจ้างที่แท้จริงให้มีความคืบหน้า” นายชาลเมอส์ กล่าว
“วิกฤตค่าครองชีพในครั้งนี้ถูกบ่มเพาะในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในทศวรรษนี้”
“เราต้องการทำงานร่วมกับชาวออสเตรเลียทุกคน เราต้องการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของเราในการทำสิ่งใดก็ตามที่ทำได้ เพื่อเอาชนะความท้าทายในภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงตามมา”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าครองชีพในออสเตรเลียกำลังพุ่งสูงขึ้น ทำไมทุกอย่างถึงแพงจัง?
ฝ่ายค้านว่าอย่างไร
แองกัส เทเลอร์ (Angus Taylor) โฆษกการคลังจากพรรครัฐบาลผสม อธิบายถึงการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดของธนาคารกลางว่า “เป็นวันที่หนักหนายิ่ง” สำหรับใครก็ตามที่กู้เงินซื้อบ้าน
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำได้เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง นั่นคือบริการการเงินให้ดี แองกัส เทเลอร์ - โฆษกการคลังจากพรรครัฐบาลผสม (ฝ่ายค้าน)
“นี่คือเหตุผลที่เราพูดว่าโครงการริเริ่มต่าง ๆ ที่พรรคแรงงานได้ให้คำมั่นไว้ตอนหาเสียง ทั้งการใช้จ่ายนอกร่างงบประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ และการใช้จ่ายในร่างงบประมาณอีก 18,000 ล้านดอลลาร์กำลังสร้างแรงกดดัน มันเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการใช้จ่ายเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างหนัก”
คนกู้ซื้อบ้านจะได้รับผลกระทบอย่างไร
รัสเซล ลี (Russell Lee) เจ้าของที่พักอาศัยจากนครซิดนีย์ ได้ซื้ออพาร์ตเมนต์เมื่อเดือนธันวาคม 2021 และได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผันแปร ต่อมาเมื่อธนาคารของเขาต้องการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า เขาติดต่อกับที่ปรึกษาด้านสินเชื่อได้ และได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.49 ระยะเวลา 3 ปี
“ผมดีใจมากกับการตัดสินใจนี้ มันไม่คุ้มเลยกับความวุ่นวาย ... ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น” นายลี กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“ถ้าค่างวดที่ผมต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปมาก ผมอาจเดือดร้อนทางการเงิน ผมเป็นผู้มีรายเพียงคนเดียว ผมอาศัยอยู่ที่นี่และจ่ายค่างวดเพียงคนเดียว”
แต่ถึงแม้จะได้รับสินเชื่ออัตราคงที่ไปอีก 3 ปี คุณลี กล่าวว่า เขากำลังพยายามเก็บออมเงินฝากเพื่อใช้ลดเงินต้นหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก
ใครจะรู้ เมื่อระยะเวลาสินเชื่อหมดลง อัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น โดยเฉพาะเมื่อค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก คุณรัสเซล ลี - เจ้าของอพาร์ตเมนต์ในซิดนีย์
จะต้องจ่ายเท่าไหร่หากธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยตาม RBA
นี่คือค่างวดที่ต้องจ่ายเมื่อธนาคารของคุณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมติของธนาคารสำรอง ฯ
- วงเงินกู้ $300,000 - $1,660.33/เดือน – (เพิ่มขึ้น $91.77)
- วงเงินกู้ $350,000 - $1,937.05/เดือน – (เพิ่มขึ้น $107.06)
- วงเงินกู้ $400,000 - $2,213.77/เดือน – (เพิ่มขึ้น $122.36)
- วงเงินกู้ $450,000 - $2,490.49/เดือน – (เพิ่มขึ้น $137.65)
- วงเงินกู้ $500,000 - $2,767.22/เดือน – (เพิ่มขึ้น $152.95)
- วงเงินกู้ $550,000 - $3,043.94/เดือน – (เพิ่มขึ้น $168.24)
- วงเงินกู้ $600,000 - $3,320.66/เดือน – (เพิ่มขึ้น $183.54)
- วงเงินกู้ $650,000 - $3,597.38/เดือน – (เพิ่มขึ้น $198.83)
- วงเงินกู้ $700,000 - $3,874.10/เดือน – (เพิ่มขึ้น $214.13)
(คำนวณบนพื้นฐานของสินเชื่อเงินกู้อัตราดอกเบี้ยแปรผันมาตรฐานระยะเวลา 30 ปี ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ประมาณร้อยละ 5.27)
แบงค์ชาติออสฯ ว่าอย่างไร
ในแถลงการณ์จากธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย ดร.ฟิลิป โลว (Dr.Phillip Lowe) ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลีย (RBA) ยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และเพิ่มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
“ปัจจัยต่าง ๆ ในระดับโลก รวมถึงการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากเช่นนี้” ดร.โลว ระบุในแถลงการณ์
“แต่ปัจจัยภายในประเทศก็กำลังมีบทบาทเช่นกัน ด้วยศักยภาพที่มีจำกัดในบางภาคส่วนและภาวะตลาดงานที่ตึงตัว ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อราคา และเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบต่อราคาบางส่วนเช่นกัน”
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (cash rate) ในเดือนพฤษภาคม 2022 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี Source: SBS News
ดร.โลว กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไปอีกก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2-3 ในปีหน้า
ทั้งนี้ การประกาศหลังการประชุมประจำเดือนของคณะผู้บริหารของธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหลายเดือน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารสำรอง ฯ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นร้อยละ 0.35 จากที่เคยอยู่ในอัตราต่ำสุดร้อยละ 0.1 ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
ผู้บริโภค ‘มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น’
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายสัปดาห์ของเอเอ็นแซ็ด-รอย มอร์แกน (Weekly ANZ-Roy Morgan consumer confidence index) ซึ่งชี้วัดการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนในอนาคต ได้มีการเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) โดยอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2020 โดยลดลงไปร้อยละ 4.1 สำหรับสัปดาห์นี้
ผู้บริโภคมองโลกในแง่ร้ายเป็นพิเศษในเรื่องสภาวการณ์ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสถานภาพทางการเงินของพวกเขา เดวิด แพลงค์ (David Plank) หัวหน้าฝ่ายระบบเศรษฐกิจออสเตรเลียจากธนาคารออสเตรเลียนิวซีแลนด์ (ANZ)
สถาบันปิโตรเลียมแห่งออสเตรเลีย (The Australian Institute for Petroleum) ระบุว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยระดับชาติลดลงมา 3.1 เซนต์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเหลือ 196.9 เซนต์ต่อลิตร สิ้นสุดการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันติดกัน 6 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลอาจมีผลเพียงระยะสั้นหลังราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิงแตะ 190 เซนต์ต่อลิตรแล้ว
นอกจากนี้ ประเด็นวิกฤตพลังงานแก๊สที่มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลงไปอีก
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ผู้เชี่ยวชาญเตือนระบบสาธารณสุขรับมือหนัก