ผู้หญิงไม่เปิดเผยตัวตนกำลังมองหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
ผู้หญิงไม่เปิดเผยตัวตนกำลังมองหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
This article is more than 2 years old

ไซราถูกสามีทำร้าย แต่ตำรวจเชื่อว่าเธอเป็นผู้ก่อเหตุ

รายงานฉบับล่าสุดในรัฐวิกตอเรียระบุว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่รอดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัวบางคนถูกระบุอย่างผิดพลาดว่าเป็นผู้รุกรานหลัก (primary aggressor) ในเหตุรุนแรง แต่สำหรับ “ไซรา” นั่นหมายความว่าตำรวจเลือกที่จะเชื่อสามีของเธอมากกว่า ผลที่ตามมาหลังจากนั้นคือเรื่องน่าเศร้าใจ

Published 2 June 2022 7:11pm
Updated 6 November 2022 6:24am
By Amy Hall, Emma Brancatisano
Presented by Tinrawat Banyat
Image: ไซราเล่าว่า สามีเธอจับตาดูการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเธอ (Getty, SBS)
บทความนี้มีเนื้อหาที่อธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านและครอบครัว
ไซรา (ไม่ใช่ซื่อจริงของเธอ) อาศัยอยู่ในรัฐวิกตอเรียโดยไม่มีงานทำและไม่มีเงิน เธอเล่าว่าสามีของเธอจับตาดูพฤติกรรมเธอทุกย่างก้าวก่อนหน้านี้

เธอรู้ดีว่าความสัมพันธ์ระหว่าเขาและเธอนั้น “ย่ำแย่” แม้กระทั่งก่อนที่เธอจะย้ายมาอยู่ออสเตรเลียจากอินเดียเพื่อสานสัมพันธ์ต่อ แต่เธอบอกว่าเธอไม่รู้มาก่อนว่าการทารุณกรรมทางการเงิน ทางอารมณ์ และทางเพศที่เธอฝืนทนนั้นถือเป็นการล่วงละเมิด

“พูดตามตรง สำหรับฉันแล้วการล่วงละเมิดทางร่างกายเป็นการล่วงละเมิดอย่างเดียวเท่านั้น (ที่ฉันรู้) ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่าอย่างอื่นก็เป็นการละเมิดได้เหมือนกัน  แต่ฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ระหว่างสามีภรรยาเมื่อเวลาผ่านไป” เธอกล่าว

ไซรา เล่าว่า ระหว่างที่เธออยู่กับเขาเธอแท้งลูก 2 ครั้ง แม้กระทั่งในเวลานั้น ฝ่ายสามีก็ต้องการให้เธอร่วมเพศกับเขาด้วย
มันเจ็บปวดมาก และเขาไม่ปล่อยให้ฉันแม้กระทั่งจะนอนสักชั่วโมงเดียว เขากำลังทรมานฉัน
ไซราเล่า
สามีของไซราเป็นพลเมืองออสเตรเลีย และทั้งสองก็มีครอบครัวอยู่ในอินเดีย ไซราเดินทางมาถึงออสเตรเลียในวีซ่าท่องเที่ยวเมื่อปี 2015 และได้รับ วีซ่าอยู่อาศัยชั่วคราวในปีถัดมา

เธอเริ่มเป็นคนโดดเดี่ยวทั้งทางกายและทางสังคมตลอดระยะเวลาที่มีความสัมพันธ์กับชายคนนี้ แต่หลังจากที่หมดเงินไปกับการทำวีซ่า และกลัวว่าครอบครัวของเธอจะตำหนิหากความสัมพันธ์ต้องจบลง ไซราตัดสินใจว่าเธอจะ “ฝืนทนต่อไป”

เธอทำเข่นนั้นต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งเธอเล่าว่า สามีของเธอเริ่มจำกัดปริมาณอาหารที่เธอกิน และถอนเงินของเธอทั้งหมดออกจากบัญชีธนาคารร่วม

“ตอนนั้นฉันหัวเสียมาก ฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร” ไซราเล่า

“ตอนนั้นฉันถามเขาว่าเธออยากให้ฉันตายเพราะไม่ได้กินอะไรเลยใช่ไหม นี่คือสิ่งที่เธออยากให้เป็นใช่ไหม”
ฉันถามเขาว่า เธออยากให้ฉันตายเพราะไม่ได้กินอะไรเลยใช่ไหม
“นั่นคือช่วงเวลาที่ปัญหากลายเป็นเรื่องใหญ่ และเขาก็เริ่มพูดว่า ‘เธอเป็นทาสของฉัน เธอต้องทำทุกอย่างตามที่ฉันต้องการ’ และอะไรทำนองนี้ ... ฉันไม่พร้อมที่จะทำแบบนั้น”

“เขาเหยียบหัวฉัน เขาเหยียบหัวฉันจริง ๆ แล้วเขาก็ตะโกนสุดเสียง ฉันเลยต้องโทรหาตำรวจ แต่ตำรวจก็ไม่มา” ไซราเล่า

ความเสี่ยงในการถูกชี้ตัวผิดพลาด

ไซราอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2017 ซึ่งเธอโทรหาตำรวจรัฐวิกตอเรียและขอให้พวกเขาตักเตือนสามีของเธอ “ให้ควบคุมสติอารมณ์”

เธอเล่าว่า ตำรวจตอบรับด้วยการบอกว่าพวกเขาสามารถออกคำสั่งคุ้มครองเธอจากความรุนแรงในครอบครัว (Intervention Order หรือ IVO) แต่ในตอนนั้นเธอไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

เธอเล่าต่อว่า 4 ชั่วโมงต่อมาตำรวจโทรกลับมาหาเธอ แต่ตอนนี้ทั้งคู่ก็ทะเลาะวิวาทกันอีกครั้งจนเกิดแผลฟกช้ำทั้งสองฝ่าย

ต่อมา สามีของไซราแจ้งต่อตำรวจ โดยอ้างว่าเขาเป็นเหยื่อความรุนแรงจากเธอ ซึ่งทำให้เธอถูกชี้ตัวผิดพลาดว่าเป็นผู้รุกรานหลัก (primary aggressor)

ไซรา บอกว่า เธอรู้สึกโดดเดี่ยวมากในตอนนั้น เธอไม่รู้ว่าสถานีตำรวจในท้องถิ่นอยู่ที่ไหน และสามีของเธอก็จับตาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเธออยู่ เธอไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

“(ในตอนนั้น) ฉันยังใหม่กับประเทศและสถานที่ ออสเตรเลียไม่ใช่ที่ซึ่งฉันอยู่มาตั้งแต่เกิด” ไซรา กล่าว

“ฉันเพียงแค่โทรหา (ตำรวจ) ฉันไม่ได้ไป (สถานีตำรวจ) และพวกเขาก็ไม่เห็นรอยฟกช้ำบนร่างกายของฉัน พวกเขาเห็นแค่รอยฟกช้ำที่อยู่บนมือของเขา ดังนั้นพวกเขาจึงสรุปว่าฉันเป็นผู้กระทำความรุนแรง และเขาเป็นเหยื่อ”

ตำรวจรัฐวิกตอเรียปฏิเสธคำขอให้แสดงความเห็นในกรณีของไซรา แต่ ลอเรน คัลลาเวย์ (Lauren Callaway)  ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองบัญชาการความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า ทางตำรวจรับทราบว่าการชี้ตัวผิดพลาดเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

“ตำรวจรัฐวิกตอเรียมีความห่วงใยเป็นพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบของการชี้ตัวผิดพลาดที่มีต่อชุมชนที่มีความสำคัญของเรา เรารู้ว่าความเสี่ยงในการชี้ตัวผิดพลาดนั้นอาจสูงขึ้น หากมีอุปสรรคในการสื่อสาร และความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

“เรามุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาที่นำไปสู่การชี้ตัวผู้รุกรานหลักอย่างผิดพลาด เนื่องจากเราทราบดีถึงผลกระทบที่มีต่อเหยื่อความรุนแรง”

จากเอกสารแสดงจุดยืนที่ได้เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินทัช (inTouch) ศูนย์พหุวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งช่วยเหลือผู้หญิงที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยทั่วรัฐวิกตอเรีย ระบุว่า มีการประมาณว่าการชี้ตัวผิดพลาดเกิดขึ้นในเหตุความรุนแรง 1 ใน 10 กรณี และจะเกิดขึ้นมากอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในชุมชนที่มีภูมิหลังหลากวัฒนธรรมและภาษา

“เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวหลายครั้งมีความแปรผัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ตำรวจจะทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งกว่านี้ เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด” นางคัลลาเวย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองบัญชาการความรุนแรงในครอบครัว ตำรวจรัฐวิกตอเรีย กล่าว

ความสำคัญในการทำให้เสียงของคุณได้รับการได้ยิน

ดร.เอลเลน รีฟส์ (Dr Ellen Reeves) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากศูนย์เพื่อการปกป้องเพศสภาพและครอบครัวโมแนช (Monash Gender and Family Prevention Centre) กล่าวว่า การชี้ตัวผิดพลาดของเหยื่อผู้รอดชีวิตว่าเป็นผู้กระทำความรุนแรงหลักในเหตุความรุนแรงภายในบ้านและครอบครัวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องยากในการวัดเป็นสถิติระดับชาติ

“เป็นเรื่องยากมากที่จะทราบความแพร่หลายของปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากระบบกฎหมายโดยทั่วไปไม่ได้บันทึกสิ่งนี้ไว้” ดร.รีฟส์ กล่าว

ดร.รีฟส์ กล่าวอีกว่า เหยื่อความรุนแรงบางรายตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นในการถูกชี้ตัวผิดพลาด ซึ่งรวมถึงผู้หญิงชนชาติแรกของออสเตรเลีย ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย รวมถึงผู้หญิงที่มีภาวะพิการหรือปัญหาด้านสุขภาพจิต

“แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนอย่างปัญหาการใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ประวัติก่อนหน้านี้กับตำรวจ และการใช้กำลังของผู้หญิง ซึ่งมักใช้ในบริบทของการป้องกันตัวหรือการตอบโต้” ดร.รีฟส์ กล่าว

อินทัช ซึ่งได้ประเมินกรณีของผู้หญิงและเด็กมากกว่า 20,000 คน กล่าวว่า จากข้อมูลโดยสังเขป ลูกค้าประมาณ 1 ใน 3 เคยประสบกับการชี้ตัวผิดพลาดในบางครั้งระหว่างที่พวกเขาติดต่อกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรม

มิเชล มอร์ริส (Michal Morris) ประธานบริหารของอินทัช กล่าวว่า การชี้ตัวผิดพลาดยังเกิดขึ้นได้ เมื่อคู่ครองที่ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษได้รับการสอบปากคำจากเจ้าหน้าที่โดยไม่มีล่ามแปลภาษา

“กำแพงทางภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราประสบพบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว เรามีสิทธิ์ที่จะเล่าเรื่องราวของเราในแบบที่เราต้องการ ซึ่งบางครั้งมันก็ยากลำบากเกินไป หรือบางครั้งก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย” คุณมอร์ริส กล่าว

“แต่มันต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง เพราะเราคาดว่าตำรวจจะตัดสินใจ ณ เวลานั้นซึ่งพวกเขาไม่ได้รับข้อเท็จจริงทั้งหมด และนั่นเป็นปัญหา”
“กำแพงทางภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราประสบพบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว เรามีสิทธิ์ที่จะเล่าเรื่องราวของเราในแบบที่เราต้องการ” มิเชล มอร์ริส จากอินทัช
คุณมอร์ริส กล่าวว่า การขาดความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

“หนึ่งในหลายสิ่งที่เราพบจากลูกค้าจำนวนมากที่เข้ามาที่อินทัช นั่นก็คือพวกเขาจะพบกับตำรวจ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ และอยู่ในช่วงเวลาที่อารมณ์คุกรุ่นและก้าวร้าว ซึ่งนั่นจะถูกหมายรวมว่าเป็นความรุนแรง และพวกเขาก็ได้รับการระบุว่าเป็นผู้รุกรานหลัก” คุณมอร์ริส กล่าว

เธอกล่าวอีกว่า จำนวนข้อมูลที่เหยื่อความรุนแรงเลือกจะเปิดเผยกับตำรวจ ก็เป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่การชี้ตัวผิดพลาดด้วยเช่นกัน

“เราทราบว่าสำหรับผู้หญิงจำนวนมากที่ถือวีซ่าชั่วคราว พวกเขาลังเลที่จะบอกข้อมูลทุกอย่างกับตำรวจ จึงอาจปกปิดข้อมูลบางอย่างเอาไว้ เนื่องจากมีความเชื่อผิดๆ ว่าอาจจะถูกไล่ออกจากประเทศในวันถัดไป” คุณมอร์ริส กล่าว

ผลกระทบที่ตามมา

ดร.รีฟส์ กล่าวว่า ผลที่ตามมาจากการถูกชี้ตัวผิดพลาดว่าเป็นผู้รุกรานอาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของใครคนหนึ่ง โดยเหยื่อผู้รอดชีวิตบางคนอาจเสียสิทธิในการดูแลบุตร และต้องพบกับปัญหากับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง สิ่งนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและการศึกษาได้อีกด้วย

“ฉันรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังเรียนเป็นพยาบาล เธอกังวลมากว่าจะไม่มีงานทำเมื่อเรียนจบ เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว หรือข้อกล่าวหาทางอาญา ดังนั้นเธอจึงลาออกในที่สุด” ดร.รีฟส์ กล่าว

นอกจากนี้ เหยื่อที่รอดชีวิตจากความรุนแรงอาจเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

“นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อเหยื่อความรุนแรงถูกชี้ตัวผิดพลาด ความต้องการความปลอดภัยของพวกเขามักไม่ได้รับการรับรอง ... และบ่อยครั้ง (พวกเขา) เป็นไปได้ที่จะมีแนวโน้มที่จะถูกละเมิดซ้ำ”

จากการไต่สวนหาความจริงสาธารณะโดยคณะกรรมาธิการแห่งพระองค์ของรัฐวิกตอเรีย เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ได้มีการเริ่มใช้การฝึกอบรมเพื่อช่วยให้ระบุชี้ผู้รุกรานหลักได้อย่างเที่ยงตรง ในการสมัครรับเข้าของตำรวจรัฐวิกตอเรีย ในปี 2017

นอกจากนี้ กำลังมีการดำเนินการเพื่อปรับใช้คำแนะนำล่าสุดจากกลุ่มสอดส่องดูแลการปฏิรูปความรุนแรงในครอบครัว (Family Violence Reform Implementation Monitor) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทบทวนการทำงานของรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิรูป

ในบรรดาคำแนะนำจากกลุ่มดังกล่าว อินทัชระบุว่า ต้องการให้ตำรวจใช้ล่ามแปลภาษาอย่างเหมาะสมเมื่อมีกำแพงทางภาษา รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ในศาล และบริการต่าง ๆ ได้รับการฝึกอบรมการตระหนักรู้ทางวัฒนธรรมอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง

ทางกลุ่ม ฯ ระบุอีกว่า การตอบสนองที่มี “ความเสี่ยงสูง” ที่จะเกิดการชี้ตัวผิดพลาด ควรมีการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพิ่มเติมในการตรวจสอบและทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดขึ้น

กลุ่มดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้มีกระบวนการจุดเดียวในระบบ เพื่อแก้ไขการชี้ตัวผิดพลาด

ดร.รีฟส์ เสริมว่า นอกรัฐวิกตอเรีย รัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์กำลังมุ่งประเด็นไปที่การชี้ตัวผิดอย่างผิดพลาด ในความพยายามที่จะทำให้การบังคับควบคุม (coercive control) เป็นความผิดทางอาญา

“ในรัฐแทสเมเนีย รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ฉันคิดว่ากำลังเริ่มมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ในแง่ของรัฐบาลที่ตอบสนองกับเรื่องนี้โดยตรง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ตอบสนองในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าหนทางยังอีกไกล”

ผลกระทบที่ยาวนาน

ไซรา เล่าว่า ประสบการณ์ของเธอรู้สึกเหมือนกับถูกผลักลงไปอยู่บนถนนอันพลุกพล่าน

“มันเหมือนกับว่าฉันถูกผลักออกไป โดยถูกมัดมือปิดตาอยู่บนถนนที่การจราจรติดขัด คุณไม่รู้เลยว่าจะต้องเดินไปทางไหนและจะเชื่อใคร เพราะคนที่คุณเชื่อใจและทำให้เดินทางมาประเทศนี้ทิ้งคุณเอาไว้บนถนนเส้นนั้น”

สำหรับเธอแล้ว การถูกระบุตัวอย่างผิดพลาด ทำให้เธอได้รับคำสั่งคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว และได้รับแจ้งให้ย้ายออกจากบ้านไป เธอเล่าว่า คำสั่งดังกล่าวถูกเพิกถอนใบในวันเดียวกัน แต่กรณีของเธอกับสามีก็ต้องขึ้นศาลในเวลาต่อมา

หลังได้รับการเสนอหลักฐานการล่วงละเมิดที่ทำให้ไซราต้องทนทุกข์ทรมาน เธอเล่าว่าสามีของเธอได้ถอนฟ้อง และได้รับการขอให้เข้ารับการประเมินสำหรับโครงการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชาย

ทั้งสองแยกทางกันในเวลาต่อมา และไซราก็ได้หย่าร้างกับสามีของเธอ จากความช่วยเหลือของบริการทางกฎหมายเพื่อผู้หญิง และเดินทางกลับอินเดียไปเมื่อปีที่ผ่านมา

เมื่อมองย้อนกลับไป เธอหวังว่าตำรวจในออสเตรเลียวันนี้ จะให้ความสำคัญกับการเข้ารายงานความรุนแรงในครอบครัวแบบตัวต่อตัวเพื่อ “เข้าใจเรื่องราวจากทั้งสองด้าน”

“เราเพียงต้องการให้ใครสักคนรับฟังเรื่องราวของเราในจุดนั้น และชี้นำเราไปในทางที่ถูกต้อง” ไซรา กล่าว

“เพราะว่าพวกเราหวาดกลัว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มาจากประเทศต่าง ๆ เราหวาดกลัว”


หากคุณหรือใครสักคนที่คุณรู้จักได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในบ้านและครอบครัว โทรศัพท์ไปที่บริการ 1800RESPECT ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 737 732 หรือไปที่เว็บไซต์

มีเหตุฉุกเฉินโทรไปที่ทริปเปิลซีโร หมายเลข 000 ทันที

The Men’s Referral Service ให้บริการคำแนะนำสำหรับผู้ชาย ในเหตุความรุนแรงในบ้านและครอบครัว และสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 766 491

ต้องการแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับเอสบีเอส ไทย ส่งอีเมลมาหาเราได้ที่

Share