Explainer

วิกฤตไฟฟ้าออสฯ ‘ตัดไฟ-พักซื้อขายพลังงาน’ ทำไมมาถึงจุดนี้

วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่ทุเลา วิกฤตพลังงานก็เข้ามาท่ามกลางอากาศเย็น ล่าสุดโครงข่ายไฟฟ้ารับความต้องการไม่ไหวจนต้องตัดไฟเป็นหย่อม ๆ กลุ่มดำเนินการตลาดพลังงานเร่งสั่งพักซื้อขายไฟในตลาดกลางระดับชาติ อะไรที่ทำให้ค่าไฟกลายเป็นวิกฤตครั้งใหม่ที่พบได้ในข่าวรายวัน

ภาพเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และแผนที่ออสเตรเลียแบบกราฟิก

Source: SBS News

ถือเป็นครั้งแรกที่ตลาดพลังงานแห่งชาติของออสเตรเลียได้ถูกสั่งพักการซื้อขาย โดยกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดพลังงานระบุว่า

กลุ่มผู้ดำเนินการตลาดพลังงานออสเตรเลีย (AEMO) ระบุในบันทีกที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ว่าได้พักการซื้อขายในตลาดพลังงานไฟฟ้าซื้อขายทันที (electricity spot market) อย่างไม่มีกำหนดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย รัฐแทสเมเนีย และรัฐวิกตอเรีย



“สถานการณ์เมื่อไม่กี่วันนี้ได้สร้างความท้าทายทั่วทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน การพักการซื้อขายในตลาดจะลดความซับซ้อนของการดำเนินการต่าง ๆ ในช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยยะสำคัญ” แดเนียล เวสเทอร์แมน (Daniel Westerman) ประธานบริหารกลุ่มผู้ดำเนินการตลาดพลังงานออสเตรเลีย (AEMO) กล่าว

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการพักการซื้อขายในตลาดพลังงานระดับชาติโดยสมบูรณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1998 ทำให้กลุ่มผู้ดำเนินการตลาดพลังงานสามารถเข้าควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ดำเนินการตลาดพลังงานจะเป็นผู้ตั้งราคาพลังงานให้กับทุกเขตปกครองภายในตลาด

ในบรรดาสาเหตุหลักของวิกฤตในครั้งนี้ รวมถึงปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีสภาพเก่าทรุดโทรมเกิดการขัดข้อง ราคาแก๊ซที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และการใช้พลังงานที่สูงขึ้นในสภาพอากาศที่หนาวเย็นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือโรงกำเนิดไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งปกติจะจ่ายพลังงานสำรองเข้าสู่ระบบเมื่อกำลังส่งขาออกอยู่ในระดับต่ำ ถอนตัวออกจากตลาดหลัง AEMO ประกาศเพดานอัตราค่าไฟฟ้า (price cap) อยู่ที่ 300 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง

“นี่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย ที่ปฏิเสธการนำนโยบายสำรองพลังงานภายในประเทศมาปรับใช้” ซาแมนธา เฮปเบิร์น (Samantha Hepburn) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายพลังงาน จากมหาวิทยาลัยดีกิน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“มันเป็นเรื่องเหลวไหลที่เราไม่มีกลไกป้องกันสำหรับตลาดภายในประเทศให้สำรองพลังงานเอาไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้เราไม่ต้องซื้อคืนในราคาที่แพงกว่า 80 เท่า และเพื่อที่ผู้ค้าปลีกจะซื้อพลังงานได้ในความเป็นจริง และสามารถทำกำไรได้ในธุรกิจที่พวกเขาดำเนินการ”

อะไรที่จุดชนวนวิกฤต

ผศ.กิโยม โรเจอร์ (Guillaume Roger) จากสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า วิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดแคลนพลังงาน แต่เกิดจากการขาดแคลนศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ

“ในตอนนี้ เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตที่ตลาดกำลังพังทลายลง” ผศ.โรเจอร์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“มันไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนแหล่งพลังงาน แต่มันเป็นเพราะเราขาดศักยภาพไปประมาณ 2-3 กิกะวัตต์จากพลังงานถ่านหิน ซึ่งปกติแล้วเราจะมีตรงนี้ ถ้าประมาณแล้วก็ประมาณ 20-25% ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ทำงาน

เมื่อเกิดปัญหากับแหล่งพลังงานในลักษณะนี้ ตลาดพลังงานก็ต้องพึ่งพาผู้ผลิตไฟฟ้าในการนำพลังงานกลับมาสู่ตลาดเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ



เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) AEMO ได้กำหนดเพดานราคาไฟฟ้าขายส่งสำหรับรัฐควีนส์แลนด์ รัฐเซาท์ออสเตรเลีย รัฐวิกตอเรีย และรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่ $300 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์วัตต์ชั่วโมง

“เราไม่เห็นราคา $300 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงบ่อยมากนัก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ $70 ดอลลาร์ และเพดานราคาในตลาดคือ $15,000 ดอลลาร์” ผศ.โรเจอร์ กล่าว

“แตเรามีผู้กำเนิดไฟฟ้าที่ผลิตได้ที่ $400 ดอลลาร์ พวกเขาต้องได้รับการจ่าย $400 ดอลลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้า หากคุณจ่ายพวกเขา $300 พวกเขาก็เลือกที่จะไม่ผลิต”

หากผู้ผลิตไฟฟ้าปฏิเสธที่จะเสนอขาย AEMO สามารถใช้กลไกในการออกคำสั่งให้ผลิตไฟฟ้ากลับเข้ามาในระบบ จากนั้นผู้ผลิตไฟฟ้าจะสามารถเรียกค่าชดเชยได้ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

พักการซื้อขายในตลาดระดับชาติจะช่วยอะไร

ศาสตราจารย์เฮปเบิร์น กล่าวว่า การพักการซื้อขายในตลาดหมายความว่า AEMO กำลงพยายามวิเคราะห์ว่าจะยังคงกำหนดเพดานราคาค่าไฟฟ้าต่อไปหรือไม่

“จุดประสงค์ของการพักการซื้อขาย คือความพยายามในการวิเคราะห์ว่าจะปรับใช้ระเบียบพลังงานแห่งชาติ (National Electricity Rules) ในรูปแบบที่สมเหตุสมผลได้อย่างไร” ศาสตราจารย์เฮปเบิร์น กล่าว

“ในความเห็นของฉัน มันกำลังจะมีการปรับใช้ระเบียบฉุกเฉินในแง่ของการสำรองและการจ่ายพลังงงานอย่างจริงจัง”
คุณเวสเทอร์แมนจาก AEMO กล่าวว่า การพักการซื้อขายในตลาดเป็นมาตรการชั่วคราว และจะพิจารณาเป็นรายวัน เขากล่าวอีกว่าคำสั่งดังกล่าวจะยกเลิกเมื่อ AEMO มั่นใจว่าตลาดจะดำเนินการได้อย่างเหมาะสม

แล้วประชาชนควรกังวลไหม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โรเจอร์ กล่าวว่า เนื่องจากชาวออสเตรเลียส่วนมากมีสัญญาพลังงานที่จะเก็บค่าใช้พลังงานในอัตราคงที่ ผลกระทบต่อผ็บริโภคส่วนใหญ่นั้นจะมีน้อย

“พวกเขาจะแทบจะสังเกตไม่เห็นเลย เว้นแต่ว่ามีเหตุไฟดับ หากคุณพบเหตุไฟดับ มันคือหายนะสำหรับใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์โรเจอร์ กล่าว

ศาสตราจารย์ เดวิด เบิร์น (David Byrne) จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า แม้ราคาขายส่งพลังงานไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้น ผู้บริโภคจะสังเกตได้ถึงความแตกต่างเมื่อเวลาผ่านไป

“สิ่งใดก็ตามที่คุณซื้อและต้องมีการสร้างและการผลิต ทุกอย่างล้วนใช้ไฟฟ้า และเราไม่เคยคิดถึงมันเลย” ศาสตราจารย์เบิร์น กล่าว

“มันแค่อยู่ฉากหลัง และเราไม่ได้คิดถึงมันในฐานะของสิ่งที่ทำให้เรามีไฟสว่าง หรือในแง่ของสิ่งที่มีผลต่อราคาของทุกอย่างที่เราซื้อและบริโภค แต่คุณจะเห็นว่าสิ่งนั้นจะส่งผลมาถึงเมื่อเวลาผ่านไป”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

แฟร์เวิร์กขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.2% คาดเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยจ่อขึ้นอีก


Share
Published 16 June 2022 5:37pm
Updated 16 June 2022 6:24pm
By Emma Kellaway
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends