ประเด็นสำคัญ
- งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่าลูกจ้างที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทำงานเต็มเวลา มีเงินเหลือเพียง 57 ดอลลาร์ หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์แล้ว
- พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวกำลังมีเงินไม่พอราว 180 ดอลลาร์สำหรับจ่ายสิ่งจำเป็นต่าง ๆ
- แองกลิแคร์ (Anglicare) กล่าวว่าผู้คนในออสเตรเลียที่ประสบความยากลำบากกำลังหลั่งไหลไปรับความช่วยเหลือจากบริการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน
งานวิจัยใหม่โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแองกลิแคร์ ออสเตรเลีย (Anglicare Australia) พบว่าลูกจ้างทำงานเต็มเวลา ที่ได้ค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แทบไม่มีเงินเหลือหลังจ่ายค่าสิ่งจำเป็นต่าง ๆ แล้ว
การวิเคราะห์ของแองกลิแคร์แสดงให้เห็นว่า พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวกำลังมีเงินไม่พอราว 180 ดอลลาร์สำหรับจ่ายสิ่งที่จำเป็น
ลูกจ้างทำงานเต็มเวลาที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำมีเงินเหลือเพียง 57 ดอลลาร์ หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์แล้ว ในขณะที่ครอบครัวสมาชิก 4 คน ซึ่งมี 2 คนทำงานเต็มเวลาและได้ค่าแรงขั้นต่ำ มีเงินเหลือเพียง 73 ดอลลาร์ หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าบริการดูแลเด็ก และค่าเล่าเรียน
ซึ่งหมายความว่า พวกเขาอาจมีเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบริการโทรคมนาคม ค่าประกัน และค่าของใช้ในครัวเรือน ซึ่งมักจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส
ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดและเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือค่าเช่าบ้าน
ค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 โดยเฉลี่ยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2020 ตามข้อมูลของ SQM Research
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 อัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศจะอยู่ที่ 23.23 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงหรือ 882.80 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับการทำงาน 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หลังหักภาษีแล้วจะเท่ากับราว 762 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
การวิเคราะห์ของแองกลิแคร์ใช้ข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียล่าสุด โดยปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
“ตัวเลขเหล่านี้ยืนยันถึงสิ่งที่ชาวออสเตรเลียรู้อยู่แล้ว คือค่าครองชีพพุ่งพรวด ๆ สิ่งจำเป็น เช่น อาหารและค่าเดินทางกำลังพุ่งสูงขึ้น และที่อยู่อาศัยก็มีราคาแพงกว่าที่เคยเป็นมา” คุณเคซี แชมเบอส์ ผู้อำนวยการบริหารของแองกลิแคร์ ออสเตรเลีย กล่าว
“ค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ตั้งแต่ปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า”
แองกลิแคร์กล่าวว่า ค่าครองชีพที่พุ่งสูงส่งผลให้ผู้คนในออสเตรเลียที่ประสบความยากลำบากหลั่งไหลไปรับความช่วยเหลือจากบริการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งองค์กรเหล่านั้นเองก็กำลังประสบความกดดันอย่างหนักและและไม่สามารถช่วยเหลือทุกคนที่ลำบากได้
ผู้ให้บริการของแองกลิแคร์เองหลายรายรายงานว่า มีความต้องการรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงจากคนที่ทำงานและได้รับค่าจ้าง
“ผู้คนที่มีรายได้น้อยไม่ได้สร้างวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพในออสเตรเลีย พวกเขาไม่ควรถูกขอให้ต้องแบกรับความยากลำบากเพราะเรื่องนี้” คุณแชมเบอส์ กล่าว
ค่าพลังงานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมคาดว่าครัวเรือนต่าง ๆ จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 19.6-24.9 ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กเผชิญกับค่าพลังงานที่จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14.7-28.9
เพื่อรับมือกับการปรับขึ้นราคาพลังงานที่คาดไว้ รัฐบาลได้ระบุในร่างงบประมาณรัฐบาลเดือนพฤษภาคมจะใช้งบ 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาทุกข์เรื่องพลังงานให้แก่ประชาชนโดยตรง
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ค่าเดินทางในออสฯ ขึ้นไวกว่าเงินเฟ้อ จะทำอย่างไรให้ประหยัด