Explainer

ค่าเดินทางในออสฯ ขึ้นไวกว่าเงินเฟ้อ จะทำอย่างไรให้ประหยัด

รายงานล่าสุดชี้ว่า ราคาค่าเดินทางในออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ

A woman holding a fuel pump at a petrol station

Transport costs the average Australian household $59 a day, a figure that has risen at a faster rate than inflation. Source: AAP / Adam Davis

Key Points
  • การวิเคราะห์ล่าสุดชี้ว่า ครอบครัวในออสเตรเลียต้องจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยวันละ 59 ดอลลาร์
  • สินเชื่อรถยนต์ ประกันภัย และค่าบำรุงรักษา เป็นส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุด
  • ราคาค่าเดินทางเพิ่มขึ้นในอัตรา 7.4% ในไตรมาสเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นไวกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันในอัตราเพียง 1.4%
ครอบครัวในออสเตรเลียกำลังจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยวันละ 59 ดอลลาร์ ขณะที่การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการไปไหนมาไหนกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีความสามารถในการจ่ายเพื่อการเดินทาง (Transport Affordability Index) ของสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย (The Australian Automobile Association) แสดงให้เห็นว่า ราคาในการเดินทางนั้นเพิ่มสูงไวกว่าอัตราเงินเฟ้อ พบการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ ประกันภัย และการบำรุงรักษารถ

แต่ก็ยังมีส่วนที่ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนบางพื้นที่โล่งใจเล็กน้อย ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ลดลงพอสมควร รวมถึงค่าผ่านทางและค่าต่อทะเบียนรถที่ลดลงในบางรัฐและมณฑล

นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวยังได้ชี้วัดราคาอื่น ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงและเปลี่ยนยาง บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน รวมถึงค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ
การวิเคราะห์ของสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย เผยว่า ราคาค่าเดินทางสำหรับครอบครัวในออสเตรเลียโดยเฉลี่ย (จากการตั้งสมมุติฐานว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกันเป็นคู่ มีงานทำ และมีบุตร 2 คน และมีรถ 2 คัน) เพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 7.4 ในไตรมาสเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ของดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาเดียวกัน

การเดินทางในเมืองที่คุณอาศัยต้องจ่ายเท่าไหร่

การเดินทางในเมืองใหญ่ของออสเตรเลียมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 63.77 ดอลลาร์ต่อวัน ส่วนในพื้นที่ส่วนภูมิภาคจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางอยู่ที่ 53.60 ดอลลาร์ต่อวัน หากคำนวณในอัตรานี้ จะคิดเป็นค่าเดินทางต่อปี 23,213 ดอลลาร์สำหรับผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และ 19,510 ดอลลาร์สำหรับผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
A graph depicting transport costs per day in capital cities.
Source: SBS
นครซิดนีย์เป็นเมืองที่ค่าเดินทางแพงที่สุด (72.97 ดอลลาร์ต่อวัน) ตามด้วยนครเมลเบิร์น (71.82 ดอลลาร์ต่อวัน) และนครบริสเบน (71.50 ดอลลาร์ต่อวัน)

ทั้งนี้ รายงานได้พบว่านครบริสเบนมีอัตราเพิ่มขึ้นของค่าเดินทางมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.90 ดอลลาร์ต่อวัน

ส่วนเมืองใหญ่ที่มีค่าเดินทางเฉลี่ยถูกที่สุด ได้แก่ นครโฮบาร์ต (55.80 ดอลลาร์ต่อวัน) ซึ่งถูกกว่าพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีค่าเดินทางเฉลี่ยแพงที่สุดอย่าง อลิซ สปริงส์ (Alice Springs) ซึ่งมีค่าเดินทางเฉลี่ย 57.42 ดอลลาร์ต่อวัน
A graph depicting transport costs per day in regional areas.
Source: SBS
แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนในนครโฮบาร์ต ต้องแบ่งรายได้ให้กับการเดินทางในสัดส่วนที่มากกว่าใครโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 18.4 ส่วนประชาชนในกรุงแคนเบอร์ราแบ่งรายได้ให้กับการเดินทางในสัดส่วนน้อยที่สุดที่ร้อยละ 14.4

ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับประเทศของสัดส่วนรายได้ที่แบ่งให้กับการเดินทางอยู่ที่ร้อยละ 15.8

ทำไมค่าเดินทางจึงเพิ่มขึ้น

ค่าเดินทางเพิ่มสูงขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากผลกระทบของราคารถยนต์ที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในการชำระสินเชื่อรถยนต์ โดยในไตรมาสเดือนมีนาคม ค่าผ่อนรถโดยเฉลี่ยของครัวเรือนในออสเตรเลียทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น 26.19 ดอลลาร์ต่อวัน
A graph depicting typical household transport costs per day.
Source: SBS
ในค่าเดินทางเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้น พบว่าสินเชื่อรถยนต์เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44 ของราคาเฉลี่ยในการเดินทางต่อวัน รองลงมาคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 23.1 หรือเป็นราคา 13.65 ดอลลาร์ต่อวัน แม้ว่าราคาจะลดลงมาตั้งแต่ไตรมาสที่แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบว่า ราคาซ่อมบำรุงและเปลี่ยนยางรถยนต์เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ไมเคิล แบร็ดลีย์ (Michael Bradley) กรรมการผู้จัดการสมาคมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผลสะสมของต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาระหนักในช่วงเวลาที่ชาวออสเตรเลียรู้สึกถึงแรงกดดันด้านค่าครองชีพไปทั่วทุกส่วน”

“การเดินทางคือค่าใช้จ่ายที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับครัวเรือน และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของอัตราเงินเฟ้อ รัฐบาลทุกระดับต้องคำนึงถึงแรงกดดันด้านต้นทุนเหล่านี้เมื่อกำหนดนโยบาย”

จะประหยัดค่าเดินทางได้อย่างไร

ค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะในหลายเมืองจะถูกลงในช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน (off-peak hours)

คุณซาราห์ เมกกินสัน (Sarah Megginson) ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงินจากเว็บไซต์ฟายน์เดอร์ (Finder) กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า เธอแนะนำให้พิจารณาตัวเลือกการเดินทางอื่น ๆ เช่น จักรยานหรือรถจักรยานยนต์ เพื่อประหยัดเงิน

“หากคุณสามารถเปลี่ยนจาก 4 ล้อเป็น 2 ล้อได้ นั่นจะช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้มาก ข้อมูลจากฟายน์เดอร์แสดงให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์สามารถลดค่าน้ำมันของพวกเขาได้ประมาณ 75%” คุณเมกกินสันกล่าว

“ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือขี่จักรยาน หรือแม้กระทั่งการใช้รถร่วมกันหากคุณทำได้ ทางเลือกเหล่านี้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยให้คุณได้ประหยัดเงินได้อีกหน่อยด้วย”
แต่สำหรับคนเดินทางที่มีรถยนต์เป็นทางเลือกเดียว โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค คุณเมกกินสันแนะนำให้ผู้ขับขี่มองหาสถานีบริการน้ำมันที่ถูกที่สุดผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในรัฐที่แตกต่างกันไป

“เราทราบดีว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ วันที่ถูกที่สุดในการเติมน้ำมันคือวันอังคาร”

“เมื่อถึงวันศุกร์ ปกติแล้วราคาจะแพงที่สุดเพราะเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งผู้คนมักจะเตรียมตัวออกไปทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ และราคาก็พุ่งสูงขึ้น” คุณเมกกินสันกล่าว

นอกจากนี้ คุณเมกกินสันยังแนะนำให้มองหาข้อเสนอที่ดีกว่าสำหรับประกันภัยรถยนต์และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าผ่านทาง

มีรายงานเพิ่มเติมจากเอเอพี


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 6 June 2023 3:56pm
By Madeleine Wedesweiler
Source: SBS


Share this with family and friends