คนไทยต้องดิ้นรนแค่ไหนในวิกฤตเศรษฐกิจออสเตรเลีย

Australian dollars in Sydney

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยในออสเตรเลียทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ Source: AAP / AAP Image/Joel Carrett

รายงานพิเศษ เอสบีเอสไทยเจาะลึกสำรวจชุมชนไทยในออสเตรเลียว่าได้รับผลกระทบอย่างไรกับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงและพวกเขามีการปรับตัวอย่างไรต่อสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ พร้อมทั้งให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการเยียวยาของรัฐบาล


ชญาดา พาวเวลล์
เอสบีเอส ไทย

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก เมื่อผนวกกับปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกชุดมาตรการเยียวยาค่าครองชีพมูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยประชาชนในภาวะเงินเฟ้อ

จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย (ABS) ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และใช้เป็นเครื่องชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ พบว่าเมื่อต้นปี 2023 มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ซึ่งทำให้ตอนนี้ออสเตรเลียมีอัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ที่ร้อยละ 7

คุณ อัญชนา แอนเดอร์สัน อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ สถาบันโฮมส์ อธิบายเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อว่าเป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสาเหตุที่เกิดเงินเฟ้อก็เพราะว่ามีการเติบโตของอุปสงค์(Demand) มากกว่าอุปทาน (Supply) ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นต้นมา เธออธิบายว่า

"เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาเพราะว่าการเติบโตของอุปสงค์ (Demand) เร็วกว่าอุปทาน (Supply) มาจากช่วงโควิด รัฐบาลอัดฉีดเงินในประเทศเช่นโครงการ Jobseeker หรือ Jobkeeper อันนี้ก็ทำให้รายได้คนเพิ่มขึ้น"
New World Record for the Australian Economy
ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก Source: AAP
การที่คนมีเงินออมมากขึ้นในช่วงโควิด ก็ทำให้กระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ อ. อัญชณา อธิบายเพิ่มเติมว่า

"อีกอย่างหนึ่งคือช่วงโควิด คนออมเงินมากขึ้นเพราะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรายได้ อีกอย่างหนึ่งคือคนใช้เงินไม่ได้เพราะมาตรการปิดพรมแดนทั้งคนใช้เงินไปเที่ยวไม่ได้ พอเปิดประเทศ โควิดหาย เงินก็เลยมีเยอะ และนี่ก็เลยดันให้ Demand โตเร็วมากกว่า Supply มันก็เลยทำให้ (ราคาสินค้า) สูงขึ้น"
 
อ.อัญชณา ยังอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุที่รัฐบาลต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องว่าเป็นกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลกลางพยายามทำให้ Demand และ Supply มีความสมดุลกันและเมื่อสองปัจจัยนี้สมดุลกัน ภาวะเงินเฟ้อก็จะลดลงด้วย

"ที่รัฐบาลกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะชะลอการจับจ่ายใช้สอยทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจ มาตรการนี้มี 2 ช่องทางคือ เมื่อคิดดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น คนก็ฝากเงินเยอะขึ้น พอเงินฝากมากขึ้นการจับจ่ายก็น้อยลง อีกทางหนึ่งคือดอกเบี้อเงินกู้สูงขึ้น ทำให้คนไม่อยากกู้เงินออกมา ภาคธุรกิจกู้น้อยลง เพราะต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะเอาสองอย่างนี้มารวมกันมันก็เลยทำให้ผู้คนจับจ่ายน้อยลง พอ Demand ลดลงให้โตพอๆ กับ Supply ให้มันสมดุลกันก็ทำให้ราคาสินค้าทั่วไปชะลอตัวลงและดึงเงินเฟ้อให้ลงมาด้วย"

ผลกระทบภาวะเงินเฟ้อต่อครัวเรือน

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่งทำให้ราคาสินค่าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นมาก ภาคครัวเรือนก็ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณ จิ๊บ พยาบาลวิชาชีพและแม่บ้าน เปิดเผยว่า เมื่อราคาสินค่าแพงขึ้นก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากต้องยอมรับสภาพเพราะมันเป็นของจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันแต่ต้องเลือกสินค้าประเภทเดียวกันแต่มีราคาถูกกว่า เธอเล่าว่า

"สมมติว่าในปริมาณเงินเท่าเดิม ก็อาจซื้อของเข้าบ้านได้น้อยลง ต้องยอมรับในสภาพที่ของแพงขึ้น พวกอาหารสด ของที่ลูกต้องใช้ไปโรงเรียน มันจำเป็นต้องซื้อแต่เราอาจใช้ของที่ถูกลง"

 เช่นเดียวกับคุณจีน่า เจ้าของธุรกิจร้านนวด กล่าวว่าเธอต้องใช้เวลาพิจารณาและเลือกซื้อของมากขึ้นและเปรียบเทียบราคาระหว่างสินค้าประเภทเดียวกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

"ก็ระวังดูราคาเวลาซื้อของ ตรวจเชคให้มากขึ้น แต่ก่อนอยากได้อะไรก็หยิบแต่ตอนนี้ก็ดูว่ามีอะไรที่คล้ายๆกันไหม หาชอปปิงของที่คล้ายๆ กัน"
นอกจากการเลือกพิจารณาและเปรียบเทียบราคาสินค้าเพื่อให้ได้สินค้าที่ราคาถูกกว่าแล้ว การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก เช่น คุณ ทีน แม่เลี้ยงเดี่ยวในนครเมลเบิรน์ เธอเปิดเผยว่าเธอต้องเปลี่ยนที่ซื้อของประจำวันเพื่อให้ได้ของกินของใช้ที่ราคาถูกลง และเลือกที่ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ทั้งตนเองและลูกสาว เธออาศัยใช้เสื้อผ้าที่มีคนให้มาที่ยังสภาพดีแทน

"เราไม่สามารถซื้อของที่ Coles หรือ Woolworth ได้ตามปกติ ต้องเปลี่ยนที่ซื้อของเข้าบ้าน อย่างของกินก็เปลี่ยนไปซื้อที่ Aldi เราก็ไม่กล้าที่จะซื้อเสื้อผ้า เมื่อก่อนพอมีเงินบ้างเราก็อยากซื้อเสื้อผ้าให้ลูก แต่ตอนนี้ก็ตัดทิ้งไปเลย ถ้ามีใครให้สภาพดีเราก็เก็บมา รวมถึงก็ไม่ซื้อเสื้อผ้าของตัวเองด้วย"

ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลต่อผู้เช่าในออสเตรเลียอย่างไร

นอกเหนือจากผลกระทบจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องแบกรับ คุณ หวาน ผู้เช่าบ้านจากรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่าในสถานการณ์เช่นนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อผู้เช่าและไม่สามารถที่หาทางออกที่ดีกว่าที่เป็นได้เนื่องจากปัญหาเรื่องค่าเช่าแพงเกิดขึ้นทุกที่ เธอต้องหาทางตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เช่นการลดสั่งอาหารนอกบ้าน เป็นต้น

 "พอค่าบ้านขึ้นมันก็มีผลกระทบตามมาเยอะในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลายคนใช้วิธีย้ายไปที่อื่น แต่มันก็มีปัญหาเดียวกันหมด ค่าเช่าบ้านก็เพิ่มขึ้นทุกที่เหมือนกัน"

 "ปัญหาที่เผชิญมากที่สุดก็เป็นเรื่องค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นก็ต้องลดรายจ่ายด้านอื่นๆ เช่นเมื่อก่อนอาจสั่ง Uber Eats บ่อยๆ ตอนนี้ก็ลดลงมาเยอะ เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้น"
international students rental issues
ผู้เช่าและนักเรียนต่างชาติต่างได้รับผลกระทบจากปัยหาราคาค่าเช่าบ้านที่สูงขึ้นเรื่อยๆ Source: Getty / Getty Images

ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจของชุมชนไทย

ส่วนภาคธุรกิจร้านค้าต่างก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น คุณ เบส นักธุรกิจหน้าใหม่ที่เพิ่งย้ายจากนครซิดนีย์มาตั้งธุรกิจที่นครเมลเบิร์นเปิดเผยว่าผลกระทบด้านค่าครองชีพนอกจากจะกระทบเรื่องส่วนตัวเพราะค่าใช้จ่ายในการย้ายเมือง ความกังวลนี้ทำให้เขาอาจจะทุ่มเรื่องธุรกิจได้ไม่เต็มร้อยอย่างที่ตั้งใจ คุณ เบส เปิดเผยว่า
 
"สำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่ หนึ่งคือเป็นเรื่องของการตั้งราคา เพราะมีการ swing ของราคาต้นทุนของ supplier เยอะ แล้วการตั้งราคาก็ยากตามไปด้วย ซี่งรวมไปถึงค่าแรงของพนักงานเราก็ต้องเอามาคิดเป็น labour cost เรื่องที่สองคือผมย้ายเมืองมามันก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มันก็มีเรื่องให้ห่วงทาง personal เยอะ เราก็จะให้ business ได้ไม่เต็มร้อย"
 
สำหรับ คุณ ต่อ นักธุรกิจร้านอาหารไทยชื่อดังในนครเมลเบิร์นกล่าวว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้นก็ทำให้เขาต้องปรับตัวโดยการที่ลดต้นทุน ขั้นตอนการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเวลาทำงานของพนักงงานเพื่อที่ช่วยลดต้นทุนเพราะไม่สามารถขึ้นราคาอาหารในร้านได้มากกว่านี้เพราะลูกค้าก็จะหันไปหาอะไรที่พวกเขาสามารถจับจ่ายได้สบายใจมากกว่า เขาชี้ว่า
 
"ถ้าจะขึ้นราคาก็ลำบาก ขึ้นได้ไม่เยอะ ซึ่งลูกค้าก็ต้อง effect อยู่แล้วแต่ถ้าเราขึ้นเยอะเกินไป ลุกค้าเค้าก็จะเลือกอะไรที่ถูกกว่า ทางร้านอาจจะลดขั้นตอนการผลิต ตัดส่วนนี้ออกเพื่อลดต้นทุน หรือว่ามีการขยับขยายเวลาทำงานของพนักงานเรื่องของเวลาเข้างาน มันก็ช่วยได้บางส่วน"

ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

 นอกจากผลกระทบเรื่องราคาสินค้าแล้ว ปัญหาเรื่องราคาพลังงานก็ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและหาทางปรับตัวกับเรื่องนี้ด้วย ศูนย์วิจัยการเคหะแห่งออสเตรเลีย (Australian Centre for Housing Research) จากมหาวิทยาลัยอะดิเลด (University of Adelaide) ทำการศึกษาว่าประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเช่าทั้งหมด ประสบปัญหาเรื่องการทำความร้อนในฤดูหนาว และมากกว่าหนึ่งในสี่ของบ้านเช่ามีปัญหาเรื่องเชื้อรา

คุณ จีน่า เปิดเผยว่า เธอต้องหาวิธีประหยัดพลังงานในร้านนวดของเธอที่ปกติต้องมีการเปิดเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความร้อนเพื่อให้บริการลูกค้า เธอต้องหาวิธีประหยัดต้นทุนในเรื่องพลังงานโดยการใช้เครื่องทำความร้อนไฟฟ้าเปิดสลับกับก๊าซ เธอแบ่งปันวิธีประหยัดพลังงานของเธอว่า

"พี่มาค้นพบว่าเรามาใช้ไฟฟ้าร่วมด้วย มันถูกกว่า ในอดีตก๊าซอาจถูกกว่าแต่การใช้ก๊าซมันมีการหุงต้ม การใช้น้ำร้อนอะไรด้วย ตอนนี้ก็เลยเปิด (ก๊าซ) แค่ครึ่งหนึ่งของที่เคยใช้ แล้วก็มาใช้ไฟฟ้าร่วมเข้าไปด้วย"
ALCbudget2023 BUDGET23 PRINTING
เอกสารร่างงบประมาณปี 2023-2024 ได้ถูกจัดส่งไปที่รัฐสภา กรุงแคนเบอรา ในวันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม 2023 Source: AAP / MICK TSIKAS/AAPIMAGE

ใครได้รับประโยชน์จากมาตรการเยียวยาค่าครองชีพ

 มาตรการชุดเยียวยาค่าครองชีพของรัฐบาลสหพันธรัฐที่แถลงไปเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (9 พ.ค.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย จิม ชาลเมอร์ เสนอชุดมาตรการมูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ผู้คนในออสเตรเลียเอาชนะความยากลำบากที่พวกเขากำลังประสบอยู่เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมระบุว่าสิ่งนี้จะให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าพลังงานไฟฟ้า การเพิ่มค่าแรง สนับสนุนประชาชนในกลุ่มเปราะบาง สร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาเอื้อมถึงได้ และลดค่าใช้จ่ายจากเงินในกระเป๋าของประชาชนสำหรับค่ารักษาพยาบาล ช่วยเหลือคนทำงานและนักเรียน โดยประชาชนที่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในโครงการ เช่น
  • JobSeeker
  • Youth Allowance
  • The Partnered Parents Payment
  • Austudy
  • ABSTUDY
  • The Youth Disability Support Pension
  • The Special Benefit Payment
จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 20 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 2.86 ดอลลาร์ต่อวัน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้

ความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว

ส่วน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังประสบความเดือดร้อนทางการเงินจะได้รับความช่วยเหลือบางส่วน รัฐบาลได้ขยายเวลาจ่ายเงินสนับสนุนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวไปจนกว่าบุตรจะมีอายุคครบ 14 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 8 ปี

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ราว 57,000 คนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือต่อไปอีก 8 ปีในอัตราที่สูงกว่าเงินสนับสนุนผู้หางาน (Jobseeker payment) เพิ่มขึ้น 176.90 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์

คุณ ทีน แม่เลี้ยงเดี่ยวกล่าวว่าจำนวนเงินความช่วยเหลือที่ดูว่าเพิ่มขึ้นนั้น ความเป็นจริงแล้วมันเป็นจำนวนเงินแค่พอประทังชีวิต ถ้าเธอต้องการสิ่งเพิ่มเติมจากการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานธอจำเป็นต้องออกไปหางานทำ เธอเปิดเผยว่า

"เงิน (ช่วยเหลือจากรัฐฯ) มันเหมือนเพิ่มขึ้นนะ แต่มันออกต้องหักออกไปจากค่ากินอยู่ มันพอแค่ค่ากินแต่ถ้าจะใช้ชีวิตแบบรีแลกซ์ ไปเที่ยวหรืออะไรแบบนี้เราก็ต้องไปหาเพิ่ม"

 คุณทีนเล่าว่าการออกไปทำงานในตอนที่ลูกยังเล็กเพื่อหารายได้เพิ่มเติมเป็นสิ่งที่ลำบากทั้งตัวเธอและลูก เพราะถ้าเธอหรือลูกป่วย แล้วเธอไม่สามารถไปทำงานได้ นั้นหมายถึงแผนการเงินจะกระทบไปด้วย เธอเล่าว่า
ที่ผ่านมามันคือยากตรงนี้มาก เราอยากให้ลูกได้รับการศึกษา เราก็ต้องออกไปเรียนไปทำงาน ซึ่งด้วยความที่เราเลี้ยงเดี่ยว มันก็เหมือนเราห้ามป่วยทั้งคู่ ไม่งั้นแผนการเงินมันจะกระทบไปหมด ถ้าลูกป่วยหรือแม่ป่วยเราก็ต้องอยู่บ้าน ถ้าเราอยู่บ้านก็คือรายได้ก็ต้องหายไป แล้วตรงนี้มันช่วยประทังชีวิต

ข้อเสนอแนะของคนในชุมชนไทยต่อมาตรการชุดเยียวยาค่าครองชีพ

คุณ ทีนชี้ว่าถ้ารัฐบาลสามารถจัดหาหรือช่วยเรื่องดูแลเด็กเช่นขยายเวลา หรือขยายช่วงอายุเด็กที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในโครงการ childcare free มันจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ถูกจุดยิ่งขึ้น เธอเปิดเผยว่า

"ส่วนตัวคิดว่าถ้าได้ childcare free กับเงิน gap ตรงนี้มันอาจสมเหตุสมผล แต่พอดีลูกสาวไม่ทัน childcare free ซึ่งทำให้เราต้องทำงานหาเงินมาส่ง childcare ได้มาน้อยได้มามาก เราก็พยายามส่งให้ลูกได้ไปเรียน คิดว่าถ้ามีความช่วยเหลือในการดูแลเด็กแล้วเราสามารถออกไปทำงานได้ตั้งแต่เช้าถึง 6 โมงเย็น มันก็ช่วยได้มากกว่าที่คิด"
ด้าน อ. อัญชณา แอนเดอร์สัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนของรัฐบาลพรรคแรงงานว่า หากเป็นการช่วยเหลือแบบจ่ายครั้งเดียว หรือ one off payment นั้นอาจเป็นการแก้ไขปัญหาแบบชั่วคราวแต่หากใช้ยุทธวิธีเพิ่มค่าแรงงานให้สมดุลกับอัตราเงินเฟ้อ จะทำให้คนสามารถมีกำลังจับจ่ายสูงขึ้นและสามารถบรรเทาภาวะเงินเฟ้อได้ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้มาตรการนี้เพราะหากค่าแรงสูงเกินไปก็จะเป็นการไปกระตุ้นเงินเฟ้อได้ เธอชี้ว่า

"มาตรการเหล่านี้ถ้าเป็นมาตรการ one off payment อาจช่วยได้แค่ครั้งคราว อย่างเช่นที่วิกตอเรีย จะมี power saving bonus ถ้าเราผ่าน criteria เราก็จะได้ $250 ต่อครัวเรือนเพื่อมาลดค่าใช้จ่าย อันนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือแบบ แบบ one off payment มันช่วยประคองภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้นและชั่วครั้งชั่วคราว"

"แต่ถ้ารัฐบาลช่วย long term เช่นขึ้นค่าแรงให้ลูกจ้าง เอาค่าแรงที่สูงขึ้นไปประคับประคองค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าค่าแรงที่ขึ้นนั้นพอไหม ถ้าสูงเกินไปก็ไม่ดีเพราะมันจะไปกระตุ้นเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมันต้องปรับให้ balance กัน"

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share